Q-Life

อัตวินิบาตกรรม สัญญาณที่ไม่ควรมองข้าม





     ข้อมูลจากกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ระบุการถ่ายทอดสดการฆ่าตัวตายผ่านสังคมออนไลน์เริ่มปรากฏให้เห็นมากขึ้น เฉลี่ยเดือนละ 1-2 ราย ซึ่งการถ่ายทอดสดลักษณะนี้ ไม่สามารถตัดต่อหรือเซ็นเซอร์ได้ในขณะออกอากาศ หากมีผู้ติดตามจำนวนมาก ย่อมส่งผลให้เกิดการฆ่าตัวตายเลียนแบบ (Copycat Suicide) หรือชี้นำให้เกิดการฆ่าตัวตายตาม
               
     เจ้าหน้าที่กรมสุขภาพจิตเปิดเผยว่า ตั้งแต่ปี พ.ศ.2557 เป็นต้นมา พบว่า คนไทยเสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายราว 4,000 คนต่อปี หรือกว่า 300 คนต่อเดือน ถือเป็นอันดับ 3 ของโลก รองจากสวีเดน สแกนดิเนเวีย และญี่ปุ่นที่มีอัตราการฆ่าตัวตายมากสุดในโลก
               
     เมื่อพูดถึงการฆ่าตัวตาย หนึ่งในสาเหตุใหญ่ที่นำไปสู่อัตวินิบาตกรรมคือ โรคซึมเศร้า หลายฝ่ายพยายามให้ความรู้เกี่ยวกับโรคนี้ ทำให้เป็นที่ตระหนัก เข้าใจ และสนใจในโรคซึมเศร้ากันมากขึ้น โรคนี้นำไปสู่ความเสี่ยงสูงในการฆ่าตัวตาย วิธีลดความเสี่ยงคือ คนรอบตัวต้องรู้ว่าปัจจัยเสี่ยงมีอะไรบ้าง และเมื่อเห็นสัญญาณเตือน ควรรับมืออย่างไร
               
     สำหรับปัจจัยเสี่ยงที่นำไปสู่การกระทำอัตวินิบาตกรรมของคนหนึ่ง ได้แก่ เคยพยายามฆ่าตัวตายมาแล้วอย่างน้อย 1 ครั้ง ครอบครัวมีประวัติความผิดปกติทางจิตและอารมณ์ คนในครอบครัวมีประวัติฆ่าตัวตาย มีประวัติการใช้ความรุนแรงในครอบครัว เคยถูกประทุษร้ายทางกายหรือล่วงละเมิดทางเพศ เจ็บป่วยด้วยอาการเรื้อรังรักษาไม่หาย เป็นต้น
               
     ส่วนสัญญาณเตือนนั้น เพื่อน คนใกล้ตัว คนในครอบครัวอาจสังเกตจากพฤติกรรมหรือคำพูดที่ไม่เคยเป็นมาก่อน เช่น มักพูดหรือนึกถึงความตายบ่อยๆ ทำตัวเหมือนไม่แคร์กับการมีชีวิตอยู่ เช่น ขับรถเร็ว ขับรถฝ่าไฟแดงที่นำไปสู่อุบัติเหตุร้ายแรง เลิกสนใจกิจกรรมที่เคยชอบ แสดงออกถึงความหมดอาลัยตายอยาก ไม่มีความสุขผ่านคำพูดหรือสเตตัสบนโซเชียลเน็ตเวิร์ก หรือใช้คำพูดแปลกๆ เช่น ถ้าไม่มีตัวเองสักคน ทุกอย่างคงดีขึ้น อารมณ์แปรปรวนง่าย เดี๋ยวเศร้าเดี๋ยวสุข ปัจจัยเสี่ยงหรือสัญญาณเตือนที่ยกตัวอย่างมาข้างต้นอาจจะไม่ใช่ดัชนีวัดที่แม่นยำทั้งหมดในการบ่งชี้พฤติกรรมที่ทำให้เกิดการฆ่าตัวตาย แต่ก็ไม่อยากให้มองข้ามหรือละเลย หากพบว่า เพื่อนหรือคนใกล้ตัวมีแนวโน้มหรือส่ออาการตามที่กล่าวมา ควรให้ความสนใจเพื่อป้องกันจะดีกว่า โดยพูดคุยและแสดงให้เจ้าตัวรับรู้ว่ามีคนรักมีคนห่วงใย แต่อย่าไปห้ามปรามหรือตำหนิความคิดของเขา แม้สุดท้ายจะไม่มีอะไรเกิดขึ้น แต่การเฝ้าระวังก็ดีกว่าเพิกเฉยแล้วปล่อยให้เกิดเหตุการณ์ที่นำไปสู่โศกนาฏกรรมในภายหลัง การดูแลใส่ใจ แม้เพียงเล็กน้อยก็อาจทำให้ช่วยชีวิตคนคนหนึ่งไว้ได้
 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี