ในการทำธุรกิจ หากมีช่องทางรับชำระเงินที่สะดวกและหลากหลาย นอกจากจะเป็นทางเลือกให้กับลูกค้าแล้ว ยังช่วยทำให้ลูกค้าตัดสินใจซื้อสินค้าได้ง่ายขึ้นอีกด้วย ยิ่งเดี๋ยวนี้ช่องทางการขายมีทั้งที่อยู่บนออนไลน์ และมีหน้าร้านออนกราวนด์ รวมถึงช่องทางผสมที่เรียกกันว่า Omni Channel ด้วยแล้ว หากมีช่องทางรับชำระเงินแค่ช่องทางใดช่องทางหนึ่งก็อาจทำให้เสียโอกาสได้

     เนาวรัตน์ กีรติเกษมสุข ผู้อำนวยการ-ธุรกิจร้านค้า “เคทีซี” หรือ บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) บอกว่า Pain Point ของร้านค้าในเรื่องการรับชำระเงิน คือต้องแน่ใจว่าการใช้วิธีรับชำระเงินนั้นๆ จะต้องได้รับเงินอย่างแน่นอน แต่เนื่องจากสถานการณ์โควิดในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ได้ทำให้พฤติกรรมการซื้อสินค้าและการชำระเงินเปลี่ยนไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งทำให้การเข้าสู่สังคมไร้เงินสดของไทยเร็วขึ้น นั่นจึงทำให้ร้านค้าต้องมีช่องทางการรับชำระเงินที่สอดรับกับพฤติกรรมของลูกค้า ที่สำคัญคือ ต้องเหมาะสมกับลักษณะของร้านค้านั้นๆ ด้วย

 

 

พฤติกรรมการจ่ายเงินเปลี่ยนไปอย่างไร  

     เนาวรัตน์อธิบายให้เห็นภาพพฤติกรรมการชำระเงินที่เปลี่ยนไปว่า จากข้อมูลของวีซ่าที่มีการสำรวจผู้ถือบัตรประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จำนวนกว่า 6 พันคน มีอายุ 18-35 ปี เมื่อปี 2564 พบพฤติกรรมการซื้อสินค้าโดยการหันไปใช้การชำระเงินแบบ Cashless หรือไม่ใช้เงินสดเลยสูงถึง 87    เปอร์เซ็นต์ มากไปกว่านั้น เมื่อมีการสำรวจว่าลูกค้าสามารถอยู่ได้โดยไม่ใช้เงินสดเลยนานสุดกี่วัน พบว่านักช้อปไทยนั้นสามารถอยู่ได้นานถึง 9.5 วัน

     นอกจากนี้ ยังมีข้อมูลอื่นๆ ที่น่าสนใจเกี่ยวกับการชำระเงิน คือ 3 อันดับแรกของดิจิทัล เพย์เมนต์ที่นิยมใช้มากที่สุดคือ บัตรเครดิตออนไลน์ ถัดมาคือ Contactless Mobile หรือการใช้โทรศัพท์มือถือในการชำระเงิน และสุดท้ายคือ Contactless Card หรือการที่ลูกค้าเอาบัตรเครดิตแตะที่เครื่องด้วยตัวเอง

     ต่อคำถามที่ว่า เหตุผลที่ไม่ใช้เงินสดหรือใช้น้อยลงแล้วหันมาใช้ Contactless Payment แทนคืออะไร คำตอบที่ได้คือ การที่ไม่ต้องพกเงินสดจำนวนมากทำให้รู้สึกปลอดภัย ไม่ต้องกลัวเงินหาย รวมทั้งความสะดวกเพราะมีการยอมรับการชำระเงินที่ไม่จำเป็นต้องเป็นเงินสดเพิ่มมากขึ้น เป็นต้น

     ถ้าเจาะลึกไปยังร้านค้าที่มีการขายสินค้าออนไลน์ ก็จะพบพฤติกรรมการชำระเงินที่ชัดเจนที่สุด โดยสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ ETDA ระบุว่า ผู้บริโภคคนไทยที่ซื้อสินค้าจาก E-marketplace นิยมชำระเงินผ่าน 1.แอปฯ ธนาคาร 2.การชำระเงินปลายทาง 3.การชำระเงินด้วยบัตรเครดิตหรือเดบิต 4.โอนหรือชำระผ่านบัญชีธนาคาร และ 5.ชำระด้วยวอลเล็ตของแพลตฟอร์มนั้นๆ

     ทั้งหมดนี้ จะเห็นว่าภาพรวมของพฤติกรรมคนไทยและแนวโน้มที่ใช้เงินสดน้อยลงแล้วหันมาใช้ดิจิทัล เพย์เมนต์เพิ่มมากขึ้น  

 

 

ช่องทางการชำระเงินใดเหมาะกับร้านค้าแบบไหน

     เชื่อว่าผู้ประกอบการทุกคนต้องการจะมีช่องทางรับชำระเงินให้มากที่สุดเท่าที่จะมีได้ เพื่อความสะดวกของลูกค้า แต่ช่องทางการรับชำระเงินก็มีหลายรูปแบบ จึงอาจสงสัยว่าแล้วควรจะเลือกช่องทางไหนให้เหมาะกับธุรกิจ ในเรื่องนี้เนาวรัตน์บอกว่า ก่อนอื่นต้องรู้ก่อนว่าลูกค้าคือใคร ขนาดของธุรกิจใหญ่เล็ก ขายสินค้าทางช่องทางไหนบ้าง มีหน้าร้านที่ลูกค้ามาซื้อสินค้าถึงที่ หรือเป็นการขายสินค้าออนไลน์ หรือเป็นแบบผสมทั้งออนไลน์และออนกราวนด์   

     1.ร้านค้าที่มีหน้าร้าน ลูกค้าต้องมาชมสินค้าจริงก่อนจะตัดสินใจซื้อ โดยร้านค้ามียอดขายประมาณหนึ่ง และมีความคุ้นเคยกับเครื่องรูดบัตร การใช้ช่องทางบัตรเครดิตเป็นคำตอบที่ดีที่สุด ซึ่งข้อดีของการชำระเงินแบบนี้คือ รับชำระบัตรได้ทุกประเภททุกธนาคาร ไม่ว่าจะเป็นบัตรเครดิตหรือบัตรเดบิต บัตรที่ออกในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งเครื่อง EDC จะรับชำระสกุลเงินต่างประเทศได้ด้วย แต่เครื่อง EDC จะมีค่าธรรมเนียม ซึ่งบางร้านค้าอาจจะไม่อยากจ่ายค่าบริการนี้

     2. ร้านค้าที่ขายออนไลน์อย่างเดียว ซึ่งจะแยกย่อยไปอีกว่าถ้าเป็นร้านค้าออนไลน์ที่มีเว็บไซต์ของร้านค้าเอง ก็แนะนำบริการรับชำระเงินออนไลน์ หรือว่า Payment Gateway แต่เนื่องจากมีต้นทุน ดังนั้น หากไม่ใช่เว็บไซต์ใหญ่มักจะไม่นิยมทำ Payment Gateway  

     ส่วนร้านค้าที่ขายผ่าน E-marketplace ช่องทางเหล่านี้จะมีระบบการรับชำระเงินเตรียมไว้อยู่แล้ว มีทั้งการเก็บเงินปลายทาง การโอนเงิน ชำระเงินผ่านบัตรเครดิตหรือบัตรเดบิต