Finanace

ไม่มีใครสามารถขจัดความเสี่ยงได้อย่างสมบูรณ์ แต่เราสามารถเตรียมพร้อมด้านการเงินเพื่อเอาชนะความเสี่ยงได้ ด้วยแนวทางเหล่านี้

Text : เจษฎา ปุรินทวรกุล   




Main Idea
 
  • แม้จะมีมาตรการมากมายที่ออกมาช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 แต่ก็ทำได้เพียงการบรรเทา หลายธุรกิจยังคงเดือดร้อนอย่างหนัก
 
  • เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาซ้ำเดิม ลองปฏิบัติตามแนวทางการเตรียมความพร้อมเหล่านี้ดู เพื่อลดความเสี่ยงทางการเงินในภาวะวิกฤตไปพร้อมๆ กัน  
 
 


     มีมาตรการมากมายที่ออกมาช่วยเหลือผู้ประกอบการให้ตั้งหลักเพื่อรับมือกับผลกระทบจากเจ้าเชื้อไวรัสโควิด ที่ส่งผลให้ยอดหาย กำไรหดกันไปถ้วนหน้า ซึ่งวิกฤติการณ์ในครั้งนี้ได้แสดงให้เห็นถึงความสำคัญในการเตรียมความพร้อมรับมือด้านการบริหารจัดการทางการเงินอย่างเห็นได้ชัด ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจยักษ์ใหญ่ รายย่อย พนักงานเงินเดือน ประชาชนที่หาเช้ากินค่ำ ต่างได้รับผลกระทบกันทุกคน ดังนั้น เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาซ้ำเดิม ลองพิจารณาแนวทางการเตรียมความพร้อมเพื่อลดความเสี่ยงทางการเงินในภาวะวิกฤตไปพร้อมๆ กัน โดยเริ่มจาก


     1. ลด และปลดหนี้

         หนี้ในรูปแบบของบัตรเครดิต และเงินกู้ มีดอกเบี้ยที่โตขึ้นเรื่อยๆ ทำให้เราชำระเงินคืนให้ครบวงเงินช้าลง หรือดอกเบี้ยเหล่านั้นอาจมาเบียดเบียนเงินเดือนที่เราควรจะได้รับให้ลดน้อยลงไปจำนวนหนึ่ง การลดหรือปลดหนี้ ฟังดูอาจเหมือนง่าย แต่ในความเป็นจริงแล้ว ย่อมไม่ง่ายแน่นอน ทั้งนี้ หากเรามีหนี้ พยายามวิเคราะห์ว่าควรปลดหนี้อะไรก่อน โดยเน้นหนี้ที่มีดอกเบี้ยสูงที่สุดก่อน เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการบริหารจัดการธุรกิจมากที่สุด เมื่อไม่มีหนี้สินแล้ว จะช่วยให้เรามีเงินเก็บ สามารถออมเงินเพื่อพร้อมต่อการลงทุน และรับมือกับวิกฤติการณ์ต่างๆ ได้ดีกว่าเดิม


     2. หารายได้เสริม

         การเพิ่มรายได้ หรือพูดให้สวยๆ ว่า Second Job เพื่อเพิ่มความสามารถในการชำระหนี้ เป็นทางแก้ปัญหาที่รวดเร็วที่สุด แนวทางการเริ่มต้น อาจพิจารณาจากธุรกิจที่เราสามารถทำได้ในวันหยุด เสาร์ อาทิตย์ หรือวันหยุดสุดสัปดาห์ หรือช่วงเย็น เพื่อหารายได้เสริม สำหรับใครที่ยังไม่รู้ว่าควรเริ่มจากอะไร ลองนั่งปรึกษาคนใกล้ชิดดูว่าด้วยความรู้ ความชำนาญ เราสามารถทำอะไรได้บ้าง จากนั้นทำวิจัยตลาดโดยสอบถามความต้องการผลิตภัณฑ์จากกลุ่มเป้าหมายในตลาด หรือบนโลกออนไลน์ เช่น ถ้ามีผลิตภัณฑ์ A ราคา B ขนาดและน้ำหนัก C กลุ่มเป้าหมายจะซื้อหรือไม่ และใครเป็นกลุ่มเป้าหมายหลัก ควรวางขายที่ใด เป็นต้น


     3. เงินสำรอง เงินออม หรือเงินฉุกเฉิน

         แนวคิดสำหรับเรื่องนี้เรียบง่ายมากๆ ไม่ว่าจะเป็นการทำธุรกิจหรือบุคคลทั่วไป หากเราขาดรายได้หรือตกงานแล้วมีเงินที่สามารถเลี้ยงตัวเองได้ 6-12 เดือน ย่อมทำให้เราสบายใจในระดับหนึ่ง มีเวลาปรับแผนธุรกิจ ต่อลมหายใจ หรือมีเวลาหางานใหม่โดยที่ไม่ต้องเดือดร้อนกู้หนี้ยืมสินให้ลำบาก ดังนั้น เราควรรีบตั้งเป้าหมายในการออมเงินเพื่อรับมือกับภาวะวิกฤติเอาไว้เป็นดีที่สุด


     4. กระจายความเสี่ยง และกระจายการลงทุน

         การเก็บเงินฉุกเฉินที่จะช่วยพยุงธุรกิจในภาวะวิกฤตเอาไว้ในธนาคารเป็นความคิดที่ดี แต่ก็ไม่ทั้งหมดซะทีเดียว เพราะแม้ว่าเราจะสามารถเข้าถึงเงินสดได้ตลอดเวลา แต่ถ้ามองในเรื่องดอกเบี้ยที่จะได้แล้วก็ต้องบอกว่าไม่คุ้มเอาซะเลย สำหรับใครที่เน้น Play Safe ธนาคารย่อมเป็นคำตอบที่ดีที่สุด ส่วนใครที่ชอบกระจายความเสี่ยงและคิดเรื่องการลงทุน อาจหันไปลงทุนกับหุ้นหรือพันธบัตรที่มีความเสี่ยงน้อย หรือซื้อสลากออมสินส่วนหนึ่ง ก็ได้เช่นกัน ไม่มีคำตอบที่ถูกต้องว่าควรให้น้ำหนักระหว่างกองทุน ธนาคาร หุ้น พันธบัตรที่เท่าไหร่ ขึ้นอยู่กับว่าเราจะบริหารจัดการเองอย่างไรมากกว่า
              
        ไม่มีใครสามารถขจัดความเสี่ยงได้อย่างสมบูรณ์ แต่เราสามารถเตรียมพร้อมด้านการเงินเพื่อเอาชนะความเสี่ยงเหล่านั้นได้




www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup