Finanace

จะเลือกแบบไหนดี! สตาร์ทอัพควรเลือกร่วมทุนกับ VC หรือ CVC ?

 

Text : Nares Laopannarai

     ในวงการสตาร์ทอัพคำว่า VC หรือ Venture Capital ถือเป็นหนึ่งในผู้มีส่วนร่วมสำคัญที่จะทำให้กิจการสามารถเติบโตต่อไปได้จากการได้รับเงินทุนสนับสนุน แต่ช่วงหลังมานี้คำว่า CVC หรือ Corporate Venture Capital เริ่มมีการจัดตั้งมากขึ้นและมีบทบาทต่อสตาร์ทอัพมากกว่ากองทุน VC เสียอีก

     ความแตกต่างระหว่าง VC และ CVC คือกองทุน VC นั้นมักจะจัดตั้งขึ้นโดยกลุ่มบุคคลหรือสถาบันการเงินรวมถึงกลุ่มผู้มีความมั่งคั่งสูงโดยมีเป้าหมายหลักในการเข้าลงทุนในกิจการต่างๆ หรือว่าสตาร์ทอัพเพื่อที่จะสร้างผลตอบแทนคืนให้กับกองทุน โดยกองทุน VC อาจจะมีเจ้าของเพียงคนเดียวหรือกลุ่มเดียวหรือเปิดโอกาสให้มีผู้ร่วมลงทุนหลายคนนำเงินมารวมกันเพื่อเข้าลงทุนในกิจการและเมื่อขายหุ้นทำกำไรได้ก็จะแบ่งผลประโยชน์กันตามสัดส่วน

     VC ส่วนใหญ่มักจะจัดตั้งขึ้นโดยอดีตผู้ก่อตั้งสตาร์ทอัพที่ประสบความสำเร็จแล้วและมีเงินทุนส่วนตัวเหลือจากการ Exit ก็นำมาใช้ลงทุนในสตาร์ทอัพเกิดใหม่โดยอาศัยความชำนาญในการ Pitching นักลงทุนมาถ่ายทอดให้กับสตาร์ทอัพรุ่นใหม่

     ขณะที่ CVC มักจะจัดตั้งขึ้นโดยองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ที่ต้องการจะขยายธุรกิจหรือลงทุนในเทคโนโลยีอื่นเพิ่มโดยแทนที่จะตั้งหน่วยงานวิจัยและพัฒนาของตัวเองก็เลือกที่จะตั้ง CVC ขึ้นเพื่อที่จะทำงานร่วมกับสตาร์ทอัพหรือลงทุนในกิจการเพื่อให้ได้ครอบครองส่วนแบ่งตลาดหรือเทคโนโลยี

     ความแตกต่างระหว่างนักลงทุนสองแบบคือ VC จะเน้นผลตอบแทนในเชิงของการลงทุนหรือ ROI เนื่องจากการที่จะสามารถสร้างผลกำไรให้กองทุนสามารถดำเนินต่อไปได้จำเป็นที่จะต้อง Exit หรือขายหุ้นที่ถืออยู่ให้กับนักลงทุนที่มีขนาดใหญ่กว่าซึ่งอาจจะเป็น CVC ได้เช่นกัน และ VC ส่วนมากไม่มีธุรกิจอื่นใดๆ นอกเหนือไปจากการเข้าลงทุนในสตาร์ทอัพเท่านั้น

     ขณะที่ CVC มีจุดประสงค์เพื่อที่จะเป็นหน่วยงานช่วยสนับสนุนธุรกิจหลักของบริษัทแม่ในการต่อยอดธุรกิจเดิมหรือมองหาธุรกิจใหม่ จุดประสงค์หลักจึงไม่ใช่การขายหุ้นเพื่อทำกำไรแต่เป็นการสร้างประโยชน์ให้กับธุรกิจ ตั้งแต่การได้เป็นเจ้าของเทคโนโลยี โปรดักต์ ส่วนแบ่งตลาดตลอดจน Know How ที่สตาร์ทอัพเป็นผู้สร้างขึ้น จึงแทบไม่เห็นการขายทำกำไรในสตาร์ทอัพโดย CVC

     สำหรับสตาร์ทอัพที่สามารถเลือกได้ระหว่าง VC กับ CVC อาจจะต้องพิจารณาจากเป้าหมายในการทำธุรกิจของตัวเอง ถ้าหากต้องการขยายกิจการให้มีขนาดใหญ่ขึ้นไปเรื่อยๆ โดยมีเป้าหมายส่วนตัวในการ Exit อาจจะเลือกลงทุนกับ VC แต่อาจจะต้องเหนื่อยกับการหานักลงทุนใหม่เรื่อยๆ

     ขณะที่สตาร์ทอัพที่เลือกจะอยู่กับ CVC อาจจะต้องการความมั่นคงทั้งในเชิงธุรกิจและสถานะการเงินส่วนตัวมากกว่า เพราะ CVC ส่วนมากเวลาที่เข้าซื้อสตาร์ทอัพจะเข้าหุ้นในสัดส่วนที่มีนัยยะสำคัญซึ่งอาจจะกลืนความเป็นเจ้าของเดิมไปและจะทำการจ้างผู้ก่อตั้งเดิมมานั่งบริหารต่อ เท่ากับว่าเจ้าของเดิมสามารถ Exit จากกิจการได้ทันทีจนมีความมั่งนคงทางการเงินและเปลี่ยนสภาพตัวเองมาเป็นลูกจ้างธรรมดาและทำงานภายใต้องค์กรใหญ่

     สองแนวทางดังกล่าวขึ้นอยู่กับว่าผู้ก่อตั้งจะเลือกเส้นทางธุรกิจและการใช้ชีวิตของตัวเองอย่างไรต่อไป เพียงแต่ว่าการพิจารณาลงทุนจาก CVC จะใช้ขั้นตอนที่นานและละเอียดกว่าเพราะให้ความสำคัญกับพื้นฐานกิจการเป็นหลักส่วน VC จะพิจารณาที่ผลตอบแทนการลงทุนซึ่งจะมีความคล่องตัวในการพิจารณาลงทุนที่รวดเร็วกว่า

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup