Starting a Business

จตุปัจจัย...สำหรับ Start Ups


ปพนธ์ มังคละธนะกุล
 
                ร้อยทั้งร้อยของผู้กล้าทั้งหลายที่ออกเดินทางบนถนน Start-up ล้วนเริ่มจากไอเดีย และวิสัยทัศน์ของผู้ก่อตั้งที่ต้องการแก้ปัญหา ริเริ่มสิ่งใหม่ เพื่อเล่นกับโจทย์ความต้องการของมนุษย์เราที่เจ้าตัวรู้สึกว่าไม่มีใครในปัจจุบันนั้นแก้ได้ตรงจุดเสียทีเดียว
                แต่การเดินทางบนถนนลูกรังที่ไม่ได้ลาดคอนกรีต โรยด้วยกลีบกุหลาบของเหล่า Start-Up นั้น ไม่สามารถไปจนสุดเส้นทางที่วาดฝัน หากขาดปัจจัยที่จำเป็นอื่นๆ ในการเดินทางไกลครั้งนี้ ต่อให้ไอเดียหรูเลิศอลังการสักแค่ไหน ก็ไม่มีทางไปสุดเส้นขอบฟ้าได้



                ปัจจัยแรก...แน่นอนต้องเริ่มต้นที่ไอเดีย และวิสัยทัศน์ โดยที่วิสัยทัศน์นั้นๆ จะต้องเป็นการแก้ปัญหาจริงๆ ในโลกแห่งความเป็นจริง ที่จำเป็นต่อการใช้ชีวิตประจำวัน หรือการทำงานของคนในสังคม หาใช่วิสัยทัศน์เสมือน ที่อาจไม่มีคุณค่าที่แท้จริงในโลกแห่งความเป็นจริงเลย ไอ้ตัวคุณค่าในโลกแห่งความเป็นจริงจะเป็นตัวบอกว่าไอเดียนี้สามารถไปได้ไกลแค่ไหน มิใช่เป็นเพียงความวูบวาบที่ฉาบฉวย แล้วจะจางหายไปอย่างโดยเร็ว
                ผมเคยเห็นคนมีไอเดียที่จะทำตู้เกมโดยที่ผนวกคู่กับตู้แช่เครื่องดื่มไปด้วยกัน เพียงเพราะว่ามีไอเดียว่า คนเล่นเกมมักจะต้องดื่มคู่กันไป เพื่อให้ครบอรรถรส เลยเหมารวมว่าการเอาสองอย่างนี้มาผนวกรวมกันน่าจะเป็นไอเดียที่ดี แต่ในความเป็นจริงแล้ว คนเล่นเกมให้คุณค่าของเกมหรือเครื่องดื่มมากกว่ากัน การผนวกสองอย่างเป็นสิ่งที่ดีจริงหรือ
                ปัจจัยที่สอง...เมื่อมีวิสัยทัศน์ที่ดีแล้ว ต้องมีองค์ความรู้ที่เหมาะสมในการผลักดันวิสัยทัศน์นั้นให้เกิดเป็นจริงในทางธุรกิจให้ได้ องค์ความรู้นั้นหลากหลาย แล้วแต่ประเภทของธุรกิจที่ทำ ไล่ตั้งแต่ ความรู้เรื่องเทคโนโลยีที่ต้องใช้ในการพัฒนาไอเดียให้เป็นสินค้า ไม่ว่าจะเป็นด้านคอมพิวเตอร์ โปรแกรมมิ่ง เทคโนโลยีในการผลิต ไปจนถึงความเข้าใจในตลาดที่จะเข้าไป พฤติกรรมผู้บริโภค ช่องทางการกระจายสินค้า การตั้งราคา ต้นทุนที่เหมาะสม พูดง่ายๆ คือ มีความเข้าใจในบริบทของธุรกิจที่ทำอย่างถ่องแท้ หรือที่ภาษาฝรั่งเรียกว่า “Business Acumen” นั่นเอง
ปัจจัยที่สาม...มีสินค้าดีแล้ว มีความเข้าใจบริบทต่างๆ อย่างถ่องแท้แล้ว ต่อไปต้องมีการบริหารภายในที่ดีด้วย เป็นการบริหารกระบวนการต่างๆ ตั้งแต่ต้นจนจบตั้งแต่ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ การผลิต การตลาด การขาย จนถึงบริการหลังการขาย ได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด เพราะต้นทุนเปรียบเสมือนอากาศของ Start-up ทั้งหลาย บริหารต้นทุนไม่ดี มีสิทธิทำให้บริษัทเจ๊งได้ในทันที เหมือนขาดลมหายใจก็ไม่ปาน
ปัจจัยที่สี่...สุดท้ายแต่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าใครก็คือ ‘คน’ นั่นเอง เพราะทุกองค์กรเดินได้ด้วยคน คนจะมีพลังงานมหาศาลช่วยกันฝ่าฟันอุปสรรถนานัปการได้ คนเหล่านั้นต้องมีเป้าประสงค์เดียวกันที่ชัดเจน และแรงกล้า ต้องมีความเชื่อในปัจจัยแรกเหมือนกันว่า ตนกำลังทำสิ่งที่มีคุณค่าอย่างแท้จริง ไม่ใช่ของปลอม ของเพ้อฝัน หากปราศจากสิ่งนี้เสียแล้ว ก็เหมือนเครื่องยนต์ที่ไม่มีประสิทธิภาพ ใส่เข้าไปเท่าไร แต่ output ช่างน้อยเสียเหลือเกิน ต้นทุนก็บานเบอะ สุดท้าย...จอด
จะเห็นว่าไม่มีปัจจัยเรื่อง ‘เงิน’ มาเกี่ยวข้องเลย
เพราะเงินคือผล มิใช่เหตุ หาก ‘จตุปัจจัย’ ข้างต้นดี ‘เงิน’ จะตามมาเอง