Finanace

รู้จัก 5 วิธีการระดมทุนช่วย Startup ขยับสู่การเป็นยูนิคอร์นได้ไวขึ้น

นเรศ เหล่าพรรณราย





    การได้ชื่อว่าเป็น Startup ระดับยูนิคอร์นจะต้องมีมูลค่ากิจการหรือมาร์เกตแคปตั้งแต่ระดับ 1,000 ล้านดอลลาร์ หรือ 32,000 ล้านบาท ขึ้นไป โดยวิธีการระดมทุนหรือตีมูลค่าเพื่อให้กิจการแตะระดับดังกล่าวมีอยู่ด้วยกันหลายวิธีดังนี้
 

     1. ระดมทุนจากกองทุนวีซีหรือนักลงทุนสถาบัน


     เป็นวิธีการแบบดั้งเดิมของธุรกิจ Startup โดยเริ่มต้นระดมทุนมาตั้งแต่ระดับ Seed Stage จนกระทั่งสู่ระดับ Series A B C ในที่สุดโดยระดับขั้นของการ Raise Fund อาจจะไปถึงระดับ Series F ซึ่งมูลค่าของกิจการจะเพิ่มขึ้นตามมูลค่าการระดมทุนของวีซีหรือนักลงทุนสถาบันที่เม็ดเงินมากขึ้น มูลค่ากิจการก็จะสูงขึ้นจนแตะระดับ 1,000 ล้านดอลลาร์ในที่สุด
 




     2. ระดมทุนด้วยการ M&A
 

     หรือจะเรียกว่าการควบรวมกิจการหรือถูกซื้อกิจการก็ได้ โดยส่วนใหญ่ Startup จะเป็นผู้ถูกกิจการขนาดใหญ่เข้าซื้อกิจการเพื่อเป็นถูกนำไปเป็นส่วนหนึ่งของ Corporate หรืออีกรูปแบบหนึ่งคือ Startup ควบรวมกิจการเข้าด้วยกันเองในสัดส่วนครึ่งต่อครึ่ง หากมูลค่าการซื้อกิจการของสองฝ่ายรวมกันถึงระดับพันล้านดอลลาร์ Startup ที่เกิดจากการทำ M&A นั้นก็จะสามารถเรียกว่ายูนิคอร์นได้เช่นกัน
 

     3. ระดมทุนจากการไอพีโอเข้าตลาดหลักทรัพย์
 

     เป็นวิธีการแบบ Traditional Finance โดย Startup นั้นๆ จะต้องมีมาตราฐานทางบัญชีและทุนจดทะเบียนครบตามที่ตลาดหลักทรัพย์ต้องการไม่ว่าจะเป็นตลาดสำหรับธุรกิจ Startup โดยเฉพาะหรือตลาดใหญ่ที่เป็นศูนย์การซื้อขายของกิจการขนาดใหญ่ โดยมูลค่าการเสนอขายหุ้นให้กับประชาชนทั่วไปหรือนักลงทุนวงจำกัดหากนับรวมกันแล้วเกิน 1,000 ล้านดอลลาร์ ก็สามารถเข้าข่ายการเป็นยูนิคอร์นได้เช่นกัน
 




     4. ระดมทุนจากการทำ ICO
 

     เป็นแนวทางใหม่ที่เกิดขึ้นในช่วงปี 2017-2018 โดยวิธีการเสนอขายเหรียญ ICO (Initial Coin Offering) โดยผู้ถือเหรียญจะไม่ได้เป็นเจ้าของหุ้นสามัญของกิจการนั้นๆ แต่มีส่วนร่วมในการเพิ่มทุนจดทะเบียนให้กับ Startup และได้รับสิทธิต่างๆ ในรูปแบบของ Utility เช่น สิทธิการได้ใช้สินค้าและบริการ
 

     ล่าสุดยังมีรูปแบบการระดมทุนที่ผู้ลงทุนสามารถเป็นเจ้าของหุ้นสามัญในกิจการของStartupได้ด้วยการเสนอขายแบบ STO (Securities Token Offering) แต่ยังจำกัดอยู่ในบางประเทศเท่านั้น
 




     5. ถือครองสินทรัพย์ดิจิทัล
 

     ปัจจุบัน Startup หรือคอร์ปอเรทต่างๆ หันมาถือครองสินทรัพย์ในรูปแบบอื่นๆ นอกเหนือจากเงินสดเช่นกันโดยเฉพาะบิทคอยน์ (Bitcoin) ที่เป็นสินทรัพย์ซึ่งสร้างผลตอบแทนได้สูงในช่วงปีสองปีที่ผ่านมา ทั้งนี้หากมูลค่าของสินทรัพย์ดิจิทัลที่ถือครองรวมกันมากกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์ ก็อาจจะสามารถเรียกได้ว่าเป็นยูนิคอร์นเช่นกัน
 

     รวมถึง Startup ผู้พัฒนาสกุลเงินดิจิทัลใหม่ๆ หรือสร้าง DeFi Protocol ต่างๆ ที่มีการเก็บสินทรัพย์ดิจิทัลไว้ในกิจการของตัวเองก็อาจจะเรียกได้ว่ามีมูลค่าแตะพันล้านดอลลาร์ได้เหมือนกัน
 

     แม้การวัดมูลค่ากิจการสองแบบหลังอาจจะยังไม่เป็นที่ยอมรับจากบางกลุ่ม แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่ามูลค่ากิจการของ Startup เริ่มที่จะมีดัชนีชี้วัดแบบใหม่เกิดขึ้นทุกวัน เจ้าของกิจการStartupน่าจะต้องทำความเข้าใจในกลไกใหม่ๆ เหล่านี้เอาไว้


www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup