Starting a Business

เกิดอะไรขึ้นเมื่อรปภ.หนุ่ม ชิมลางขายซอสทำเองผ่านอเมซอน

Text : วิมาลี วิวัฒนกุลพาณิชย์



                                  Cr.seattletimes.com




     เรื่องราวของสเปนเซอร์ ลินเซย์ หนุ่มอเมริกันวัย 32 ปีที่ทำงานเป็นพนักงานรักษาความปลอดภัยที่สำนักงานใหญ่บริษัทอเมซอน ยักษ์ใหญ่ด้านอี-คอมเมิร์ซในเมืองซีแอตเทิ้ล รัฐวอชิงตัน เกิดขึ้นเมื่อรสชาติของซอสปรุงอาหาร เช่น ซอสบาร์บีคิวที่ซื้อตามร้าน ตามซุปเปอร์มาร์เก็ตไม่เคยถูกปาก ไม่เป็นที่พอใจ สเปนเซอร์จึงลงมือปรุงซอสไว้รับประทานเอง แต่เมื่อเพื่อนร่วมงานได้ชิม ต่างติดอกติดใจ สเปนเซอร์จึงทำไปขายในหมู่เพื่อนๆ รปภ.ด้วยกัน


     ความอร่อยของซอสที่สเปนเซอร์ปรุงเองนั้นเป็นที่ล่ำลือและบอกกันปากต่อปาก จนรู้ไปถึงหูของพนักงานอเมซอน เมื่อใครได้ชิมต่างการันตีในรสชาติ ทำให้สเปนเซอร์มั่นใจ และพัฒนาซอสรสชาติอื่น เช่น ซอสเทอริยากิ ซอสพิซซ่ามาชิมลาง ก็ยังได้รับการตอบรับดีเช่นกัน อาจเป็นเพราะซอสของสเปนเซอร์มีรสชาติเฉพาะ เนื่องจากการใส่ส่วนผสมที่เป็นความคิดสร้างสรรค์ลงไป จนทำให้แตกต่างจากซอสที่วางขายทั่วไป จนทำให้เกิดความคิดจะผลิตขายอย่างจริงจัง


     สเปนเซอร์ทำงานที่อเมซอนสัปดาห์ละ 3 วัน เขาจะใช้เวลา 2 วันช่วงเช้าไปใช้ครัวของร้านอาหารเปรูที่เขารู้จัก ซึ่งเป็น commercial kitchen หรือครัวแบบอุตสาหกรรมเพื่อปรุงซอส โดยบรรจุขวดและติดฉลากเรียบร้อย เขาใช้ชื่อแบรนด์ว่า Mr.Maurs เป็นการผสมคำระหว่าง Mar ที่แปลว่าดาวอังคาร กับ Maurice อันเป็นชื่อกลางของเขา ทั้งยังไม่ลืมตั้งสโลแกนของแบรนด์ It’s out of this world ประมาณว่า สุดยอดมาก แบบหาในโลกนี้ไม่มี


     ตอนแรกก็ผลิตซอสขายให้กับคนใกล้ตัวและคนรู้จัก กระทั่งเดือนกันยายนปีที่แล้ว สเปนเซอร์ลงทะเบียนกับอเมซอนในฐานะ third party seller หรือคนนอกที่มาวางสินค้าจำหน่าย โดยเลือกใช้ระบบ FBA (Fulfillment by Amazon) ระบบที่ว่าคือการส่งสินค้าไปไว้ที่โกดังของอเมซอน เมื่อมีการสั่งซื้อสินค้า อเมซอนจะอีเมล์แจ้งให้คนขายทราบ และดำเนินการจัดส่งสินค้าให้ลูกค้าเอง จากนั้นก็อเมซอนจะอีเมล์แจ้งหมายเลขพัสดุ (tracking number) กับเจ้าของสินค้าอีกที

 
     หลังจากที่สมัครอเมซอน สเปนเซอร์ทดลองส่งซอส 12 ขวดไปไว้ที่คลังสินค้าของอเมซอน ปรากฎขายหมดเกลี้ยงภายใน 2 ชั่วโมง ลูกค้าส่วนใหญ่เป็นคนที่สเปนเซอร์รู้จัก เช่น เพื่อนร่วมงาน และพนักงานอเมซอน แต่ก็มีรายชื่อแปลกๆ จากรัฐอื่นปะปนมาด้วย เขาจึงคิดว่าอาจเป็นเพราะมีการบอกต่อ จึงทำให้เกิดลูกค้าหน้าใหม่ จากที่ผลิตซอสขายแค่หลักสิบ ตอนนี้สเปนเซอร์ทำยอดขายหลายร้อยขวด ลูกค้าหลายคนติดใจในรสชาติก็ไปเขียนรีวิว ขณะที่อเมซอนเองก็ติดดาว 5 ดาวให้กับซอสพีเมี่ยมของเขาจึงทำให้ยอดขายเพิ่มขึ้น  และน่าจะพุ่งขึ้นอีกหลังจากที่เรื่องราวของเขาได้รับการเผยแพร่บนหน้าหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น



Cr.seattletimes.com


     การค้าแบบอี-คอมเมิร์ซอาจทำให้อเมซอนถูกโจมตีว่าเป็นตัวการทำลายร้านค้าปลีกแบบออฟไลน์ แต่หากมองอีกแง่หนึ่ง อเมซอนเองก็สร้างงานให้กับผู้ประกอบการมือใหม่ไม่น้อย โดยเฉพาะการนำระบบ FBA มาใช้ ทำให้การค้าออนไลน์ของผู้ประกอบการสะดวกและง่ายขึ้นมาก ตัวเลขระบุในแต่ละวัน มีผู้ประกอบการรายเล็กมากกว่า 2 ล้านรายที่จำหน่ายสินค้าผ่านอเมซอน และ 55 เปอร์เซ็นต์ เป็นสินค้าที่ผ่านระบบ FBA ระบบนี้ทำให้มูลค่าการซื้อขายเพิ่มขึ้น จาก 6,500 ล้านเหรียญในปี 2015 มาอยู่ที่ 9,000 ล้านเหรียญในปีที่ผ่านมา 


     สเปนเซอร์พูดถึงการขายซอสผ่านอเมซอนว่าเหมือนมีคนทำงานให้ แต่สิ่งที่ยากที่สุดคือ ท่ามกลางสินค้านับล้านชิ้น ทำอย่างไรจึงจะทำให้สินค้าของเราเตะตาหรือได้รับความสนใจจากผู้ซื้อ ด้วยเหตุนี้ เขาจึงวางแผนจะทำกลยุทธ์การตลาดทั้งทางออนไลน์ ออฟไลน์ และเจาะไปยังร้านค้าต่างๆ ด้วย นี่เป็นเพียงการเริ่มต้น และธุรกิจของสเปนเซอร์เพิ่งตั้งขึ้นไม่นาน หากเขายังมุ่งมั่น รักษาคุณภาพ และพัฒนาสินค้าให้ดียิ่งขึ้น ไม่แน่นะ อนาคตอาจต้องสร้างโรงงานผลิตเป็นล่ำเป็นสันเลยก็ว่าได้   



อ้างอิง
www.seattletimes.com/business/amazon/security-guard-works-at-amazon-and-amazon-works-to-sell-his-bbq-sauce/


www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี