Finanace

คุยกับ วีระชัย อมรถกลสุเวช รองผอ.ธนาคารออมสิน ให้มากกว่าสินเชื่อ พร้อมช่วย SME โตได้ไม่สะดุด

 

     ต้องยอมรับว่าแม้จะมี SME แจ้งเกิดมากมายก็จริง แต่ที่ล้มหายไปก็ไม่ใช่น้อยเช่นกัน อันเนื่องมาจากปัญหาทั่วๆ ไป อย่างเช่น การขาดความรู้ ขาดประสบการณ์ การไม่มีระบบการบริหารจัดการที่ดี และที่สำคัญคือการเข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ประกอบการรายย่อย และที่เพิ่งเริ่มต้นธุรกิจ

     ธนาคารออมสิน แม้จะเป็นธนาคารที่มีผลิตภัณฑ์ทางการเงินเหมือนธนาคารพาณิชย์ทั่วไป แต่เป็นธนาคารที่ใส่ใจ ให้ความสำคัญกับผู้ประกอบการ SME รายย่อยเล็กๆ รวมถึงสตาร์ทอัพที่เพิ่มเริ่มต้นธุรกิจเป็นอย่างมาก ซึ่งไม่เพียงแต่ให้สินเชื่อ ยังให้องค์ความรู้ คำแนะนำ เพื่อให้ผู้ประกอบการเหล่านั้นสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน

     วันนี้ SME Startup จึงชวนคุยกับ วีระชัย อมรถกลสุเวช รองผู้อำนวยการธนาคารออมสินกลุ่มลูกค้าธุรกิจและภาครัฐ และสมชาย อาภรณ์พงษ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการธนาคารออมสิน สายงานพัฒนาธุรกิจผู้ประกอบการรายย่อย และSMEs Start Up เพื่อรับฟังวิสัยทัศน์และโครงการต่างๆ ที่สนับสนุนช่วยเหลือ SME

 

ธนาคารออมสินให้ความสำคัญกับSME มากน้อยแค่ไหน

วีระชัย : ธนาคารออมสินให้ความสำคัญกับกลุ่มธุรกิจ SME เป็นอย่างมาก เพราะเรามองว่าเป็นกลุ่มผู้ประกอบการที่เข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุน วันนี้หากดูพอร์ตของธนาคารจะมียอดสินเชื่อ SME ประมาณ 180,000 ล้านบาท ใน 180,000 ล้านบาท เป็นการปล่อยสินเชื่อที่มีวงเงินต่ำกว่า 50 ล้านบาทอยู่ที่ 160,000 แสนล้านบาท และวงเงินมากกว่า 50 ล้านแต่ไม่เกิน 250 ล้านบาท อีก 10,000 กว่าล้านบาท

      การให้ความสำคัญกับกลุ่มธุรกิจ SME ทำให้เรามีผลิตภัณฑ์สินเชื่อมากมาย ผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่ธนาคารพาณิชย์มีเราก็มีหมด ที่สำคัญคือเราดูแลทุกกลุ่มเพราะเราต้องการให้ผู้ประกอบการ SME เข้าถึงแหล่งเงินทุน เพียงแต่ว่าการจะให้สินเชื่อตามปกติเพียงอย่างเดียวคงไม่พอ เรายังช่วยเหลือเมื่อ SME ต้องเจอวิกฤติต่างๆ ด้วย ถ้าสังเกตในช่วงที่เกิดสถานการณ์โควิดนั้น ธนาคารพาณิชย์แทบไม่ปล่อยสินเชื่อเลยเพราะกลัว NPL แต่ธนาคารออมสินเป็นธนาคารเดียวที่ช่วยเหลือ SME เราให้สินเชื่อหลายแสนล้านบาท เราปล่อย Soft Loan สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเพื่อให้เขาเดินต่อไปได้ หรือโรงแรมที่ได้รับผลกระทบ ธนาคารพาณิชย์ไม่ปล่อยสินเชื่อให้กับธุรกิจ Supply Chain ของโรงแรม เช่น ธุรกิจซักรีด เราก็เข้าไปดูแลปล่อยสินเชื่อเพื่อให้เขาสามารถอยู่รอดต่อไปได้  

      จากยอดสินเชื่อ SME ที่เรามีอยู่ 180,000 ล้านบาทนั้น เราตั้งเป้าการเติบโตของสินเชื่อกลุ่มธุรกิจ SME ในปีนี้ อยู่ที่ 8% และที่สำคัญคือก็ยังโฟกัสกลุ่มผู้ประกอบการรายเล็กๆ อยู่   

สถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศ และผู้ประกอบการ SME ปีนี้จะเป็นอย่างไร

วีระชัย : คาดว่าปีนี้สถานการณ์ SME น่าจะลำบากมากกว่าปีที่แล้ว เพราะถ้าดูระบบเศรษฐกิจของประเทศไทยจะเห็นว่าเรายังพึ่งพิงการนำเข้าพอสมควร ยกตัวอย่างเช่นพลังงาน ช่วงที่ราคาพลังงานสูง ต้นทุนทุกอย่างก็สูงตามไปหมด ขณะที่ราคาขายไม่ขยับขึ้นตาม นอกจากนี้ โครงสร้างเศรษฐกิจของไทยนั้นส่วนใหญ่จะอยู่ในภาคบริการ ดังนั้นเมื่อเกิดโควิด จึงได้รับผลกระทบอย่างมาก และหากไปดูสถานการณ์ประเทศคู่ค้าเราทั้งสหรัฐฯ และจีน ล้วนมีจำนวนคนว่างงานเพียบ อีกทั้งเฟดก็ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ผลก็คือทำให้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ประกาศขึ้นดอกเบี้ย เหล่านี้ทำให้ผู้ประกอบการต้องเหนื่อยมากขึ้น เพราะว่ากำลังในการจ่ายหนี้มีเท่าเดิม แต่ดอกเบี้ยสูงขึ้น ซึ่งแม้สถานการณ์ท่องเที่ยวจะผ่อนคลายแล้ว แต่การฟื้นตัวก็เป็นแบบค่อยๆ ปรับตัวขึ้น ช่วงนี้จึงควรดูแลประคองรายจ่ายกันให้ดี   

     ดังนั้น ปีนี้ภาพรวมเศรษฐกิจคิดว่ายังทรงตัวอยู่ บางเซ็กเตอร์ธุรกิจอาจจะได้รับผลกระทบบ้าง บางธุรกิจน่าจะดี ซึ่งธนาคารออมสินอาจจะเข้าไปช่วยโดยจะโฟกัสเฉพาะกรุ๊ป คงไม่ได้บอกว่ากลุ่มธุรกิจท่องเที่ยวทุกรายเราจะปล่อยสินเชื่อให้ทั้งหมด แต่จะเลือกเป็นทำเล เป็นเซ็กเมนต์ ต้องเลือกช่วยคนที่ทำแล้วไปรอด ถ้าทำแล้วไปไม่รอดก็ไม่น่าไปช่วยเพราะสุดท้ายถ้าเขาไปไม่รอดก็เป็นภาระของรัฐอยู่ดี

อย่างที่บอกว่าภาพรวมเศรษฐกิจไม่ค่อยดี ธนาคารพาณิชย์จะปล่อยสินเชื่อยาก แล้วธนาคารออมสินเข้มงวดมากน้อยแค่ไหน

วีระชัย : ผู้ประกอบการ SME ที่มาธนาคารออมสินจะมีความคาดหวังขอให้ปล่อยสินเชื่อให้ก่อน ส่วนดอกเบี้ยจะเท่าไหร่เขาอาจจะสู้ แต่ถ้าให้เวลาเขายาวหน่อยเขาจะบริหารเงินได้ ซึ่งจุดนี้คือข้อดีของธนาคารออมสิน คือระยะเวลากู้ยืมเราปล่อยยาวกว่าธนาคารพาณิชย์ ยกตัวอย่างธุรกิจหอพักอพาร์ตเมนท์ถ้าไปกู้กับธนาคารพาณิชย์ จะให้ระยะเวลากู้แค่ 7 ปี แต่เราให้ถึง 10 ปี เพราะมองว่าถ้ายืดระยะเวลากู้ยืมแล้วให้ผ่อนน้อยหน่อย ก็จะสามารถช่วยเขาได้ มากไปกว่านั้นเราพยายามดูแลเรื่องดอกเบี้ยด้วย ถ้าสังเกตว่าเมื่อปลายปีที่แล้วธนาคารพาณิชย์ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ MLR กันหมด แต่ธนาคารออมสินไม่ได้ปรับขึ้นเลย เราตรึงไว้จนถึงปลายปีเพิ่งมาปรับอัตราดอกเบี้ยใหม่เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมานี้เอง

     2-3 ปีก่อนเราออกสินเชื่อ มีที่ มีเงินเพื่อเสริมสภาพคล่อง เพราะธนาคารพาณิชย์ไม่ปล่อยกู้ แต่เรามองว่าจะมีธุรกิจกลุ่มหนึ่งที่มีที่แต่เขาไม่มีเงินทุน ก็เลยทำโครงการมีที่ มีเงินขึ้นมา ให้ SME เอาที่มาวางแล้วเราจะไม่วิเคราะห์ความสามารถ ไม่ดู NPL ปีนั้นธนาคารช่วยผู้ประกอบาร SME ได้ 26,000 ราย แล้วปรากฏว่า NPL ก็น้อยด้วย พอปีที่ 2 รัฐบาลมาขอให้ทำต่ออีกหมื่นล้านบาทโดยรัฐบาลมาสนับสนุนดอกเบี้ยให้ มาถึงเฟสที่ 3 เราลดขนาดลงเป็นเพื่อคนตัวเล็กๆ ที่มีที่น้อยๆ กู้ไม่ถึงล้านบาท ขณะเดียวกันธนาคารแห่งประเทศไทยไม่ได้อยากให้เราปล่อยกู้โดยไม่วิเคราะห์ความสามารถ ธนาคารออมสินก็เลยเปิดบริษัท มีที่ มีเงิน จำกัดขึ้นมาเต็มตัว เป็นแหล่งกู้แห่งใหม่ ให้กู้สินเชื่อที่ดิน-รับจำนอง-ขายฝาก ตอนนี้ปล่อยสินเชื่อไปเกือบ 4 พันล้านบาทแล้ว

ดูเหมือนธนาคารออมสินมุ่งให้ความสำคัญกับเรื่องความยั่งยืนมากๆ

วีระชัย : ต้องยอมรับว่าการให้สินเชื่อในอดีตธนาคารออมสินดูแค่ตัวเลขผลกำไรอย่างเดียว แต่ตอนนี้เราอยากให้ทุกคนตระหนักในเรื่องของการดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อมด้วย เรามีผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่ชื่อว่า สินเชื่อ GSB For BCG Economy สนับสนุนกิจการที่มีโมเดลเศรษฐกิจ BCG (Bio-Circular-Green Economy) ซึ่ง 2 ปีที่ผ่านมาเราปล่อยสินเชื่อกลุ่มนี้ไปแล้ว 2 หมื่นกว่าล้านบาท และในปีนี้เราได้ต่อยอดทำ ESG Score ขึ้นมาเพื่อใช้ประกอบการพิจารณาให้สินเชื่อเงื่อนไขพิเศษสำหรับผู้ประกอบการรายใหญ่ ซึ่งถือว่าเราเป็นธนาคารแรกของประเทศไทยที่ทำ ESG Score นี้ ที่สำคัญ เราประกาศเจตนารมณ์ Net Zero ตั้งเป้าลดคาร์บอนเป็นศูนย์ ใครก็ตามที่ทำธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการทำให้เกิดคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศ ถ้าเป็นลูกค้าเก่าจะไม่ปล่อยสินเชื่อใหม่ ทั้งหมดนี้เน้นย้ำเรื่องการเติบโตที่ยั่งยืน 

      นอกจากนี้ ธนาคารยังมีสินเชื่อ “GSB EV Supply Chain” เป็นสินเชื่อสำหรับผู้ประกอบการธุรกิจสีเขียว สำหรับผู้ประกอบการยานยนต์ไฟฟ้า และ Supply Chain ที่เกี่ยวข้องอีกด้วย

ปัญหาของกลุ่มธุรกิจสตาร์ทอัพหรือที่เพิ่งเริ่มต้นทำธุรกิจคืออะไร

วีระชัย : ปัญหาของผู้ประกอบการกลุ่มสตาร์ทอัพคือเรื่องความยั่งยืน เพราะส่วนใหญ่เกิดเร็วตายเร็ว ความแตกต่างของสตาร์ทอัพ กับ SME ก็คือว่าเขาจะมีไอเดียในการทำธุรกิจแต่ไอเดียนั้นมันไม่ยืนยาว เขาอาจจะเป็นคนที่คิดโปรดักต์ชั่นก่ง ยกตัวอย่างเขาคิดแมลงกินขยะให้เป็นปุ๋ย แต่มันไม่สามารถทำเป็นธุรกิจได้จริงๆ บางคนคิดแล้วไปต่อไม่ได้ก็มี

     ส่วนเรื่องของการขาดองค์ความรู้ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ดังนั้นสตาร์ทอัพกลุ่มนี้เราจะทำยังไงให้โตขึ้นมาเป็น SME แล้ว ยั่งยืนได้ ก็คือต้องเติมความรู้ให้เขาซึ่งขึ้นอยู่กับเขาด้วยว่าขาดอะไร

ธนาคารออมสินดูแลผู้ประกอบการรายย่อยและสตาร์ทอัพอย่างไรบ้าง

สมชาย : สตาร์ทอัพในความหมายของออมสินก็คือคนที่เริ่มต้นอาชีพใหม่ ดังนั้นสินเชื่อฐานรากเรามีแต่วงเงินเล็กๆ จนกระทั่งเกิดหลักล้าน เริ่มตั้งแต่ธนาคารประชาชนไม่เกิน 100,000 บาท แล้วถ้าใครผ่านโครงการอาชีพต่างๆ ของธนาคารออมสินในสายงานจะมีใบประกาศสามารถเอาไปยื่นกู้สินเชื่อสร้างงานสร้างอาชีพได้  

     ถ้ากิจการโตขึ้นมาหน่อยก็มีสินเชื่อห้องแถว ซึ่งตอนนี้เราเรียกว่าสินเชื่อผู้ประกอบการรายย่อย ซึ่งต้องเป็นบุคคลธรรมดา  ข้อดีคืออยู่ในกลุ่มที่การวิเคราะห์ไม่ยุ่งยาก ไม่ต้องดูงบการเงิน  

     อย่างก็ตามธนาคารออมสินจะให้ทั้งความรู้ สร้างอาชีพ สร้างโอกาสในการเข้าถึงแหล่งทุน และที่สำคัญคือสร้างความยั่งยืน เราดูแลลูกค้าตั้งแต่ไม่มีความรู้ ไม่มีอาชีพเลย ดูแลสตาร์ทอัพหรือธุรกิจที่เพิ่งเริ่มต้นธุรกิจ และดูแลรายย่อยตั้งแต่ฐานรากจริงๆ โดยที่ผ่านมาเราทำหลายโครงการมาก ยกตัวอย่างเช่น

     โครงการแรกที่เราทำในปี 2560 และประสบความสำเร็จอย่างมากคือ “โครงการออมสินยุวพัฒน์รักษ์ถิ่น เป็นการพัฒนาคนฐานรากจริงๆ เราสนับสนุนด้านเงินทุนให้สถาบันการศึกษาทั่วประเทศ ซึ่งมี 67 แห่ง เปิดโอกาสให้นิสิตนักศึกษาใช้ความรู้ช่วยเหลือกลุ่มชุมชน พัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์ การตลาด ซึ่งโดยส่วนใหญ่ชาวบ้านจะผลิตสินค้าขายอยู่แล้วแต่ไม่ประสบความสำเร็จ พอถึงสิ้นปีเรามีการประกวดกันเรียกว่าประกวด Best of the Best  6 ปีที่ผ่านมาเราช่วยไปแล้วกว่า 3,000 ชุมชน

      ในอีกมิติหนึ่งยังมีคนออมสินหัวใจเพื่อชุมชน พนักงานออมสินจะลงพื้นที่ช่วยพัฒนาความรู้ทางการเงินควบคู่กับการพัฒนาอาชีพด้วย

     โครงการออมสินอาชีวะสร้างอาชีพสู่ชุมชน ฝึกอบรมงานช่างให้กับชาวบ้านแบบเป็นอาชีพได้จริงๆ เช่น ช่างไฟฟ้าขนาดเล็ก ช่างจักรยานยนต์รถยนต์ แล้วที่สำคัญคนกลุ่มนี้จะต้องไปสอนเพื่อนบ้านต่อ เพื่อให้เขาช่วยเหลือตัวเองได้  

     เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา เราร่วมมือกับเชฟชุมพล เชฟกระทะเหล็ก ทำโครงการเชฟชุมพลสำรับออมสิน เชฟจุมพลจะลงพื้นที่เพื่อทำประชาคมว่าในท้องถิ่นนั้นมีวัตถุดิบอะไรที่จะสามารถนำมารังสรรค์เป็นเมนูที่เป็นอัตลักษณ์ของท้องถิ่นได้ ใครไปจะได้รู้จักแล้วทำใส่ปิ่นโต 5 ชั้น โดยจะมี 1 ชั้นเรียกว่าสำรับออมสิน มีอาหารคือน้ำพริกออมสินซึ่งเป็นน้ำพริกทรงโปรดของรัชกาลที่ 6

     นอกจากนี้ ธนาคารออมสินยังร่วมกับสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ทำหลักสูตรการเป็นผู้ประกอบการและการพัฒนาธุรกิจใหม่ มีการเข้าแคมป์แล้วก็จะเชิญผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จแล้วมาสอน

     ธนาคารออมสิน Smart Start Idea by GSB Startup ซึ่งเป็นโครงการที่ให้นักศึกษาร่วมสร้างสรรค์สินค้าหรือบริการภายใต้หัวข้อที่ธนาคารกำหนดแล้วส่งเข้าประกวด เพื่อรับทุนการศึกษาและต่อยอดสู่การพัฒนาเป็นสินค้าหรือบริการได้จริง เมื่อเขาเรียนจบออกไปเขาจะได้ประกอบอาชีพได้เลย ถ้าไม่มีเงินทุนธนาคารออมสินยังมีกองทุนให้ยืม ไม่ต้องเสียดอกเบี้ย ยกตัวอย่าง มีนักศึกษาพัฒนาเครื่องช่วยจำที่เป็นเสียงทำให้จดจำอักษรเบลได้ง่ายขึ้น ซึ่งสามารถขายได้ 100 กว่าตัว

     เราฝึกอาชีพตั้งแต่ไม่มีอะไรเลยจนกระทั่งในรั้วมหาวิทยาลัยจนกระทั่งเป็นสตาร์ทอัพเพื่อที่จะส่งต่อให้ลูกค้ามีอาชีพมีรายได้

     ปีนี้จะจัดโครงการพิเศษเพื่อฉลองธนาคารออมสินครบรอบ 111 ปี ด้วยการนำแฟรนไชส์ทุกแบรนด์ที่ผ่านการพัฒนากับธนาคารมาลดราคาพิเศษตั้งแต่วันที่ 1 เมษายนถึงสิ้นปี โดยจะคัดเลือกไซส์ที่ไม่เกินหมื่นบาทเพื่อให้ลูกค้าฐานรากจับต้องได้ง่าย นอกจากนี้เราจะทำรถเข็น 111 คันถ้าซื้อแฟรนไชส์นั้น ก็สามารถซื้อรถเข็นได้ในราคาพิเศษด้วย

อยากให้ท่านรองวีระชัยให้คำแนะนำสตาร์ทอัพ และ SME ในการทำธุรกิจให้ยั่งยืน

วีระชัย : ผมมองว่า Life Cycle ของ SME นั้นมี 3 ช่วงคือช่วงเริ่มต้น ซึ่งจะมีเวลาไม่เกิน 3 ปีก็จะรู้ว่าเขาจะอยู่รอดหรือไม่รอด ช่วงที่ 2 เป็นช่วงที่ผ่านพ้นการอยู่รอดมาแล้วเข้าสู่การเติบโต และช่วงที่ 3 คือความยั่งยืน ซึ่งในช่วงแรกปัญหาขอ ง SME ส่วนใหญ่คือขาดเงินทุน เข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุน กิจการสร้างใหม่เกิดง่ายตายไว เพราะฉะนั้นธนาคารออมสินจะเข้าไปช่วยเหลือ ทั้งให้ความรู้ ถ้าทำไม่เป็นก็ช่วยสนับสนุนให้ทำเป็น แต่ถ้าเป็นกลุ่ม SME ที่อยู่ในช่วงการเติบโต เราจะไปช่วยด้วยการสนับสนุนสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยไม่สูงเกินไป แต่เราก็จะเลือกช่วยเป็นกลุ่มๆ

     กลุ่ม SME ที่ยังไม่เข้าถึงสินเชื่อแก้ปัญหาได้ไหม แก้ได้ ซึ่งผมเชื่อว่าถ้าจะให้ SME เข้มแข็งทุกคนต้องทำบัญชีเดียว ในแง่ความรู้ที่ SME ขาดคือแง่การจัดการ ถ้าเป็น SME ไซส์เล็กเขาทำเองได้แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่อยู่ในช่วงการเติบโตเขาอาจจะต้องหามืออาชีพ ส่วนถ้าเป็นหนี้เสีย เราจะไม่ค่อยเข้มงวดเหมือนธนาคารพาณิชย์ ซึ่งถ้าเป็นหนี้เสียจะฟ้องก่อนเจรจา แต่ธนาคารออมสินจะเห็นว่าบางครั้งไม่ฟ้องไม่ยึดทรัพย์ เพราะเราต้องการให้เขาไปต่อได้จริงๆ พยายามช่วยให้เขากลับมาฟื้นได้จริงๆ แต่คงไม่ได้ทุกเซ็กเมนต์

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup