Finanace

​กลยุทธ์การจัดการเงิน เมื่อคิดจะทำธุรกิจ

 


เรื่อง รัชนี พันธุ์รุ่งจิตติ

    ใครต่อใครต่างบอกว่า SME คือเฟืองซี่เล็กๆ ที่ช่วยหมุนให้เศรษฐกิจของประเทศเติบโต แต่ผู้ที่คิดจะตั้งหลักกับการเป็น SME กลับต้องเจอปัญหาสารพัด โอกาสที่จะอยู่ตลอดรอดฝั่งมีไม่มากนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งด่านทดสอบด่านแรกของ SME คือ “เงินทุน” ทั้งการเข้าถึงแหล่งเงินทุนยากเพราะมีปัญหาหลักทรัพย์ค้ำประกัน และขณะดำเนินธุรกิจอาจต้องเจอปัญหาขาดสภาพคล่องอีก

     เมื่อเหลียวมองธนาคารพาณิชย์ก็มีเพียงไม่กี่แห่งที่สนใจเปิดบริการสินเชื่อสำหรับผู้ประกอบการ SME ที่เพิ่งเริ่มต้นทำธุรกิจ อย่างธนาคารกสิกรไทย มี สินเชื่อตั้งต้นธุรกิจ ซึ่งเป็นสินเชื่อที่มาเป็นแพ็ก สนับสนุนทั้งความรู้และเงินทุน

    ทั้งนี้ พัชร สมะลาภา รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า จากการเข้ามาคลุกคลีกับผู้ประกอบการที่เพิ่งเริ่มต้นทำธุรกิจ หรือมีความคิดจะทำธุรกิจนั้น คนกลุ่มนี้มีความต้องการทั้งในด้าน “เงินทุน” และ “ความรู้” มากที่สุด แต่โอกาสที่จะได้หรือมีทั้งสองสิ่งกลับน้อยสุด ฉะนั้นจึงพยายามเพิ่มความรู้ให้มากที่สุด

    “เท่าที่พบปัญหาของ SME ที่เพิ่งเริ่มต้นทำธุรกิจ 70 เปอร์เซ็นต์มาจากความไม่พร้อม ไม่มีการวางแผนล่วงหน้า มีการเตรียมตัวเพื่อทำธุรกิจน้อยมาก ดังนั้น เมื่อทำจริงๆ จึงเป็นสไตล์ลูกทุ่ง ว่าไปตามน้ำอย่างเดียว ซึ่งในที่สุดก็ทำให้มีปัญหาและไปไม่รอด ง่ายๆ เราให้เงินไป เห็นชัดเลยว่าวิธีการใช้โดยเปล่าประโยชน์เยอะมาก อย่างเช่น น้องคนหนึ่งสั่งแพ็กเกจจิ้งครั้งละ 2 พันกว่าชิ้น แต่วันหนึ่งขายของได้แค่วันละ 100 ชิ้น เป็นต้น”

    ดังนั้น ปัญหาของผู้ประกอบการ SME ที่เพิ่งเริ่มต้นทำธุรกิจ ในบางครั้งไม่เกี่ยวกับเงินทุน แต่มาจากประการแรก ไม่มีการวางแผนล่วงหน้า ประการที่สอง ไม่ชัดเจนว่าตัวเองเก่งหรือถนัดเรื่องอะไร แต่ถ้ารู้ว่าตัวเองถนัดเรื่องอะไร ต้องหาคนมาช่วยในสิ่งที่ตัวเองไม่ถนัด 

    อย่างไรก็ตาม ในแง่ทุนตั้งต้นสำหรับการทำธุรกิจ อันที่จริง พัชรแนะนำว่า ถ้าเป็นไปได้ควรเริ่มต้นจากเงินทุนของตนเอง เป็นเวลา 2 ปี แล้วเดินบัญชีให้ชัดเจนว่ามีรายได้เท่าไหร่ รายจ่ายเท่าไหร่ จากนั้นจึงค่อยมาขอสินเชื่อจากสถาบันการเงิน ที่สำคัญอย่านำเงินไปซื้ออะไรที่เป็นก้อนใหญ่มากๆ ซึ่งปัญหาหนึ่งที่ทำให้ SME มีปัญหาทางการเงินคือ ส่วนใหญ่คิดว่าเงินที่ใช้หมุนเวียนจะคล่องมือ แต่ในความเป็นจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้น แค่ 3 เดือนก็เกิดปัญหาสภาพคล่องแล้ว 

    สำหรับการจะแก้ปัญหาดังกล่าวสำหรับผู้คิดจะเริ่มต้นทำธุรกิจ พัชรให้ข้อคิดว่า อาจจะเริ่มต้นจากธุรกิจแฟรนไชส์และธุรกิจออนไลน์

    “ธุรกิจแฟรนไชส์เหมาะสมที่สุด เพราะลดความเสี่ยงได้มาก ไม่ต้องไปสร้างแบรนด์ ค่าใช้จ่ายในการทำการตลาดก็ไม่มี ที่สำคัญสามารถจัดการเรื่องหลังบ้านได้อย่างเป็นระบบ แล้วค่อยเอาเวลาที่เหลือไปโฟกัสเรื่องการจัดร้าน การหาวิธีเรียกลูกค้า ค่อยๆ เก็บสั่งสมความรู้ประสบการณ์ พอถึงจุดหนึ่งก็ออกไปทำเองได้ อีกธุรกิจที่น่าสนใจ คือธุรกิจออนไลน์ เพราะช่วยลดต้นทุนได้มาก จากเมื่อก่อนอยากขายของเจอค่าเช่าหน้าร้านก็จบแล้ว แต่ทำธุรกิจออนไลน์ไม่มีค่าเช่าร้าน จากนั้นค่อยลองมองหาช่องทางอื่นๆ คิดว่านี่เป็นโมเดลธุรกิจที่ดีสำหรับผู้ที่คิดจะเริ่มต้นทำธุรกิจ” 
ที่สำคัญ พัชรกล่าวทิ้งท้ายว่า ให้ลองศึกษาจากองค์กรที่ประสบความสำเร็จในวันนี้ หลายองค์กรล้มแล้วลุกมาหลายครั้ง 

    ดังนั้น หากคิดจะเป็นเถ้าแก่จะต้องมีความตั้งใจ ไม่ใช่การลุยโดยไม่ได้ศึกษาวางแผน แล้วพอเริ่มมีปัญหาก็ทิ้ง เพราะไม่เช่นนั้นก็จะไม่สามารถแจ้งเกิดบนถนนสาย SME ได้ 

Create by smethailandclub.com