Q-Life

ปั่นจักรยานกลางบ้านทุ่ง ที่เกาะเทโพ



Text : ฐากูร โกมารกุล ณ นคร
Photo : ธีระพงษ์ พลรักษ์

     ริมแม่น้ำนั้นรื่นรมย์เสมอ ไม่ว่าเราจะเลือกมาหามันในห้วงเวลาใด
     
     บางครั้งเราเลือกมาหาแง่มุมสงบงาม เพียงเพื่อตอบคำถามให้ชีวิตว่า สิ่งใดกันแน่ผลักดันให้หลายต่อหลายคนเลือกออกเดินทาง
     
     และมากกว่านั้น สำหรับบางพื้นที่ที่เต็มไปด้วยความเรียบนิ่ง คล้ายไม่ได้ยี่หระเอากับการเคลื่อนไปของวันคืน หลายชีวิตตรงนั้นจำเป็นหรือไม่ที่ต้องนิยามผูกมัดตัวเองไว้กับการขับเคลื่อนเดินทาง
     
     เป็นต้นว่า…
     
     จักรยานเรียบง่าย ไร้รูปแบบของความเป็นมืออาชีพ ทว่ามันก็พาเราเลาะไปตามลำน้ำสายโบราณที่หุ้มห่มเมืองงามอย่างอุทัยธานีไว้อย่างรื่นรมย์
   
     ถนนศรีอุทัยยังพาเราผ่านไปในความเป็นเมืองริมน้ำของอุทัยธานี จิตรกรรมฝาผนังของวัดพิชัยปุรณารามยังคงเล่าเรื่องราวเก่าแก่เรื่องพระมาลัย รวมไปถึงภาพบุคคลชาวลาวเวียงที่สะท้อนอยู่ในการเกล้าผมขมวดเป็นจุก นุ่งซิ่น การละเล่นต่างๆ มันงดงามไม่ต่างงานปูนปั้นพลิ้วไหวตามกรอบประตู หน้าต่างของวัดธรรมโฆษก ด้านในโบสถ์เล่าเรื่องราวของชาวจีนและการค้าข้าวในลำน้ำสะแกกรังไว้ที่จิตรกรรมฝาผนัง
     
     อีกฟากด้านแม่น้ำของเมืองอุทัยคือเกาะเทโพ พื้นที่สีเขียวอันเป็นอู่ข้าวอู่น้ำของพวกเขา ถนนสายเล็กพาเราจูงจักรยานข้ามสะพานวัดโบสถ์ไปยังวัดอุโปสถารามในห้วงยามบูรณะ กระนั้นก็ตามอาคารมณฑปแปดเหลี่ยมก็ยังคงวางตัวโดดเด่นอยู่ริมแม่น้ำ มันถูกสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 ต่อยอดความงามของวัดที่เก่าแก่มาแต่แผ่นดินธนบุรีต่อต้นสมัยรัตนโกสินทร์
               
     ไบค์เลนสายเล็กนำพาเราเข้าไปเป็นหนึ่งเดียวกับเกาะเทโพ เราผ่านอุโมงค์ต้นไม้หน้าพญาไม้รีสอร์ท ต้นยางนาโบราณขึ้นคลุมสองข้าง ไม้ใหญ่สอดสานเป็นร่มเขียวครึ้ม รายทางไล่เรียงด้วยสวนผลไม้ สวนมะนาว ห่มซ่อนภาพแพกระชังปลาตรงริมน้ำไว้จนมิดชิด

     แผ่นดินที่ราบซึ่งโอบล้อมอยู่ด้วยแม่น้ำสองสายหลักของอุทัยอย่างสะแกกรังและเจ้าพระยา ไร่ข้าวโพดสลับทุ่งนากว้างไกลลิบลับดวงตาเป็นภาพแรกๆ ของเกาะเทโพเมื่อวงล้อของรถกระบะคันเล็กๆ ได้เข้าไปหมุนแล่น
               
     แต่เดิมกายภาพของเกาะเทโพมีลักษณะเป็นแหลม ต่อมาเมื่อมีการขุดคลองเชื่อมแม่น้ำทั้งสองสายทางตอนเหนือ เพื่อประโยชน์ในการส่งน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาเข้ามาหนุนในยามที่แม่น้ำสะแกกรังมีน้ำน้อย ทำให้แผ่นดินที่เป็นแหลมถูกตัดกลายเป็นเกาะที่มีลักษณะเป็นรูปสามเหลี่ยม
               
     สองฟากด้านสลับเรือกสวนและไร่นาสีเขียวรื่นในฤดูฝน นกกระจาบทองบินและกระติ๊ดขี้หมูบินร่อนหากิน ตรงโค้งก่อนถึงวัดขุมทรัพย์เราเวียนแวะขึ้นไปมองลำน้ำสะแกกรังเหนือสะพานแขวน แนวสลิงและแผ่นไม้ให้อารมณ์สนุกสนานยวบยาบสมกับที่ชาวบ้านเรียกกันว่าสะพานโยน



     แผ่นดินเปลี่ยน แต่ชีวิตไม่ได้หักเหไปในทิศทางอื่น
               
    ลมบ่ายเหนือทุ่งข้าวไล้เนื้อตัว เราผ่านพาตัวเองไปบนพื้นที่เพาะปลูกอันหลากหลายของเกาะเทโพ แวะถามไถ่มิตรเก่าที่บ้านธูปทองตะนาว หลังภาวะบอบช้ำจากอุทกภัยเมื่อปี พ.ศ.2554 อรรคภพ ทองตะนาว และคนบนเกาะเทโพต่างต้องหยัดยืนขึ้นอีกครั้งหลังภาวะแทบสิ้นไร้เดินทางมาหาพวกเขาพร้อมผืนน้ำ
               
     หลังตั้งหลักพร้อมๆ กับเหล่าพี่น้องบนเกาะเล็กๆ แนบสองสายน้ำ เขาเลือกเปลี่ยนจากธูปหอมย้อมสีงดงามมาสู่ธูปออร์แกนิก ใช้ขี้เถ้าและซังข้าวโพดเป็นเนื้อธูป แบ่งระดับเป็นธูปบูชาและธูปหอม ความหวังค่อยก่อรูปในแววตานักสู้กลางไร่นา
               
     เลาะตามหลืบซอยเลียบเจ้าพระยาตรงหัวเกาะเทโพ ฝั่งตรงข้ามคือเขตจังหวัดชัยนาท ร้านอาหารเมนูปลาแม่น้ำเรียงรายพร้อมผู้คนมาเยือนไม่ขาดสายก่อนป่าไผ่ครึ้มเขียว เมื่อเราเวียนกลับมาขนาบข้างฝั่งสะแกกรังที่บ้านท่าดินแดง ไผ่ที่เบียดอัดกันอยู่ริมน้ำ กลายเป็นตอกไผ่ และเป็นงานจักสานที่หล่อเลี้ยง วรรณา ท้าวทอง มาตลอดห้วงชีวิต

     ลานดินหน้าบ้านที่มีนาข้าวแผ่กว้างนั้นเต็มไปด้วยตอกที่วรรณาตากแดดไว้เตรียมจะนำมาสานเป็นเสื่อลำแพน งานฝีมือเลื่องลือของบ้านท่าดินแดงบนเกาะเทโพ “ที่เห็นเป็นผนังบ้านนั่นก็สานเอง เลือกตอกหนาหน่อยพอกันลมกันฝน” แม้จะดูไม่แข็งแรงนักในสายตาคนนอก แต่เธอยืนยันว่า มันกันร้อนกันหนาวได้ดีสำหรับครอบครัว

     คนท่าดินแดงนอกจากทำนาเหมือนคนทั่วๆ ไปบนเกาะเทโพแล้วยังมีงานจักสานเสื่อลำแพนเป็นอีกหนึ่งอาชีพหลัก หรือจะพูดกันตามตรงอย่างที่วรรณาบอกก็เห็นจะต้องบอกกันว่า ที่นี่สานเสื่อลำแพนกันมากกว่าทำนาเสียอีก

    “สานกันตั้งแต่มารับกันทางเรือ จากนครสวรรค์ก็มา กำแพงเพชรก็มา เดี๋ยวนี้รถเข้าถึงก็มาเทียบที่หน้าบ้าน” หากดูผ่านๆ งานจักสานของคนท่าดินแดงคล้ายจะเป็นอาชีพเสริม แต่เอาเข้าจริงๆ ระบบระเบียบนั้นมีอยู่ค่อนข้างมาก “กลางวันจัก กลางคืนสาน สามสี่วันออกไปตัดไผ่ที ยังไม่นับช่วงตากที่ต้องระวังฝน เวลาเก็บก็ต้องระวังมอดอีก”

     ใครสักคนถามเธอว่ารายได้จากเรื่องจักสาน หรือปลาในกระชังเล็กๆ ที่เธอเจียดเงินไปเลี้ยงไว้ตรงท่าน้ำหน้าบ้านนั้นเอาเข้าจริงๆ แล้วพอไหม วรรณาเอ่ยราบเรียบราวกับว่ามันเป็นเรื่องธรรมดา “ไม่เป็นไรหรอก เราไม่ค่อยได้เดินทางไปไหน ชีวิตริมน้ำริมทุ่งมันก็อยู่ได้ของมันอยู่แล้ว”
               
     ระหว่างชื่นชมทิวตาลยืนต้นเกาะกลุ่มเด่นเหนือนาข้าวแถบบ้านตะโกสูง เสียงเพลงบ้านทุ่งแว่วไกลจากตลาดนัด นาทีเช่นนั้นเรานึกถึงรูปแบบชีวิตอันหลากหลายที่ประกอบกันขึ้นบนเกาะเทโพ

     ชีวิตเป็นเรื่องของการค้นหาที่ทางอันพอดีพอเหมาะ อิสระ แปลกแยกแตกต่าง บางคราวก็อาจไร้รูปแบบ ไม่จำเป็นต้องเป็นตัวอย่างระหว่างกันและกัน

     แต่ทั้งหมดต่างก็ล้วนเติบโตผสมผสานกันไปได้อย่างกลมกลืน

 
     How to Get There
               
     จากกรุงเทพฯ ใช้ทางหลวงหมายเลข 32 (สายเอเซีย) ผ่านพระนครศรีอยุธยา อ่างทอง สิงห์บุรี ชัยนาท แยกเข้าทางหลวงหมายเลข 333 ตรงทางแยกท่าน้ำอ้อย บริเวณหลักกิโลเมตรที่ 206 ข้ามสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาอีกราว 16 กิโลเมตร เข้าตลาดเก่าอุทัยธานี รวมระยะทาง 222 กิโลเมตร
               
     อุทัยธานีมีเส้นทางปั่นจักรยานให้เที่ยวมากมาย ทั้งเที่ยวเมือง เที่ยวทุ่งที่ฝั่งเกาะเทโพ หรือปั่นเลาะเที่ยวสวนผลไม้และแหล่งงานหัตถกรรมมากมาย สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานอุทัยธานี โทรศัพท์ 0-5651-4651-2



     Where to Stay

     อุทัยริเวอร์เลค รีสอร์ท ที่พักพรั่งพร้อมความสะดวกสบาย บรรยากาศดีบนเกาะเทโพ โทรศัพท์ 0- 5698-0044 และ 08-1886-5793 เฟซบุ๊ก : www.faceboook.com/uthairiverlake Line : uthairiverlake
อยู่แพ Paestay เรือนแพพักแสนสบาย ตกแต่งสวย สงบเงียบริมแม่น้ำสะแกกรัง โทรศัพท์ 08-6674-9494 เฟซบุ๊ก : อยู่แพ paestay



     Where to Eat
               
     อุทัยธานีเต็มไปด้วยของอร่อยตั้งแต่เช้าจดเย็น ตั้งแต่ข้าวมันไก่โกตี๋หน้าแบงก์ทหารไทย บะหมี่เจ้เน้ย บะหมี่มีนา บะหมี่ฮ่องเต้ ในตรอกโรงยามีของอร่อยให้เลือกลอง เช่น ก๋วยเตี๋ยวไก่เจ๊โหนก ข้าวต้มร้านหน่อย ขนมแคะยายเตียง เม้งเป็ดพะโล้ ป้าดาปลาลวก เลือกซื้อขนมเปี๊ยะร้านไซโอ้และร้านดวง ขนมปังสังขยา ข้าวกุ้งกรอบ ร้านไพพรรณและร้านป่วยลั้ง
               
     ชอบอาหารเมนูปลา บนเกาะเทโพมีร้านอาหารริมแม่น้ำบรรยากาศดีให้เลือกลองหลายร้าน แนะนำร้านป้าสำราญ


www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี