Starting a Business

สานฝันสาวรักษ์ธรรมชาติ กับ ฟาร์มออร์แกนิกเพื่อสังคม


เรื่อง : ยุวดี ศรีภุมมา
ภาพ : กฤษฎา ศิลปไชย



    ด้วยความคิดที่อยากจะสร้างประโยชน์บนที่ดินรกร้างของตนเองย่านหนองแขม ด้วยการปลูกผักแบบออร์แกนิก เป็นเหตุให้เรา ต้องนำพา “สุภนิช อิศรานุกรณ์” หรือ “ใหม่” เจ้าของความฝันแต่ยังขาดความรู้ ไปพบกับ “นคร ลิมปคุปตถาวร” หรือ “ปริ๊นซ์” เจ้าของ “ศูนย์เรียนรู้เกษตรในเมือง สาขาเจ้าชายผัก” ณ ซอยลาดพร้าว 71 ผู้ที่จะมาให้ความรู้เรื่องฟาร์มออร์แกนิกได้อย่างดีเยี่ยม ในฐานะที่เป็นผู้จัดอบรมทางด้านการเกษตรและได้รับความนิยมในช่วงที่ผ่านมา 

 


ใหม่ 

“ใหม่มีที่ดินรกร้างแถวหนองแขมอยู่ประมาณ 350 ตารางวา และสนใจในเรื่องของฟาร์มออร์แกนิก อยากทำให้เป็นธุรกิจเล็กๆ เพื่อสังคม คืออยากปลูกผักขายแล้วแบ่งพื้นที่ให้เช่า จากนั้นก็จะนำรายได้มาช่วยคนในชุมชน เพื่อให้คนในชุมชนมีพื้นที่ทำกินและสามารถเลี้ยงตนเองได้ โดยตอนนี้ใหม่เริ่มตั้งเพจในเฟซบุ๊ก เพื่อเผยแพร่ความรู้ให้คนตระหนักถึงภาวะโลกร้อน มีการจัดเวิร์กช็อปเล็กๆ โดยทำถุงผ้ามาแจกและทำตัวปั๊มลายผัก เพื่อให้คนสนใจและมีส่วนร่วมกับเวิร์กช็อปนี้”

ปริ๊นซ์

    “ผมเริ่มทำศูนย์การเรียนรู้ตรงนี้จากแนวคิดว่า อยากพึ่งตนเอง ด้วยความที่เคยจัดอบรม ทำการวิจัยเกี่ยวกับการเกษตรตั้งแต่สมัยเรียน ผมเลยพอมีความรู้ทางด้านนี้ ในตอนแรกผมเริ่มจากการปลูกผักรับประทานเองในครอบครัว พอเพื่อนรู้ก็เห็นว่าน่าสนใจและแนะนำว่า ทำไมไม่จัดการอบรมหรือเผยแพร่ให้คนอื่นที่เขาอยากได้ความรู้ในตรงนี้ด้วย นั่นคือจุดเริ่มต้นของผม”
 



ก่อนอื่นรบกวนคุณปริ๊นซ์ช่วยอธิบายคำว่า “ออร์แกนิก” ให้ฟังหน่อย

    คำว่าออร์แกนิกมาจากภาษาละติน ที่แปลว่า มาจากสิ่งมีชีวิต หรือตรงกับคำว่า อินทรีย์ในภาษาบ้านเรา เกษตรอินทรีย์ คือ การทำการเกษตรตามจังหวะธรรมชาติ  ต้องเป็นไปตามกลไกทางธรรมชาติ เช่น พืชต้องเติบโตจากดินที่สมบูรณ์ ดูว่าโรคพืชเป็นยังไง โรคแมลงเป็นยังไง ส่วนการกำจัดจะใช้วิธีทางธรรมชาติ อาจใช้สารสมุนไพรหรือจุลินทรีย์



 



ถ้าอยากจะเริ่มทำธุรกิจฟาร์มออร์แกนิก อันดับแรกควรต้องทำอะไรค่ะ 

    พอเรารู้แล้วว่าอยากทำอะไร อาจจะเริ่มวาดภาพในหัวว่า ทำอย่างไร เกี่ยวข้องกับใคร แล้วลองทดสอบดูว่าสิ่งที่เราคิดถูกต้องหรือเปล่า เรื่องแบบนี้ไม่มีสูตรตายตัว บางทีคนอื่นอาจทำแบบนี้ แต่เราอาจทำอีกแบบหนึ่ง เราต้องคิดว่าสิ่งที่เราทำ มันเหมาะกับเราหรือเปล่า โดยการจะเริ่มอาจคิดถึงเรื่องการเลือกผักที่มาปลูก ดูความต้องการของผู้บริโภคว่าอยากได้ผักอะไรที่เรียกว่า Community Supported Agriculture (CSA) ระบบเกษตรแบ่งปัน เป็นระบบที่เรารู้ความต้องการของผู้บริโภคในชุมชน หลังจากนั้นเราก็ต่อตรงถึงผู้ผลิต แล้วก็ส่งตรงถึงผู้บริโภคต่อไป ดูเรื่องดิน การเตรียมดินให้พร้อมโดยการใช้ปุ๋ยหมักธรรมชาติ ที่มาจากใบไม้ใบหญ้า ซึ่งดินถือว่าเป็นหัวใจของการทำเกษตรอินทรีย์ เพราะดินที่สมบูรณ์จะทำให้พืชผักของเรามีคุณภาพและมีความแข็งแรง 

 



การเตรียมดินต้องเตรียมอย่างไร อย่างที่ดินของใหม่เป็นที่รกร้าง ควรต้องทำอย่างไรบ้าง

    ก่อนอื่นคือทำปุ๋ยหมักด้วยใบไม้ใบหญ้า การเลือกวัตถุดิบมาทำก็สำคัญต้องสะอาดสำหรับการปลูกพืช เช่น ใบไม้ต้องไม่เก็บมาจากถนน ที่มีรถผ่านเยอะๆ เพราะจะมีฝุ่นละอองมาก พอเราทำปุ๋ยได้ก็เริ่มใส่ปุ๋ย พยายามปรับปรุงดินด้วยการใส่ปุ๋ยหมักและทำให้ไส้เดือนกลับมา ยิ่งเราลงทุนครั้งแรกกับดินให้ดินดีมากเท่าไร ดินก็จะให้ผลตอบแทนกับเรามากขึ้นเท่านั้น ดิน คือ เป็นปัจจัยธรรมชาติที่มหัศจรรย์ ถ้าดินเรามีความอุดมสมบูรณ์ ต่อไปเราก็สามารถใส่ปุ๋ยน้อยลงได้ ต่างกับฟาร์มที่ใช้สารเคมี ยิ่งปลูกนานก็ยิ่งต้องเพิ่มสารเคมีมากขึ้น

 

นอกจากการปลูกผักเพื่อทำเป็นธุรกิจเล็กๆ หรือปลูกเป็นงานอดิเรก ยังมีการปลูกผักแบบไหนอีก

    ในเรื่องของการปลูกผักความจริงคนจะคิดว่าปลูกผักเพื่อรับประทานอย่างเดียวแต่มันไม่ใช่ การปลูกผักมันมีหลายแนว อย่างเครือข่ายของผมมีโครงการสวนผักคนเมือง หรือการให้ความรู้ ซึ่งไม่ใช่แค่ระหว่างผู้ใหญ่ด้วยกันแต่รวมไปถึงเด็ก เราสามารถสอดแทรกความรู้เรื่องคุณประโยชน์ของผัก สารอาหาร ลงไปในอาหารการกิน การสร้างเสริมกิจกรรมเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมให้กับเด็ก บางบริษัทที่มีโครงการ CSR และต้องการพัฒนาบุคลากรก็สามารถใช้กิจกรรมในด้านการเกษตร หรือกิจกรรมเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมในแง่ของการทำงานเป็นทีม รวมถึงการใช้กิจกรรมเพื่อบำบัดผู้ป่วย ผู้ด้อยโอกาสทางสังคม เพื่อฟื้นฟูให้เขาสามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติ 


 


การที่สามารถใช้กิจกรรมทางการเกษตรเพื่อสังคม อย่างนี้ก็ตอบโจทย์ใหม่ที่ต้องการทำธุรกิจเพื่อสังคม โดยการแบ่งพื้นที่ให้คนมาเช่าและนำรายได้ไปช่วยเหลือคนในชุมชน อย่างนั้นได้หรือเปล่า

    แนวคิดของใหม่ในต่างประเทศจะมี 2 แบบ แบบแรกคือเจ้าของที่ดินแบ่งให้เช่า จะมีการแบ่งล็อกกันชัดเจน ส่วนแบบที่สองคือเจ้าของที่ดินหรือรัฐอนุญาตแบ่งที่ดิน เพื่อให้เกษตรกรมาปลูกผัก และสามารถเก็บผักไปรับประทานได้ โดยแบบที่สองทุกคนจะมีส่วนร่วมในการพัฒนาที่ดินดังกล่าว ทั้งสองแบบเรียกว่าตลาดเกษตรกร หรือเกษตรกรที่เป็นคนเมืองมาขายเอง ข้อดีคือ ทำให้เกิดความสัมพันธ์ระหว่างคนผลิตกับคนบริโภคและได้รู้ที่มาที่ไปของอาหาร เป็นที่นิยมในต่างประเทศ ช่วงที่มีการขาดแคลนอาหารและการเข้าไม่ถึงอาหารคุณภาพ ปัจจุบันถึงประเทศที่พัฒนาแล้วจะไม่มีปัญหาเรื่องการขาดแคลนอาหารแต่ยังมีปัญหาเรื่องการเข้าถึงอาหารที่มีคุณภาพ แนวคิดนี้จึงได้รับความนิยม 


 



เราจะทำให้เป็น Business Model จากการแบ่งสรรปันส่วนที่ดินหรือสร้างรายได้ได้อย่างไรบ้าง

    รูปแบบนี้เป็นแนวคิดที่ค่อนข้างใหม่ในบ้านเรา ที่ต่างประเทศจะมีคนที่รวมกลุ่มกันเพื่อไปขอใช้ที่ดินกับภาครัฐ ส่วนในไทยมีส่วนน้อยที่อาจใช้ที่ดินในหมู่บ้านที่รกร้างมาปลูกผัก ส่วนโมเดลของใหม่ก็สามารถทำได้แต่อาจจะไม่ได้กำไรมาก เพราะการทำกิจกรรมเพื่อสังคม เป้าหมายคือผลกำไรทางสังคม ส่วนผลกำไรที่เป็นตัวเงินมันอาจไม่ได้เน้นการเอากำไรสูงสุด แต่ว่าเป็นกำไรพออยู่ได้ คือตัวเราไม่เดือดร้อนและเพียงพอกับต้นทุน นอกจากนี้ พอโครงการสามารถทำประโยชน์ให้กับสังคม อาจมีบริษัทใหญ่ๆ เล็งเห็นและทำเป็นโปรเจ็กต์เพื่อลงมาสนับสนุนก็อาจจะเป็นอย่างนี้มากกว่า 

 



ต้องอาศัยการสนับสนุนด้าน CSR ของบริษัทใหญ่ๆ อย่างนั้นหรือเปล่า

    อย่างนั้นด้วยส่วนหนึ่ง อีกส่วนหนึ่งคือเราอาจใช้การติดต่อสื่อสารและแลกเปลี่ยนเครื่องมือในการทำฟาร์มจากบริษัทที่สามารถทำงานและมีผลประโยชน์แลกเปลี่ยนซึ่งกันและกันได้ ตัวอย่างเช่น Will Allen เกษตรกรในอเมริกา เขาได้ขอขยะจากคนในเมืองมาทำปุ๋ยหมักใช้เอง ทำให้สามารถปลูกพืชได้ตลอดทั้งปี แม้กระทั่งหน้าหนาว รวมทั้งปุ๋ยหมักยังทำให้เกิดไส้เดือนที่ต่อยอดเอาไปเลี้ยงปลาและเพิ่มรายได้ในช่องทางอื่นได้อีก 

 



ถ้าคนเมืองที่อยากทำฟาร์มออร์แกนิกให้เป็นธุรกิจเล็กๆ ด้วย Business Model ทำอย่างไรดี 

    การทำธุรกิจการเกษตรในเมืองต้องใช้แนวคิดแบบ Less is more คือน้อยแต่มาก ทำอย่างไรถึงจะประหยัดพื้นที่เพาะปลูกหรือทำสวนผักแนวตั้ง บางพื้นที่ก็มีการเอาเทคโนโลยีเข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น ญี่ปุ่น ที่ปลูกผักในตึก หลักสำคัญคือในพื้นที่จำกัดจะทำอย่างไรให้เกิดผลประโยชน์ได้มากที่สุด ทั้งในด้านการเรียนรู้ ผลผลิต และด้านสังคม
 
 

ถ้าคิดแบบง่ายๆ เลย คือ ถ้าอยากปลูกผักขายหน้าบ้าน 

    ต้องเข้าใจก่อนว่าไม่ใช่ทุกบ้านที่หน้าบ้านจะขายได้ บางบ้านก็ไม่ค่อยมีคนผ่าน ช่องทางสำคัญคือปลูกผักหลังบ้านแล้วใช้ Social Media ให้เป็นประโยชน์ เช่น พี่โอ๋ P2warship ก็ปลูกผักโหระพาอิตาลีหลังบ้าน แล้วเอาไปทำซอสเพรสโต ใช้การโปรโมตทาง Social Media พอคนรู้ก็เริ่มสนใจและเริ่มเข้ามาชิม แล้วก็กลายเป็นลูกค้าประจำที่ซื้อขายกันตลอด แต่สำคัญที่สุดคือเราต้องมีเอกลักษณ์ มีจุดเด่นเป็นของตัวเอง และต้องคิดว่าทำยังไงเราถึงจะโดดเด่นและดึงดูดลูกค้าให้สนใจสินค้าเราได้ 

 



อย่างคนที่เขาคิดว่าปลูกผักที่แตกต่าง เช่น โหระพาอิตาลี เทียบไม่ได้กับการปลูกโหระพาธรรมดาๆ แต่มีคนมาซื้อทุกวันคุณปริ๊นซ์คิดว่าอย่างไร

    จุดเด่นไม่ได้อยู่ที่ของแต่จุดเด่นอยู่ที่คนทำ ผมทำงานเกี่ยวกับมาตรฐานสินค้าจะได้เห็นพัฒนาการของมาตรฐานสินค้า คือคนทำจะเริ่มทำสินค้าตนเองให้มีเรื่องราว มีเอกลักษณ์ ปัจจุบันไม่ได้อยู่ที่สินค้าแต่อยู่ที่วิธีการผลิต เช่น มาตรฐานออร์แกนิกชัดเจนว่าจะรักษาสิ่งแวดล้อม รักษาสุขภาพ ถ้าสินค้าเหมือนๆ กัน แต่เราทำให้มีเรื่องราวเป็นของตัวเอง สร้างเอกลักษณ์เป็นของตัวเอง คนก็จะเข้าหา อยากซื้อ อยากรู้จัก เหมือนกับทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียงพอของในหลวงที่เรียกว่า การระเบิดจากข้างใน หรือการแสดงอัตลักษณ์ชัดเจนว่าแต่ละคนมีตัวตนเป็นยังไง

 



มีคนบอกว่าปลูกผักในเมืองไม่ออร์แกนิกหรอก แค่ฝนตกก็ปนเปื้อนมลพิษแล้ว

    ถ้าเป็นเรื่อง ฝนตก น้ำท่วม ภัยธรรมชาติ เป็นเรื่องที่ฟาร์มอะไรก็ป้องกันไม่ได้ ถ้าฝนตกแล้วมีมลพิษต้องดูในเรื่องของพื้นที่ บางทีกรุงเทพฯ อาจไม่หนักเท่ามาบตาพุด มีกรณีหนึ่งที่น่าสนใจคือ ฟาร์มในญี่ปุ่น จังหวัดฟุกุชิมะ ที่โดนผลจากกัมมันตภาพรังสี ทำให้คนย้ายออก ที่นาก็รกร้าง คนกลัวอันตราย แต่คุณเซจิ สึเกโนะ เชื่อมั่นในวิถีของเกษตรอินทรีย์ เขาไปทำงานร่วมกับศาสตราจารย์ในมหาวิทยาลัยฟุกุชิมะ ได้ผลวิจัยออกมาว่า ในดินที่มีการเพาะปลูกแบบเกษตรอินทรีย์จะมีกิจกรรมของจุลินทรีย์อยู่เป็นจำนวนมากและส่งผลให้พืชดังกล่าวปลอดภัย สามารถรับประทานได้เมื่อเทียบกับฟาร์มที่ไม่ได้ทำเกษตรอินทรีย์จะดูดเอากัมมันตรังสีไปมากกว่าหลายเท่า



 


สุดท้ายสำหรับคนที่สนใจจะสามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมหรือติดต่อใครได้อย่างไรบ้าง

    สามารถติดตามกิจกรรมพวกเราได้ทาง www.thaicityfarm.com และยังมีกลุ่มพี่น้องเครือข่ายของเราทางเฟซบุ๊ก เช่น กลุ่มเมื่อคนเมืองอยากปลูกผัก หรือเพื่อนๆ ที่เคยมาอบรมกับผมได้ตั้งกลุ่ม Heart Core Organic สามารถเข้าไปเรียนรู้ แลกเปลี่ยนเรื่องราวกันได้ ส่วนการอบรมมีเดือนละครั้งเป็นหลักสูตรแบบวันเดียวจบ มีการให้ความรู้ว่าทำไมถึงต้องปลูกผักรับประทานเอง การเตรียมดิน เตรียมปุ๋ย เพาะเมล็ดและป้องกันแมลง รวมถึงมาพูดคุยแลกเปลี่ยนแรงบันดาลใจซึ่งกันและกัน เพราะแต่ละคนคงมีเหตุผลของตนเองว่าทำไมถึงอยากปลูกผักรับประทานเอง 

 



Result
“จากที่ได้พูดคุยกับพี่ปริ๊นซ์ในวันนี้ ใหม่ได้ข้อมูลค่อนข้างจะครบถ้วน แล้วก็จะกลับไปหาคนในชุมชนให้มาช่วยกันและเริ่มเตรียมตัวในการเพาะปลูก อาจเริ่มจากการเตรียมดินก่อน ส่วนปีหน้าใหม่ก็อาจจะมีเวิร์กช็อปเล็กๆ ของตัวเองอีกครั้งหนึ่งค่ะ”


ขอขอบคุณ
คุณนคร ลิมปคุปตถาวร
ศูนย์เรียนรู้เกษตรในเมือง สาขาเจ้าชายผัก 
www.thaicityfarm.com


www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลเพือความสำเร็จของธุรกิจเอสเอ็มอี (SME)