Q-Life

สำรวจตัวเองว่า “ติดหวาน” หรือไม่

Text : Morning dew


 

     สังเกตไหมว่าคนสมัยนี้เสพติดความหวานมากขึ้น อาการติดหวานอาจดูเหมือนไม่ร้ายแรงเท่ากับการติดยาเสพติด แต่น้ำตาลน่ากลัวกว่าตรงที่ทำให้ผู้คนเสพติดได้ง่ายและเร็วกว่า แถมความหวานอันเป็นบ่อเกิดของโรคภัยต่างๆ ขนาดองค์การอนามัยโลกยังมีคำแนะนำให้ประชาชนไม่ควรบริโภคน้ำตาลเกินวันละ 6 ช้อนชา

     ลองสำรวจตัวเองดูว่าคุณมีอาการเสพติดอาหารหรือไม่ โดยการตอบคำถามต่อไปนี้ว่า “ใช่” หรือ “ไม่”

     1. เวลาหยิบคุกกี้หรือขนมหวานที่ตุนไว้ในขวดหรือกล่อง บ่อยครั้งที่ล้วงไปแล้วพบว่ามันหมดแบบไม่รู้ตัว

     2. คุณสามารถกินข้าวหรืออาหารจำพวกแป้งได้ในปริมาณที่เยอะมาก

     3. อุตส่าห์จำกัดอาหารหลัก แต่พอเจอของว่างจำพวกขนมกรุบกรอบ กลายเป็นกินแบบเบรกแตกคุมไม่อยู่

     4. เมื่อต้องการลดน้ำหนัก สำหรับคุณการอดอาหารทั้งหมดง่ายด้วยการแบ่งเป็นมื้อย่อยๆ แล้วกินทีละน้อย

     5. เหน็ดเหนื่อยตลอดเวลา กิจกรรมที่ชอบ อยากทำ แต่ไม่มีแรง

     6. ตั้งใจจะชิมอาหารหรือขนมแค่ชิ้นเดียว แต่ลงท้ายด้วยชิ้นต่อๆ มาจนหมดจาน

     7. กินจุบจิบ เหมือนจะกินไม่เยอะ แต่กินได้ทั้งวันจนถึงก่อนเข้านอน

     8. อยู่ต่อหน้าคนอื่นฝืนกินอาหารเพื่อสุขภาพ แต่พออยู่คนเดียว ปรนเปรอตัวเองเต็มที่

     มาดูคำตอบกัน ถ้าตอบ “ใช่” เกิน 4 ข้อขึ้นไป น่าจะเข้าข่ายเสพติดอาหาร อย่าลืมว่าอาหารส่วนใหญ่มักประกอบด้วยคาร์โบไฮเดรตซึ่งเมื่อย่อยแล้วกลายเป็นน้ำตาล ยังไม่รวมน้ำตาลที่เป็นส่วนผสมในอาหารชนิดต่างๆ การรับประทานอาหารมากเกินไปจึงมีโอกาสที่ร่างกายจะได้รับน้ำตาลมากตามไปด้วย ซึ่งพอถึงเวลานั้น ร่างกายจะส่งสัญญาณให้เห็น เช่น ตุ่มรับรสบนลิ้นเริ่มเพี้ยน ชินกับรสหวานจนกินยังไงก็ไม่รู้สึกหวาน ต้องเติมน้ำตาลให้มากกว่าเดิม เป็นหวัดบ่อยเนื่องจากน้ำตาลลดภูมิคุ้มกันในร่างกาย เป็นผลให้เกิดการอักเสบและเจ็บป่วยง่ายกว่าเดิม ผิวพรรณไม่ผ่องใส เหี่ยวง่าย และอาจทำให้เกิดผดผื่น ทั้งนี้น้ำตาลจะทำปฏิกิริยากับโปรตีน ส่งผลให้โครงสร้างคอลลาเจนและอิลาสตินไม่แข็งแรง และหากตรวจร่างกายอาจพบระดับไขมันไตรกลีเซอไรด์ที่สูงขึ้น

     ต่อให้ไม่เป็นคนที่ติดหวาน แต่การลดการบริโภคน้ำตาลก็เป็นสิ่งที่จำเป็นและควรกระทำอย่างชาญฉลาด เช่น อ่านฉลากให้รู้ว่าอาหารที่กำลังจะซื้อนั้นมีปริมาณน้ำตาลมากน้อยน่าสะพรึงแค่ไหน น้ำตาลที่เป็นส่วนผสมในอาหาร มีหลากหลายชื่อขึ้นอยู่กับวัตถุดิบและกรรมวิธีในการผลิต เช่น โมลาสคือ กากน้ำตาลที่เป็นผลพลอยได้จากอ้อย HFCS หรือ High Fructose Corn Syrup น้ำเชื่อมฟรุกโตสเข้มข้นสูงได้จากข้าวโพดที่นิยมใช้ในอุตสาหกรรมผลิตเครื่องดื่มและน้ำอัดลม ไปจนถึงคำแปลกๆ ที่ลงท้ายด้วย -ose เช่น Dextrose, Maltose, Glucose, Sucrose, Fructose ก็ล้วนแต่เป็นน้ำตาลที่แฝงมาในอาหารทั้งสิ้น
 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลเพื่อธุรกิจเอสเอ็มอี