Finanace

ถอดบทเรียนการเงินจากซีรีส์ Start-up ปรับใช้กับธุรกิจจริง

นเรศ เหล่าพรรณราย




Main Idea
 
  • กระแสซีรีส์เกาหลีเรื่อง Start-Up ที่ฮิตติดลมบนด้วยปมดราม่าดูสนุกแล้ว ยังแฝงข้อคิดต่างๆ โดยเฉพาะด้านการเงินและการระดมทุนที่น่าจะเป็นประโยชน์กับผู้ประกอบการ Startup จริง
 


     สำหรับผู้ที่เป็นคอซีรีส์เกาหลีนาทีนี้คงไม่พลาดที่จะชมเรื่องราวของ Start-Up ซึ่งเป็นละครที่อ้างอิงมาจากชีวิตจริงของผู้ที่อยู่ในวงการ Startup เรียกได้ว่าผู้เขียนบทนำโลกแห่งความเป็นจริงมาถ่ายทอดได้อย่างสมจริงทีเดียว

 
     นอกจากเรื่องราวดราม่าที่เกิดขึ้นแล้ว สำหรับผู้ประกอบการ Startup จริงๆ น่าจะได้ข้อคิดต่างๆ จาการชมซีรีส์เรื่องนี้อยู่ไม่มากก็น้อยทีเดียวโดยเฉพาะแง่มุมทางด้านการเงินและการระดมทุนที่ได้ถูกถ่ายทอดไว้ในเรื่อง
 




     ตัวอย่างเช่นประเด็นของ Term Sheet หรือว่าเอกสารที่ระบุถึงเงื่อนไขทางธุรกิจ เป็นข้อตกลงที่ทำขึ้นระหว่างผู้ลงทุนกับเจ้าของ startup ในการที่จะเข้ามาร่วมลงทุนในกิจการ เช่น ข้อตกลงในการใส่เงินเพิ่มทุน ข้อตกเรื่องในเรื่องของบทบาทหน้าที่ในกิจการ ข้อตกลงในเรื่องของการเจรจาของเพิ่มทุนในครั้งต่อไป
 

     Term Sheet ถือเป็นเอกสารที่บ่งบอกว่าทั้งสองฝ่ายคือผู้ลงทุนและเจ้าของ startup พร้อมยินยอมที่จะเจรจาในการมีข้อผูกมัดทางกฎหมายระหว่างกัน อาจจะเริม่ต้นจากฉบับร่างอย่างไม่เป็นทางการไปก่อน เมื่อตกลงกันได้แล้วถึงจะเริ่มต้นเจรจาและลงลายเซ็นต์อย่างเป็นทางการ
 




     ในซีรีส์ยังได้มีการพูดถึงประเภทของนักลงทุนที่จะลงทุนใน startup โดยเริ่มจาก Angel Investor ซึ่งถือเป็นนักลงทุนกลุ่มแรกที่ร่วมลงทุนในStartupส่วนใหญ่จะเป็นนักลงทุนบุคคลทั่วไปหรือองค์กรที่จัดสรรเงินบางส่วนมาให้กับ Startup ในกลุ่มที่เพิ่งเริ่มต้น
 

     เมื่อ Startup นั้นเติบโตขึ้น Angel Investor ก็จะหาทางที่จะทำกำไรจากการขายหุ้นออกไปโดยมีผู้ที่รับช่วงต่อก็คือ VC หรือ Venture Capital ซึ่งเป็นผู้ลงทุนที่มีเม็ดเงินลงทุนมากขึ้นพร้อมที่จะลงทุนใน startup ที่มีขนาดใหญ่มากขึ้น โดยส่วนมาก VC จะเริ่มเข้ามาลงทุนในการระดมทุนตั้งแต่ Series A เป็นต้นไปซึ่งถือเป็นสเตจที่อยู่เหนือขึ้นมาจากระดับ Angel Investor หรือที่เรียกว่า Seed Funding
 




     จะสังเกตได้ว่าภายในซีรีส์จะมีการกล่าวถึงความพยายามในการระดมทุนของ Startup อยู่เยอะพอสมควร ตั้งแต่การเข้าร่วมโครงการ Hackathon, Accelorator ตลอดจนการขึ้น Pitching ในเวทีประกวดต่างๆ สะท้อนว่าการทำธุรกิจ Startup นอกเหนือจากการมุ่งเน้นที่จะสร้างโมเดลธุรกิจที่แข็งแกร่งหรือสร้างเทคโนโลยีที่ล้ำสมัย การมุ่งหาแหล่งเงินทุนยังถือเป็นหนึ่งภารกิจที่สำคัญอีกด้วย
 

     จะเรียกว่าได้ทุกสิ่งที่ผู้ร่วมก่อตั้งทำนั้นมีจุดประสงค์หลักเพื่อที่จะได้รับแหล่งเงินทุนจาก VC ในระดับที่สูงขึ้น ซึ่งอาจจะสำคัญกว่าการที่จะสร้างรายได้จากธุรกิจหลักให้สามารถเลี่ยงตัวเองได้ด้วยซ้ำ นี่จึงเป็นสาเหตุที่ Startup ส่วนใหญ่ไม่สามารถที่จะทำกำไรได้ด้วยตัวเองแต่หวังพึ่งพาเงินทุนจากนักลงทุนในแต่ละระดับมากกว่า
 

     แนวคิดนี้ไม่ใช่เรื่องที่ผิดแปลกเพราะธรรมชาติของ Startup คือการเกิดขึ้นมาเพื่อใช้เงินทุนมา Leverage กิจการให้เติบโตอย่างรวดเร็ว จึงทำให้บางครั้งคนส่วนใหญ่มองคุณค่าของสตาร์ทอัพอยู่ที่รอบการระดมทุนเช่น Series A ไป B ไป C จนถึงขั้น Pre IPO
 

     แต่แท้จริงแล้วคุณค่าของ Startup อาจจะอยู่ที่การพึ่งพาเงินทุนของตัวเองซึ่งได้มาจากผลกำไรที่แท้จริงของบริษัทก็ได้เช่นกัน และอาจจะเป็นมาตรฐานใหม่ของสตาร์ทอัพทั่วโลกหลังจากนี้เป็นต้นไป เพราะนี่คือแผนการเงินที่มีความยั่งยืนอย่างแท้จริง

 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup