Q-Life

คืนวันริมฝั่ง…ปากน้ำประแส

Text : ฐากูร โกมารกุล ณ นคร Photo : ธนดิษ ศรียานงค์

 

    หลังเรือประมงเล็กพาลอบปูที่ออกไปวางในผืนทะเลระยองทยอยกลับเข้าฝั่ง แม่น้ำสายหนึ่งตรงช่วงปากอ่าวเปิดกว้าง และย่านตลาดเก่าแก่ก็เคลื่อนขยับตัวเองมาตั้งแต่ก่อนรุ่งเช้าเช่นที่เคยเป็นมา

    เราอยู่กันที่ปากน้ำประแส อำเภอแกลง จังหวัดระยอง หมู่บ้านชาวประมงที่เคยเรืองรุ่งทางเศรษฐกิจ  จากการเป็นหนึ่งในชุมทางการค้าการเดินทางของผู้คนในภาคตะวันออก เคยเต็มไปด้วยชาวประมง ไต๋เรือที่กลายเป็นเถ้าแก่ พ่อค้าเร่ เซลส์แมนขายสินค้า รวมไปถึงการเติบโตคึกคักของตลาด สู่การหลงเหลือเพียงห้องแถวไม้คลาสสิกและคืนวันหอมหวานที่ใครต่อใครเฝ้าระลึกถึง

    หากลงไปมองหมู่บ้านแห่งนี้จากกลางแม่น้ำ ใครสักคนอาจเห็นการเติบโตที่ฝังรากยาวนาน เรือประมงขนาดใหญ่แนบเกยไปตามตลิ่ง คานเรือใหญ่โตมีให้เห็นถึงสองสามแห่ง ศาลเจ้าจีนปรากฏตั้งแต่หัวถึงท้ายชุมชน ไม่นับบ้านเรือนแต่ละหลังที่โอ่โถงสง่างาม ภาพชีวิตร้อยโยงอยู่กับแม่น้ำและผืนทะเลผ่านงานประมงแทบทุกหลัง



    
    ตลาดเช้าของประแสติดมาตั้งแต่ก่อนตีห้า ซึ่งจะว่าไปมันต่างจากเมื่อก่อนลิบลับ ร้านกาแฟเจ้าหน้าตลาดที่ตกทอดเปลี่ยนมือมาหลายรุ่นเต็มไปด้วยชายต่างวัย หมูปิ้งของป้าจำรัสส่งกลิ่นหอมในเนื้อสีเหลืองนวล ปลาทะเลหลากหลายชนิดเรียงรายอยู่หน้ารอยยิ้มและเสียงพูดคุยของแม่ค้า ซึ่งเธอว่ามันเทียบกับแต่ก่อนได้ยาก

    หากหันหลังให้แม่น้ำและนับตลาดประแสเป็นแลนด์มาร์กหลัก หันหน้าประจันกับถนนเทศบาล 4 เลี้ยวขวาไปคือหย่อมบ้านเรือนที่พวกเขาเรียกกันว่า “บ้านบน” เราเดินผ่านห้องแถวไม้สวยๆ หลายหลังที่เรียงรายมาตั้งแต่บ้านของก๋งจื้อ มีศาลเจ้าพ่อแซ่ตั๋นถัดลึกไปริมน้ำ และมันไปสิ้นสุดที่ศาลเจ้าพ่อกื้ออี่ไทรย้อย ที่เป็นส่วนขยายออกไปที่เกิดขึ้นมาภายหลัง

    “แต่ก่อนเรือใหญ่เข้าที ประแสคึกคัก เรียกกันว่าแทบไม่มีวันหลับ ยิ่งเป็นวันเรือเมล์เข้าด้วยนะ คนต่างที่ต่างถิ่นเดินกันเต็มตลาด” เฒ่าชราบางคนเล่าไปยิ้มไป เราพลางนึกถึงคืนวันคึกคักของการเดินทางในสมัยนั้น

    ข้อจำกัดด้วยการมาถึงของถนนสุขุมวิทครั้งที่ตัดเสร็จเมื่อปี พ.ศ.2488 ในอดีตนั้นเป็นเพียงถนนลูกรังฝุ่นแดง แม่น้ำและทะเลยังคงเป็นหนทางที่พวกเขาเลือกใช้ ว่ากันว่าประแสเป็นหนึ่งในชุมทางการเดินทางของคนในหัวเมืองตะวันออก ที่นี่เต็มไปด้วยคนทั้งจากท้องถิ่นใกล้เคียง ไล่เลยไปถึงจังหวัดรายรอบอย่างชลบุรี จันทบุรี

    ปากน้ำประแสกลายเป็นที่พบกันระหว่างเมือง ป่า และแม่น้ำ เรือสินค้าใหญ่ที่มาจากกรุงเทพฯ นั้นมุ่งหมายจะบรรทุกของป่าจำพวกหวาย ชัน น้ำมันยาง หรือสมุนไพรต่างๆ กลับไป ขณะที่ข้าวของทันสมัยจากเมืองกรุงก็เดินทางมาพบกันที่นี่

    ประแสไม่ได้มีแต่เรือประมงที่ขวักไขว่ แต่มันเติบโตมาด้วยการซื้อ-ขายสินค้าและคมนาคมทางน้ำอย่างหลากหลาย มีเรือเมล์วิ่งขึ้นล่องจากหลายพื้นที่ นำพาสินค้าแปลกๆ และการเดินทางออกไปสู่ภายนอกมาให้พวกเขา คนรุ่นปู่ย่ายังจำได้ถึงเรือรีดังปากพนัง เรือภาณุรังสี เรือนิภา เรือวลัย ซึ่งบางลำนั้นวิ่งรับ-ส่งไกลจากกรุงเทพฯ ไปถึงสิงคโปร์
เรือเมล์พาผู้คนไปถึงเมืองกรุงได้ถึงท่าเรือตลาดน้อย โลกของการเดินทางนำพาให้ประแสคึกคัก เรื่องเล่ายามเรือต้องเผาหัวเครื่องดีเซลนับชั่วโมงด้วยฟืนไฟ ตกทอดเป็นความสนุกสนานต่างๆ ในตลาดของคนเดินทาง

    เรานั่งเล่นกันในร้านตัดเสื้อโบราณ ก่อนที่เรือนแถวและภาพการค้าอันตกหล่นมาจากวันวานจะชักพาให้ก้าวเดินไปตามถนนสายเล็กที่แต่เดิมเป็นเพียงสะพานไม้เลียบขนานแม่น้ำ



    
    ห้องแถวหลังต่างๆ เต็มไปด้วยความสวยงามอย่างที่มันเป็น ไร้ปรุงแต่ง ปรับเปลี่ยนซ่อมแซมไปตามกาลเวลา ร้านป้าอั้งยังคงขายเคยแห้ง กะปิเคียงคู่ไปกับร้านแหม่มที่อยู่ข้างๆ ส่วนร้านสมบูรณ์โอสถของหมอเต๋า ทุกวันนี้หลงเหลือเพียงเรื่องเล่าของร้านขายยาแผนโบราณให้คนรุ่นหลังได้เพียงไถ่ถามถึงตำรับยาต่างๆ



    
    ประแสเองเคยมีโรงแรมถึงสองแห่ง คือโรงแรมสุขสมบูรณ์ตั้งอยู่ตรงข้ามทางเข้าตลาดที่ทุกวันนี้กลายเป็นร้านค้าขายของจิปาถะ กระเบื้องหกเหลี่ยมสีน้ำตาลเข้มที่ปูพื้นยังคงมันวาว อีกโรงแรมหนึ่งที่เป็นโรงแรมแรกนั้นอยู่ถัดออกไปแถบปลายบ้านล่าง คือโรงแรมแสงมุกดาที่สร้างโดยนายสม มุกดาสนิท ทุกวันนี้คงเหลือเพียงเค้าโครงความโอ่อ่า ว่ากันว่ามันคือศูนย์รวมของชาวประมง เซลส์แมน มีอุปกรณ์จับสัตว์น้ำวางกันเรียงรายบ่งบอกถึงแขกผู้มาพัก

    เราเลาะลัดผ่านบ้านพิพิธภัณฑ์ เรือนปั้นหยาหลังใหญ่ที่ภายในจัดแสดงเรื่องราวของประแสหลากหลายมิติ มันอาจดูคล้ายพิพิธภัณฑ์ชุมชนทั่วไปเมื่อพบเห็น ทว่าเต็มไปด้วยความตั้งใจของคนประแสเอง ข้าวของและเรื่องเล่าบนผืนผนังไม้จึงเต็มไปด้วยความรื่นรมย์



    
    ภาพงานทอดผ้าป่าทางน้ำนั้นแสนตื่นตาและน่าจินตนาการตาม เรือหลายสิบลำลอยอยู่กลางแม่น้ำประแส บรรทุกพระสงฆ์เต็มลำ จากแต่เดิมที่หากบ้านใดมีงานบุญ ขึ้นบ้านใหม่ งานแต่ง ก็มักนิยมทอดผ้า เปลี่ยนแปลงไปเป็นปีละครั้ง ทว่ามันไม่เคยลดน้อยลงในเรื่องศรัทธาของผู้คนริมน้ำ

    จะว่าไปถนนสายสั้นๆ ที่นำพาย่านตลาดประแสให้มีอายุยาวนานนั้นเต็มไปด้ายเหลี่ยมมุมของอดีตที่หลายคนหวงแหนอยู่ตลอดเส้นทาง 

    เรือลำเล็กล่องไปตามแม่น้ำประแส ลัดเลาะเข้าสู่สายคลองที่โอบล้อม เหยี่ยวแดงถลาลมเหนือผืนป่าโกงกางที่แน่นขนัด ขณะเรากำลังเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในความสมบูรณ์ที่โอบล้อมหมู่บ้านชาวประมงที่ปากน้ำแห่งหนึ่งไว้อย่างกลมกลืน

    ในความเป็นแผ่นดินตรงเมืองท่า ประแสปรากฏตัวเองชัดเจนในฐานะแผ่นดินโบราณในจดหมายเหตุของพระอุบาลีที่เดินทางไปชมพูทวีปในแผ่นดินพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศแห่งกรุงศรีอยุธยา ต่อเนื่องมามีการจารึกและสะกดชื่อที่ต่างออกไป ทั้งประแสร์ หรือกระแส ด้วยหาความหมายในทางภาษาไทยไม่พบ ทว่าผู้อาวุโสสองท่านคือ พระครูประภัทรวิริยคุณ และ นายระวี ปัญญายิ่ง สองปราชญ์ผู้เชี่ยวชาญภาษาถิ่นได้วิเคราะห์ว่า คำว่าประแสน่าจะมาจากคำว่า “ปรีแชร์” หรือ “ฟรีแชร์” ในภาษาของชาวชอง ชาติพันธุ์ดั้งเดิมที่อาศัยอยู่แถบพื้นที่ภาคตะวันออกของไทย โดยเฉพาะระยองและจันทบุรี โดยมีความหมายว่าป่าทุ่งนา หรือป่าที่ถูกถางแล้ว ใช้สำหรับปลูกข้าว จะโดยใดก็ตาม ผืนแผ่นดินปากแม่น้ำอย่างประแสก็เต็มไปด้วยความสมบูรณ์ มันเป็นที่รวมกันของป่าชายเลน ที่ราบลุ่มริมแม่น้ำ รวมไปถึงผู้คนจากหลากหลายเชื้อชาติและถิ่นที่มา
 


    

    ความยาว 26 กิโลเมตรของแม่น้ำประแสที่ก่อเกิดจากป่าเขาจากเทือกเขาจันทบุรีพัดพาเอาแร่ธาตุที่มีความสำคัญในเชิงอาหารของสัตว์น้ำมาตกตะกอนอยู่ ณ ปากอ่าว ชีวิตชาวประมงของคนประแสจึงเต็มไปด้วยความหลากหลาย ทั้งเรือใหญ่ที่ออกทะเล ชาวบ้านยกกุ้งเคยที่ใต้ถุนบ้าน หรือเรือวางอวนวางทุ่นหาปู ปลา กุ้ง หอยที่ลอยลำยามเราผ่านไปพบเจอ

    เราล่องลึกจากหมู่บ้านทวนย้อนมาสู่ปากคลองแสม ผู้เฒ่าทะเลที่ถือหางเสือชี้ชวนให้ดูโรงสีข้าว โรงไม้ โรงเลื่อย ที่รกร้างริมตลิ่ง แนวป่าชายเลนที่เคยหดหายไปจากสายตาของคนที่นี่ครั้งยุคสัมปทานตัดไม้โกงกางทำถ่านเฟื่องฟูกลับตื่นฟื้น เราลัดเลาะเข้าไปเป็นหนึ่งเดียวกับมันในคลองแสม ผู้ยามสายตกทอดเป็นกลุ่มประมงพื้นบ้านนั่งแกะปูม้าจากอวนอยู่ตามชานบ้าน ขณะบางคนจ่อมจมกับการขุดหาหอยปากเป็ดในเลนดินริมตลิ่ง ภาพเช่นนี้ซ่อนพรางอยู่ในอาณาจักรของป่าชายเลนที่โอบล้อมประแสอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน

    จากป่าชายเลนชั้นนอกที่ดกดื่นอยู่ด้วยโกงกางใบใหญ่และโกงกางใบเล็ก ยึดโยงรากราวหนวดเคราของผู้เฒ่าในนิยายตะวันตก เราขึ้นฝั่งและเดินตามกันไปยังป่าโกงกางชั้นในสู่ทุ่งโปรงทอง หมุดหมายหนึ่งของผู้มาเยือนประแสที่ตั้งอยู่ไม่ไกลจากวัดตะเคียนงาม สะพานไม้พาไปพบกับโลกสีเขียวทองยามต้องแสงพรมเขียวขจี รอบด้านขึ้นคลุมด้วยไม้ชายเลนอื่นๆ อย่างแสมขาว แสมดำ ลำพู และถั่วขาว วงจรชีวิตอันเกื้อกูลของสังคมป่าเลนริมทะเลตกสะท้อนเป็นภาพสีเขียวราวอาณาจักรลึกเร้น
 


    

    จากที่ราบแผ่นดิน ไล่ลัดถัดเลยผ่านป่าโกงกางสู่แม่น้ำและทะเลกว้าง คล้ายการงานต่างๆ ค่อยร้อยโยงคนประแสเข้าด้วยกันอย่างกลมกลืน

    ขณะลอยลำเรือลอดสะพานประแสสิน (ประแส-เนินฆ้อ) ที่เพิ่งเปิดใช้และเชื่อมคนสองฝั่งแม่น้ำของประแสเข้าด้วยกัน ลมทะเลเปิดกว้าง หนุ่มจากฝั่งแหลมสนตกได้หมึกกล้วยตัวเขื่อง เรายิ้มทักทายและบ่ายหน้าออกไปมองหมู่บ้านประแสจากกลางทะเล เรือรบหลวงประแสจอดนิ่งสนิทเป็นพิพิธภัณฑ์ถาวรรับแดดเย็นอยู่ปากอ่าว

    คล้ายโลกอีกใบย่อส่วนและหลอมรวมกันอยู่ตรงปากแม่น้ำแห่งนั้น โลกที่ป่าชายเลน แม่น้ำ บ้านเรือน และผืนทะเลมีค่าเสียจนใครหลายคนสูญเสียมันไปไม่ได้

    เป็นโลกเล็กๆ หนึ่งใบที่หล่อหลอมให้ผู้คนในหมู่บ้านชาวประมงแห่งหนึ่งมีเรื่องเล่าเป็นของตนเอง
 
     How to Get There
     จากกรุงเทพฯ สะดวกที่สุดคือ ใช้ทางหลวงหมายเลข 7 (มอเตอร์เวย์) แยกออกที่อำเภอบ้านบึง จังหวัดชลบุรี จากนั้นใช้ทางหลวงหมายเลข 344 ผ่านอำเภอหนองใหญ่ อำเภอวังจันทร์ มาแยกขวาทางหลวงหมายเลข 3 (สุขุมวิท) ที่อำเภอแกลง วิ่งต่อไปถึงแยกประแส จากนั้นแยกขวาเข้าทางหลวงหมายเลข 3162 ถึงหมู่บ้านปากน้ำประแส
 
     Where to Stay
     บ้านก๋งจื้อโฮมสเตย์ สะอาดสะอ้าน ห้องพักสะดวกสบาย แอร์และห้องน้ำในตัว พร้อมบริการทริปท่องเที่ยวต่างๆ ในประแส โทรศัพท์ 09-2252-9618, 08-6111-8117 และ 08-4873-3883 เฟซบุ๊ก : บ้านก๋งจื้อ โฮมสเตย์ ปากน้ำประแสร์
โฮมสเตย์อื่นๆ ชานสมุทรโฮมสเตย์ โทรศัพท์ 08-1209-2108 แสงมุกดาโฮมสเตย์ โทรศัพท์ 08-1399- 8756 เกดแก้วโฮมสเตย์ โทรศัพท์ 08-9244-4267 

     Where to Eat 
     ประแสมีของกินเพลินๆ ให้เลือกชิมได้ทั้งวัน ตั้งแต่กาแฟโบราณ โจ๊ก ข้าวเหนียวหมูปิ้งป้าจำรัส หรือแจงลอนปลาอินทรีย่างหอมๆ ที่ตลาดเช้า เดินเลาะห้องแถวไปทางบ้านล่าง มีก๋วยเตี๋ยวทะเล ร้านน้ำหวานที่ริมคลอง ร้านเค้กครูเบญจา ร้านหน่องแซ่บเวอร์ ที่เสิร์ฟอาหารตามสั่ง ข้าวขาหมู ก๋วยเตี๋ยวทะเลรสจัดจ้าน
     บริเวณสามแยกก่อนทางเข้าหมู่บ้านมีร้านครัวย่าฉิม ขายอาหารตามสั่ง อาหารทะเลพื้นบ้านรสชาติอร่อย แนะนำแกงส้มผักกระชับ ปลาอินทรีทอดน้ำปลา หมูผัดกะปิ ฯลฯ
     ทุกวันศุกร์-เสาร์สุดท้ายของเดือนมีการจัดงานถนนคนเดินปากน้ำประแส มีของกินอร่อยๆ จากชาวบ้านขายเรียงรายตลอดสองฟากห้องแถวไม้ที่สวยงดงาม พร้อมการแสดงทางวัฒนธรรม ดนตรี และการตกแต่งบ้านเรือนงดงาม
 
 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลเพื่อธุรกิจเอสเอ็มอี