Starting a Business

.ONCE กาลครั้งหนึ่งของเสื้อเพื่อคนพิการทางสายตา

Text : Ratchanee
Photo : Vipa Vadi



     .ONCE แบรนด์แฟชั่นที่ต้องการเล่าเรื่องราวดีๆ ให้คนในสังคมได้รับรู้ของ จุ้ย-จิระ ชนะบริบูรณ์ชัย ซึ่งตั้งใจทำเพื่อสร้างความเท่าเทียมทางสังคมให้กับผู้พิการทางสายตา

     “แบรนด์นี้เริ่มต้นมาจากคุณลุงคุณป้าของจุ้ยที่พิการทางสายตา คือ คนหนึ่งตาบอดสนิท อีกคนหนึ่งตาบอดเลือนราง ซึ่งจุ้ยอยู่กับเขามาตั้งแต่เด็กแล้วเห็นสิ่งที่เขาไม่สามารถทำได้ คือ การเลือกสีเสื้อ โดยเขาต้องหยิบมาให้เราช่วยเลือกว่าเสื้อตัวนี้สีอะไร เลยคิดทำเสื้อซึ่งมีอักษรเบลล์บอกสีและขนาดเสื้อ”

     อันที่จริงแบรนด์ .ONCE เริ่มต้นขึ้นเมื่อ 2 ปีที่แล้วในขณะที่จุ้ยกำลังเรียนอยู่ปี 1 คณะการสร้างเจ้าของธุรกิจ การบริหารจัดการ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ จากการนำไอเดียดีๆ นี้ส่งประกวดในโครงการไอเดียแลกล้านของมหาวิทยาลัย แล้วปรากฏว่าได้รับรางวัลพร้อมเงินก้อนหนึ่ง จุ้ยจึงนำเงินดังกล่าวมาลงทุนสร้างแบรนด์ .ONCE โดยเขาออกแบบเสื้อเองแล้วขายผ่านเฟซบุ๊กและอินสตาแกรมในราคาเสื้อตัวละ 490 บาท 
 

 
     “จริงๆ กลุ่มเป้าหมายเป็นคนตาดี เราเป็นแบรนด์แฟชั่น สิ่งที่เราเป็นเชิงสัญลักษณ์ ซึ่งทุกการออกแบบเราจะสื่อความหมายถึงคนตาดีเข้าใจผู้พิการทางสายตาว่าเขาเป็นยังไง มีวิถีชีวิตยังไง”

     ด้วยความตั้งใจจะช่วยเหลือผู้พิการทางสายตา .ONCE จึงไม่ได้มุ่งกำไรเป็นอันดับแรก แต่วางตัวเองเป็น Social Enterprise โดยจุ้ยแบ่งสัดส่วนรายได้ชัดเจนคือ 70:30 โดยรายได้ 70% นำกลับมาพัฒนาต่อยอดทางธุรกิจ ส่วนอีก 30% นำไปสร้างสรรค์โครงการต่างๆ เพื่อช่วยเหลือผู้พิการทางสายตา โดยมีโครงการที่ได้ทำไปแล้ว เช่น การนำเงินไปเลี้ยงอาหารน้องๆ ที่โรงเรียนสอนคนตาบอด รวมถึงการสร้างอาชีพสร้างรายได้ให้กับผู้พิการทางสายตาในโครงการถัดไป

     อย่างไรก็ตาม แม้จะประกาศตัวว่าเป็น Social Enterprise แต่ในระยะแรก จุ้ยก็มีความหนักใจในหลายประการทั้งการเป็นเด็กที่ยังมือใหม่ในการทำธุรกิจ และการสร้างความเข้าใจให้กับผู้ซื้อว่านี่ไม่ใช่การหลอกลวงใดๆ

     “กลัวมาก กลัวว่าคนจะเข้าใจในสิ่งที่เราทำมั้ย ตอนไปออกบู๊ธครั้งแรก คือ จุ้ยทั้งอายและกลัวมาก เพราะไม่เคยขายของมาก่อนก็ต้องพูดพรีเซนต์แนวคิดของเราให้คนเข้าใจ ซึ่งปัญหา คือ คนไม่เข้าใจ บางคนว่าแพงเพราะมักเอาไปเปรียบเทียบกับเสื้อการกุศลที่ขายราคา 199 บาท แต่เราขาย 490 บาท แต่จุ้ยยึดมั่นในโพซิชันนิ่งว่า เราเป็นแบรนด์แฟชั่นไม่ใช่เสื้อการกุศล ราคานี้คือราคาที่ทำให้เราสามารถมีเงินกลับมาบริหารและสร้างอาชีพให้ผู้พิการทางสายตาได้ บางคนไม่เข้าใจคอนเซปต์ ด่าเลยก็มีว่าเอาคนตาบอดมาอ้างเพื่อทำให้ขายเสื้อได้ สิ่งที่จุ้ยทำมา คือ จุ้ยได้มาจากคุณลุงคุณป้าที่เขาตาบอดที่เลี้ยงจุ้ยมา ซึ่งมันมาจากใจเราจริงๆ วัตถุประสงค์เรา คือ สร้างอาชีพให้กับผู้พิการ ไม่ใช่กำไรสูงสุด เราก็ต้องอธิบาย แต่ตอนนี้คนก็เริ่มเข้าใจเรามากขึ้น”

     สำหรับการยึดมั่นในการสร้างรายได้สร้างอาชีพให้กับผู้พิการทางสายตานั้น จุ้ยเริ่มต้นด้วยการรับ วี-ณัฐวดี อินาวัง ซึ่งเป็นผู้พิการทางสายตาเข้ามาเป็นทีมงานในตำแหน่งผู้จัดการทั่วไป ช่วยในด้านการบริหารจัดการและเสนอแนะต่างๆ เพราะว่าภายในปีนี้เขาจะเปิดร้านในลักษณะบู๊ธขึ้นมา จากนั้นในปีถัดไปจะเริ่มเปิดสาขาแล้วให้ผู้พิการทางสายตาได้เป็นผู้ขายในกรุงเทพฯ และในระยะยาวจะกระจายสาขาไปเรื่อยๆ  



     “ตอนนี้เรานำเงินมาพัฒนาบู๊ธที่ทำให้ผู้พิการทางสายตาออกไปขายได้คนเดียว ซึ่งยากเหมือนกัน เพราะมีเรื่องสต็อกต้องทำสัญลักษณ์ต่างๆ แล้วถ้าวางของไม่เป็นระเบียบก็จะทำให้เขาหยิบได้ช้า นอกจากนี้ ถ้าให้ผู้ที่บอดสนิทเลยเป็นผู้ขาย เขาจะเรียกลูกค้าไม่ได้ ก็จะต้องคิดว่าแล้วจะทำยังไงให้ลูกค้าเป็นฝ่ายเดินเข้ามาหาแทน แต่ละครั้งที่ไปออกบู๊ธจุ้ยก็จะไปกับพี่วี แล้วช่วยกันสังเกตว่า ถ้ามองไม่เห็นเลยจะทำยังไง มีปัญหาอะไรบ้าง”

     ทั้งนี้ การเปิดบู๊ธไม่เพียงแต่จะเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้พิการได้มีอาชีพมีรายได้เท่านั้น แต่จุ้ยต้องการต่อยอดและพัฒนาให้ผู้พิการทางสายตาได้เรียนรู้การทำธุรกิจด้วย เพื่อที่ว่าพวกเขาจะสามารถนำความรู้ประสบการณ์ที่ได้ไปสร้างธุรกิจของตนเองได้ในอนาคต

     Facebook : theonceproject
     Instagram : theonce
     Line : @theonce

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลเพื่อธุรกิจเอสเอ็มอี