Q-Life

​“เกลือหิมาลายัน” ดีจริงหรือไม่?





 

     ช่วงหลายปีมานี้จะเห็นกระแสเกลือหิมาลายัน หรือเกลือสีชมพูเป็นที่นิยมและใช้กันแพร่หลาย เกลือหิมาลายันมีต้นกำเนิดจากเทือกเขาหิมาลัยในประเทศปากีสถาน ซึ่งกว่าจะได้มานั้นต้องผ่านการระเหยของน้ำทะเลเป็นเวลากว่า 250 ล้านปีก่อน จนกลายเป็นผลึกเกลือสีชมพูที่ประกอบด้วยแร่ธาตุถึง 84 ชนิด จึงถูกชูจุดขายว่าเกลือเพื่อสุขภาพ บางเจ้าก็อวดอ้างสรรพคุณว่ารักษาโรคต่างๆ ได้ จึงทำให้เกิดความสงสัยว่าสารพัดประโยชน์ที่มีการกล่าวถึงเกี่ยวกับเกลือหิมาลายันนั้นแฝงความจริงมากน้อยแค่ไหน ไปดูความเห็นอีกด้านของคนที่ไม่ได้มีส่วนได้ส่วนเสียกับธุรกิจซื้อ-ขายเกลือดังกล่าวกัน

     แอดมินเพจ “เคมีฟิสิกส์ของสิ่งทอ อาหาร และของรอบตัว” อธิบายว่า “องค์ประกอบของเกลือหิมาลายันนั้นก็จะมีโซเดียมคลอไรด์ (NaCl) ที่เป็นเกลือเค็มๆ ถึงประมาณ 98 เปอร์เซ็นต์เลยทีเดียว และจะมีแร่ธาตุอื่นปะปนอยู่บ้าง เช่น โครเมียม (Cr), เหล็ก (Fe), สังกะสี (Zn), ตะกั่ว (Pb) และทองแดง (Cu) เลยทำให้มีสีชมพู ซึ่งก็มีบทความโฆษณาว่าดีต่อสุขภาพมากกว่าเกลือธรรมดาอย่างมากมาย แต่ปรากฏว่าแทบจะไม่พบหลักฐานทางวิทยาศาสตร์เลยว่าแร่ธาตุที่ปะปนมานั้นจะดีต่อสุขภาพกว่าการบริโภคเกลือราคาถูกๆ กันเลย

     นอกจากนั้น ยังพบว่าแร่ธาตุหลายๆ ชนิดที่ปะปนในเกลือหิมาลายันนั้นอาจจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพได้ โดยเฉพาะตะกั่วที่ปะปนมา ทำให้เกลือที่ขุดได้บางแหล่งไม่สามารถบริโภคได้อย่างปลอดภัยหากว่าไม่กำจัดสิ่งเจือปนอย่างโลหะหนักเหล่านี้ก่อน ซึ่งในงานวิจัยหลายๆ งานนั้นถึงกับเคลมว่า แม้ว่าเกลือหิมาลายันที่กำจัดสิ่งเจือปนที่เป็นอันตรายออกแล้วนั้นจะสามารถใช้ปรุงอาหารได้รสชาติดี เนื่องจากมีรสชาติที่ไม่เค็มจัดเท่าเกลือบริสุทธิ์ แต่ก็ไม่ค่อยต่างจากเกลือสินเธาว์/เกลือสมุทรบ้านเรา แล้วแถมไม่มีหลักฐานว่าจะดีต่อสุขภาพกว่าเกลือราคาถูกธรรมดาอย่างที่โฆษณากัน”

     ขณะที่ “บังก้อง” เจ้าของเพจ Schwedakong อดีตคนดังแห่งห้องก้นครัวพันทิปผู้ใฝ่ศึกษาเกี่ยวกับอาหารและเครื่องปรุงรสพูดถึงเกลือหิมาลายันว่า “เกือบๆ 100 เปอร์เซ็นต์ มันเป็นโซเดียมนั่นหละ มันไม่ได้สุขภาพอะไร มันอัพราคา ที่เหลือมันองค์ประกอบย่อย ทั้งขนาดผลึก ทั้งการยิงประจุให้ผลึกแตกตัว มันเลยทำให้เค็มช้าเร็วไม่เท่ากัน น้ำที่ใช้ทำก็มีส่วนเยอะ ใสไม่ใสใครจะใช้ก็ใช้ ผมคนหนึ่งที่ไม่ได้อินอะไรกะมันมาก เลือกเกลือตามขนาดที่เหมาะสมกับอาหารก็หรูแล้ว”

     ด้านจ่าพิชิตเจ้าของเพจ Drama Addict ที่ตัวจริงเสียงจริงมีดีกรีเป็นนายแพทย์เขียนถึงเกลือหิมาลายันดังนี้ “ส่วนคนที่เป็นโรคความดันแล้วอยากเอาเกลือหิมาลายันมาใช้ ลองดูเปอร์เซ็นต์ โซเดียมในเกลือปกติจะมีโซเดียม 39.1 เปอร์เซ็นต์ ก็ประมาณเกลือ 6 กรัม มีโซเดียมประมาณ 2,400 มิลลิกรัม ส่วนเกลือหิมาลายัน มีโซเดียม 36.8 เปอร์เซ็นต์ ก็ประมาณว่า ถ้าเกลือ 6 กรัม มีโซเดียม 2,200 กรัม น้อยกว่าพอสมควร ถ้าเอามาใช้แทนเกลือปกติ ในการทำอาหารตามปกติ ในปริมาณปกติ ก็สามารถลดโซเดียมได้นิดหน่อย ถือว่าเป็นตัวเลือกที่ช่วยคุมปริมาณโซเดียมได้อีกนิดหนึ่ง แต่ไม่ใช่กินอาหารตามปกติแล้วเอาเกลือหิมาลายันมากินเสริมเพราะเชื่อว่ามันลดความดันได้ แบบนั้นโซเดียมเกินแน่”

     โดยสรุปเกลือหิมาลายันอาจจะอุดมด้วยแร่ธาตุ มีความเค็มน้อยกว่าเกลืออื่นจึงทำให้รสชาติดี แต่เกลือก็คือเกลือ เพื่อสุขภาพที่ดีตามที่ทางการรณรงค์ “ลดเค็ม ลดโรค” คำแนะนำคือวันหนึ่งไม่ควรกินโซเดียมเกิน 2.4 กรัม เทียบเป็นเกลือแกง 6 กรัม หรือเท่ากับ 1 ช้อนชาพูน


www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup