Starting a Business

สวิงริงโก้...ข้าวแต๋นเฟี้ยวฟ้าว

Text : Kritsana S.
Photo : กฤษฎา ศิลปไชย




    เพราะอยากให้ขนมพื้นบ้านของจังหวัดเชียงใหม่ อย่างขนมข้าวแต๋นกลายเป็นที่รู้จัก และอยากช่วยสร้างงาน สร้างรายได้ให้ชาวบ้าน  จึงเป็นที่มาของข้าวแต๋นสวิงริงโก้ ข้าวแต๋นที่เฟี้ยวฟ้าวของ อิม-เฟี้ยว์ฟ้าว และ เบลล์-ฟ้าว์เฟี้ยว สุดสวิงริงโก้ 



    “เริ่มจากที่เราให้ชาวบ้านปลูกข้าวบนที่นาของเราโดยไม่ต้องเสียค่าเช่า ชาวบ้านจะตอบแทนน้ำใจด้วยการให้ข้าวเรา แล้วยังนำข้าวที่ได้ไปทำเป็นขนมข้าวแต๋นมาให้เราด้วย ชาวบ้านทำขนมข้าวแต๋นอร่อยมาก วันหนึ่งที่อิมและพี่ชายคิดจะทำธุรกิจ พวกเราจึงนึกถึงขนมข้าวแต๋นเป็นอย่างแรก เพราะเป็นขนมพื้นบ้านที่เราทั้งคู่ต่างก็คุ้นเคยมาตั้งแต่เด็ก” อิมกล่าว

    อิมและเบลล์จึงเห็นตรงกันว่า หลังฤดูเก็บเกี่ยวชาวบ้านไม่ต้องนำข้าวมาให้แล้ว เพราะพวกเขาจะรับซื้อข้าวทั้งหมดที่ชาวบ้านปลูกในราคาที่เป็นธรรมเพื่อนำมาทำเป็นขนมข้าวแต๋น พร้อมทั้งยังจ้างงานชาวบ้านด้วยการให้เป็นคนทำขนมข้าวแต๋นด้วย

    “ขนมข้าวแต๋นสวิงริงโก้ไม่ใช่ขนมข้าวแต๋นราดน้ำอ้อยเหมือนที่ทุกคนคุ้นเคย แต่เป็นขนมข้าวแต๋นสายพันธุ์ใหม่ที่รับประทานได้ทุกเพศทุกวัย มีขนาดชิ้นพอดีคำ และมีให้เลือกถึง 7 รสชาติ ได้แก่ รสบาบีคิว รสปลาหมึกย่าง รสต้มยำกุ้ง รสโนริสาหร่าย รสชีส รสข้าวโพดอบเนย และรสซาวครีม ส่วนแพ็กเกจจิ้งเป็นกระปุกพลาสติกใสที่มีความแข็งแรง และฝากระปุกมี 2 ชั้น คือ ฝาพลาสติก และฝาอะลูมิเนียม ซึ่งเหตุผลที่ต้องมีฝาอะลูมิเนียม เพราะจะช่วยกันไม่ให้อากาศเข้าไปในกระปุก ทำให้ขนมกรอบนานยิ่งขึ้น” เบลล์กล่าว

    เพื่อเพิ่มกิมมิกให้ขนมข้าวแต๋นสวิงริงโก้น่าสนใจยิ่งขึ้น สองพี่น้องจึงเลือกใช้คีย์เวิร์ด กินแล้วดีด เพื่อสื่อถึงความคึกคัก ความสนุกสนานเวลารับประทานขนม เพราะขนมข้าวแต๋นสวิงริงโก้ต้องเขย่าก่อนกินเพื่อให้ได้รสชาติที่เข้มข้นยิ่งขึ้น

    “เหตุผลที่เลือกใช้คีย์เวิร์ด กินแล้วดีด เพราะสามารถบ่งบอกตัวตนของขนมได้ดี และเพื่อให้ทุกคนรู้สึกดีด รู้สึกสนุกไปกับขนมของเราจริงๆ ข้างกระปุกจึงติดเนื้อเพลงสวิงริงโก้ ซึ่งทำให้ทุกคนได้สนุกไปกับการเขย่ากระปุกขนมไปพร้อมๆ กับร้องเพลงของเรา ส่วนตัวการ์ตูนที่ติดด้านหน้ากระปุกก็ถอดแบบมาจากคาแร็กเตอร์ของเราทั้งสอง และสีที่เลือกใช้ก็เป็นสีที่สดใส จี๊ดจ๊าด” เบลล์กล่าว



    อิมกล่าวเสริมว่า ช่องทางที่ทำให้ขนมข้าวแต๋นสวิงริงโก้กลายเป็นที่รู้จักในเวลาอันรวดเร็ว คือ โซเชียลมีเดียอย่างเฟซบุ๊ก และอินสตาแกรม ส่วนยูทูบก็เป็นอีกหนึ่งช่องทางที่ช่วยกระตุ้นความสนใจของคนดูได้เป็นอย่างดี โดยหลังจากที่เธอปล่อยเอ็มวีเพลงสวิงริงโก้ ที่มีฉากเขย่ากระปุกขนมข้าวแต๋นไปพร้อมๆ กับการเต้นลงในยูทูบก็มีคนติดต่อเข้ามาเพื่อสั่งซื้อขนม และหลังจากนั้นลูกค้าที่สั่งซื้อขนมไปก็ทำคลิปเต้นประกอบเพลงสวิงริงโก้บ้าง โดยในคลิปมีฉากเขย่ากระปุกขนมข้าวแต๋นเหมือนในเอ็มวีด้วย

    ท้ายสุด อิมได้แนะเคล็ดลับในการทำให้ขนมพื้นบ้านอยู่ในความสนใจของคนรุ่นใหม่ว่า นอกจากต้องผลิตขนมในขั้นตอนที่สะอาด ถูกสุขอนามัยแล้ว ต้องใส่ใจในรสชาติของขนมด้วย โดยขนมต้องมีรสชาติที่อร่อยถูกปาก มีรสชาติที่หลากหลายเพื่อเพิ่มทางเลือกให้กับลูกค้า มีหน้าตาน่ารับประทาน และมีขนาดชิ้นพอคำเพื่อความสะดวกในการรับประทาน 

    ผู้ประกอบการเองยังต้องขยันทำการตลาดเพื่อให้แบรนด์เป็นที่รู้จัก โดยอาจเริ่มทำการตลาดบนโซเชียลมีเดียที่คนรุ่นใหม่นิยมเข้าใช้งาน และต้องไม่มองข้ามเรื่องแพ็กเกจจิ้งอย่างเด็ดขาด

    “ขนมพื้นบ้านของเราอร่อยๆ ทั้งนั้น แต่ที่ขายไม่ได้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะแพ็กเกจจิ้งไม่ดึงดูดสายตา ผู้ประกอบการหลายรายยังคงมองข้ามเรื่องการทำแพ็กเกจจิ้งเพราะมองว่าไม่ใช่เรื่องสำคัญ แต่จริงๆ แล้วสำคัญมาก โดยเทคนิคการออกแบบแพ็กเกจจิ้งให้น่าหยิบนั้นมีขั้นตอนง่ายๆ คือ หาคำตอบให้ได้ว่าตัวตนของสินค้าคืออะไร เช่น เป็นขนมที่กินแล้วมีความสุข จากนั้นจึงทำแพ็กเกจจิ้งให้สื่อถึงตัวตนของสินค้า” อิมกล่าวปิดท้าย