Q-Life

รับมืออย่างไรเมื่อถูกตะโกนใส่หน้า


 
             



     ท่ามกลางความสัมพันธ์และการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ เป็นเรื่องยากที่จะหลีกเลี่ยงการปะทะกัน ไม่ว่าจะเป็นการปะทะจากคนคุ้นเคย หรือจากคนแปลกหน้า อากัปกิริยาอย่างหนึ่งที่มักนำไปสู่เหตุการณ์ที่เลวร้ายขึ้นคือ การตะคอก ตวาด ตะโกนใส่ ไม่ว่าจะเป็นคำไหน แต่โดยสรุปก็คือ การพูดเสียงดังอย่างมีอารมณ์ด้วยความโมโหหรือไม่พอใจ การกระทำเช่นนั้น ทางจิตวิทยาว่าเป็นการแสดงอำนาจเหนือกว่าเพื่อควบคุมหรือข่มขวัญอีกฝ่าย หรืออาจจะเป็นการข่มขู่เพื่อให้อีกฝ่ายทำตามที่ตนต้องการ 

     ในการใช้ชีวิตประจำวัน มันมีโอกาสที่เราจะเจอเหตุการณ์แบบนี้ แล้วเราควรต้องรับมืออย่างไรไม่ให้บานปลายไปกว่านั้น มาดูวิธีรับมือดีกว่า เจอเข้าแบบนี้ สิ่งที่ต้องทำคืออะไร     

     ใช้ความนิ่งสยบความเคลื่อนไหว เมื่ออีกฝ่ายกำลังร้อน เราต้องเย็นกว่า การสาดคำพูดกลับไป เท่ากับเป็นการราดน้ำมันเข้ากองไฟ เมื่อเห็นคนกำลังฟาดงวงฟาดงา ให้คิดเสียว่าปัญหาอยู่ที่คนคนนั้น ไม่ใช่เรา พยายามนิ่งเข้าไว้ ถ้ายิ่งตอบโต้ก็จะทำให้สถานการณ์แย่หนักกว่าเดิม และนำไปสู่การทะเลาะวิวาทได้

     สติมาปัญญามี ใช้ความสุขุมคัมภีรภาพในการประเมินสถานการณ์ว่าจะเดินเกมอย่างไรจึงจะทำให้เหตุการณ์สงบโดยเร็ว ถ้าฝ่ายตรงข้ามไม่ใช่คนสำคัญในชีวิต ไม่ใช่คนที่เราแคร์ อย่าสนใจ ไม่ต้องต่อล้อต่อเถียง ให้เดินออกไปจากตรงนั้นเพื่อลดแรงปะทะ แต่ถ้าเป็นคนคุ้นเคย คนใกล้ชิด ก็ให้เพิ่มความอดทน และพยายามคุยกันด้วยเหตุผล   

     ไม่จำเป็นต้องยอมทุกครั้ง หากการขึ้นเสียง การส่งเสียงดังเป็นการแสดงออกเพื่อเรียกร้องบางสิ่งบางอย่าง แล้วเรายอมทำตาม จะทำให้เกิดการย่ามใจ เป็นการบ่มเพาะนิสัยไม่ดี หากเราคิดว่าเป็นฝ่ายถูกต้อง ควรแสดงออกให้ฝ่ายมันไม่โอเค และเรายอมรับไม่ได้ โดยชี้แจงอย่างใจเย็นและสุภาพ

     ยอมถอยและเป็นฝ่ายขอโทษ บางครั้งการใช้ไม้แข็งก็ไม่เป็นประโยชน์ ยอมลดอัตตา ลดทิฐิ และกล่าวคำขอโทษ อาจทำให้อารมณ์ของอีกฝ่ายเย็นลง สงบขึ้น และเหตุการณ์คลี่คลายในทางที่ดี  

     พักสงบสติอารมณ์ เคสนี้ใช้กับคนที่ใกล้ชิดกันพอสมควร เรียกว่าสนิทพอจะบอกกันตรงๆ ว่า ขอเวลาปรับอารมณ์ ต่างฝ่ายต่างแยกย้ายไปอยู่คนละมุมก่อน เมื่ออยู่ในสภาพที่พร้อมและหัวไม่ร้อนแล้วค่อยมานั่งจับเข่าคุยกันในสภาพที่สติสัมปชัญญะครบครัน

     เมื่อรับมือกับคนประเภทเวลาโมโหแล้วชอบขึ้นเสียง ตวาด หรือตะคอกแล้ว ก็อย่าลืมสำรวจโดยสอบถามคนรอบข้างว่า ตัวเรานั้นก็มีพฤติกรรมเช่นนั้นด้วยหรือไม่ ถ้ามี เราพอจะปรับได้ไหม ถ้าคิดว่าแก้ไขไม่ได้ ลองปรึกษาจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาดู หากจำเป็นอาจต้องบำบัดด้วยการเข้าคอร์ส Anger Management เพื่อจัดการกับความโกรธที่ครอบงำจิตใจจนทำให้เกิดพฤติกรรมที่ไม่น่ารัก    


www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี