Starting a Business

Startup ทำอย่างไรให้โดนใจ Angel Investor



เรื่อง : กองบรรณาธิการ



    นักลงทุนอิสระ หรือที่เรียกกันว่า Angel Investor ส่วนใหญ่นั้นจะเป็นบุคคลทั่วไป อาจจะเป็นนักธุรกิจ นักลงทุน หรือผู้ประกอบการ ที่ใช้เงินทุนของตนเองในการเข้าไปลงทุนในธุรกิจสตาร์ตอัพ เพื่อช่วยโอบอุ้มธุรกิจในช่วงเริ่มต้นให้อยู่รอดและพัฒนาตนเองขึ้นมา โดยเม็ดเงินลงทุนจะไม่ได้สูงมากนัก เมื่อเทียบกับสถาบันการเงิน หรือ Venture Capital และด้วยความที่ Angel Investor หลายๆ คนอาจจะเคยมีประสบการณ์ในการบริหารธุรกิจ ฉะนั้นนอกจากจะสนับสนุนเงินทุนแล้ว ยังจะทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาให้กับธุรกิจสตาร์ตอัพด้วย



    จากประสบการณ์ในฐานะ Angel Investor คนหนึ่ง ปิยพันธ์ วงยะรา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสำนักพิมพ์สต็อคทูมอร์โรว์ ให้ความเห็นว่า ปัจจุบันผู้เริ่มต้นธุรกิจสตาร์ตอัพในประเทศไทยต้องเจอกับการแข่งขันค่อนข้างมากระหว่างเหล่าสตาร์ตอัพด้วยกันเอง เนื่องจากประเทศไทยยังมีนักลงทุนประเภท Angel Investor ไม่มากนัก ดังนั้น ธุรกิจสตาร์ตอัพต้องเตรียมความพร้อมอย่างเต็มที่ทั้งในด้านไอเดียสินค้า หรือบริการ และแผนธุรกิจ เพื่อให้แนวธุรกิจของตนโดดเด่นจนสามารถดึงดูด Angel Investor ให้เข้ามาสนใจ 



    ยิ่งไปกว่านั้นเรื่อง Connection เป็นสิ่งสำคัญมาก สำหรับธุรกิจสตาร์ตอัพที่ต้องการให้ Angel Investor สนใจ โดยสตาร์ตอัพต้องออกพบปะผู้คนในแวดวงธุรกิจบ่อยๆ ทำตัวให้โดดเด่น เป็นที่จดจำ และคอยพัฒนาตัวเองอย่างสม่ำเสมอ ด้วยความมุ่งมั่นและจริงจังในเป้าหมาย อย่างไรก็ดี หนึ่งในเกณฑ์สำคัญสำหรับการคัดเลือกสตาร์ตอัพเพื่อร่วมลงทุนด้วยนั้น คือ ประเภทของธุรกิจ ซึ่งจากประสบการณ์ส่วนตัวจะเลือกธุรกิจที่ตนถนัด หรือมีความสนใจต้องการทำอยู่แล้ว และหากเป็นธุรกิจที่เอื้อต่อกันกับธุรกิจหลักที่ตนทำอยู่ด้วยแล้วนั้นก็จะให้ความสนใจมากขึ้นอีก เพราะการเป็น Angel Investor ไม่ได้ให้เพียงแค่เงินไปใช้ในการลงทุนเพียงอย่างเดียว แต่ยังต้องคอยให้ความรู้ ให้คำปรึกษาและความช่วยเหลือด้วย


    พร้อมกันนี้  อาจารย์ประจำภาควิชาผู้ประกอบการและนวัตกรรม วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล ยังได้ให้ 3 แนวคิดสำคัญ ซึ่งเป็นสิ่งที่สตาร์ตอัพต้องมี หากต้องการจะประสบความสำเร็จในการระดุมทุนจาก Angel Investor 


    1. มีความคิดแบบผู้ประกอบการ (Entrepreneurial Mindset) ต้องแสดงให้นักลงทุนเห็นถึงคุณสมบัติความเป็นสตาร์ตอัพในตัว ซึ่งคุณสมบัติความเป็นสตาร์ตอัพที่ดีจะประกอบด้วย “ความยืดหยุ่น” พร้อมที่จะฟังคำแนะนำจากผู้ให้คำแนะนำ และนำไปประยุกต์ใช้กับธุรกิจเพื่อให้ประสบความสำเร็จ “ความมุ่งมั่น” มีความตั้งใจและทุ่มเทอย่างเต็มที่กับธุรกิจที่ทำอยู่ โดยมีการวางเป้าหมายไว้และมุ่งมั่นทำให้สำเร็จโดยไม่ไขว้เขว และสุดท้ายคือ “ความดื้อ” หมายถึงว่ามีความตั้งใจและเชื่อมั่นในสิ่งที่ตนเองทำ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่ใช้ขจัดความย่อท้อเมื่อเจออุปสรรคระหว่างทาง


    2. มองเห็นโอกาส (Opportunity Seeker) สามารถมองเห็นโอกาสในด้านการริเริ่มคิดหาผลิตภัณฑ์หรือบริการที่ยังเป็นที่ต้องการของตลาด รู้จักปัญหา (Pain Point) และสิ่งที่ยังไม่สามารถตอบสนองความต้องการของผู้ใช้ รวมไปถึงมองเห็นโอกาสในการหานักลงทุน (Investor) คอยพัฒนาตัวเองอย่างสม่ำเสมอ เพื่อเป็นการเตรียมตัวให้พร้อมกับโอกาสที่อาจเข้ามาโดยไม่ได้คาดหมาย


    3. ใช้แผนธุรกิจที่เหมาะสม (Business Model) ประยุกต์ใช้แผนธุรกิจที่เหมาะสมกับตัวสินค้าหรือบริการของตน โดยข้อสำคัญของการวางแผนธุรกิจ คือ สินค้าหรือบริการ ต้องเป็นสิ่งที่ทำซ้ำได้ (Repeatable) สามารถเติบโตและสร้างรายได้ผ่านการทำซ้ำได้ และปรับเปลี่ยนขนาดได้ (Scalable) รองกับการขยับขยาย ทั้งการขยายกลุ่มเป้าหมาย และขยายตัวสินค้าหรือบริการให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น


www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี