Starting a Business

Least Studio หยิบไอเดียแผ่นรองตัด มาเป็นกระเป๋าสุด cool





 

     “เรามีแนวคิดว่าสมัยนี้โลกพัฒนาไปเยอะแล้ว วัสดุทดแทนหลายอย่างสามารถนำไปใช้แทนหนังสัตว์ได้ จะได้ลดการฆ่าลง เราสามารถเสพความสุขได้โดยที่ไม่ต้องเบียดเบียนสิ่งมีชีวิตอื่น และเมื่อมีอะไรหลายอย่างที่เราเลือกใช้ได้ ทำไมต้องไปใช้แต่สิ่งเก่าๆ”

     และด้วยความคิคนี้นี่เองทำให้ วรัญญา นันทสันติ และ ธีรพล อัครทิวา ร่วมกันพัฒนาโปรดักต์ต่างๆ ที่ใช้วัสดุทดแทนหนังสัตว์ โดยล่าสุดทั้งคู่ได้พัฒนาโปรดักต์นวัตกรรมแผ่นยางพารา ที่มาจากยางธรรมชาติทำให้ได้แผ่นยางพาราวัสดุใหม่ ที่มีทั้งความนุ่ม เบา ทนทาน และมีความยืดหยุ่นสูง

     “แรงบันดาลใจมาจากว่า เราเป็นคนชอบศึกษาวัสดุต่างๆ เพื่อเอามาทำโปรดักต์ คืออยากหาอะไรที่มีความเฉพาะและตอบโจทย์การใช้งานจริงๆ ซึ่งพอเรามองรอบตัวบนโต๊ะทำงานของเรา ก็เห็นแผ่นรองตัด เพราะเราสองคนเป็นสถาปนิก แล้วเราใช้แผ่นรองตัดแทบทุกวัน มันมีคุณสมบัติแปลกคือ ทนต่อของมีคมได้ เลยคิดว่าทำไมเราไม่ลองเอาแผ่นรองตัดนี้มาทำโปรดักต์ ซึ่งพอเราศึกษาดู รู้อีกว่ามันมีความหยาบมีความหนักไม่เหมาะเลย ก็คิดกันต่อว่า ถ้าใช้ตัวนี้ไม่ได้ ก็ทำวัสดุใหม่ขึ้นมาเลยดีมั้ย” ธีรพลกล่าว

     จากความประทับใจในคุณสมบัติของแผ่นรองตัด (Cutting Mat) ที่มีทั้งความทนทาน ความแข็งแรง ซึ่งนับเป็นคุณสมบัติที่ตอบโจทย์งานดีไซน์และฟังก์ชันการใช้งาน ทั้งคู่จึงศึกษาและมุ่งพัฒนาวัสดุใหม่จากยางพาราอย่างจริงจัง ซึ่งการพัฒนาวัสดุใหม่นี้ได้ใช้เวลานานร่วมปี เพราะต้องผ่านการทดลองว่า มีคุณสมบัติตามต้องการจริงๆ เพื่อสร้างวัสดุที่ดีสุดออกมาสู่ตลาด นั่นคือมีความนุ่มเมื่อสัมผัส ไม่มีกลิ่น ป้องกันแบคทีเรียเชื้อรา และเมื่อได้วัสดุยางพาราที่ต้องการแล้ว จึงนำมาออกแบบแฟ้มเอกสารที่เป็นรูปแผ่นรองตัด ซึ่งวรัญญาเล่าถึงไอเดียการออกแบบว่า





     “ตัวนี้ถือว่าเป็นวัสดุใหม่ เราต้องการสื่อความหมายให้ผู้บริโภคเลยเลือกที่จะใช้แพตเทิร์นของแผ่นรองตัดในคอลเลกชั่นแรกก่อน เพื่อสื่อสารไปว่า เราได้แรงบันดาลใจมาจากแผ่นรองตัด ซึ่งฟังก์ชันการใช้งานจริงๆ ก็เหมือนแผ่นรองตัดจริง คือถ้ามีรอยขีดข่วน หรือใช้รองตัดที่ไม่ลงหนักมากก็จะสามารถลบรอยขีดนั้นได้ แต่ตอนแรกคนไม่รู้ว่าคืออะไร นึกว่าเป็นวัสดุบางอย่างที่สร้างแพตเทิร์นแผ่นรองตัดขึ้นมาเฉยๆ คือเอาลายแผ่นรองตัดมาใช้ เราก็ต้องพยายามสื่อสารผ่านทั้งเว็บไซต์ เฟซบุ๊ก อินสตาแกรม และเมื่อออกงานอีเวนต์ก็จะบอกว่า ตัวนี้คือยางพาราที่นุ่มมีคุณสมบัติคือ ทนทาน แข็งแรง รอยขีดข่วนสามารถลบได้”

     ด้วยนวัตกรรมวัสดุที่ใช้และงานดีไซน์ที่แปลกใหม่ ทำให้ Least Studioได้รับรางวัลสินค้าไทยที่มีการออกแบบดี Design Excellence Award (DEmark) สาขา Lifestyle Product ซึ่งการได้รับรางวัลดังกล่าวช่วยสร้างการรับรู้ให้แก่แบรนด์มากยิ่งขึ้น อีกยังทั้งทำให้ลูกค้ามีความมั่นใจในโปรดักต์เพิ่มขึ้นด้วย

     ขณะเดียวกัน ธีรพลก็ได้มีการพัฒนาโปรดักต์อื่นๆ ตามมา เช่น กระเป๋าถือ กระเป๋าใส่หนังสือเดินทาง อุปกรณ์เครื่องเขียน ฯลฯ โดยเขามีความตั้งใจที่จะพัฒนาโปรดักต์ที่มีฟังก์ชัน มีไอเดียสร้างสรรค์ และตอบโจทย์การใช้งานของผู้บริโภคในชีวิตประจำวันมากที่สุด





     “ตอนนี้เรื่องคอลเลกชั่นนี้คงเป็นลักษณะการเพิ่มไอเท็มต่างๆ ในกลุ่มแฟชั่นกับเครื่องเขียนให้ชัดเจนขึ้นอีก ส่วนในเรื่องวัสดุแผ่นยางพาราคิดว่ายังไปได้อีกเยอะทั้งในเรื่องของแพตเทิร์น สี เรามองว่าวัสดุที่เราทำมีศักยภาพที่สามารถต่อยอดได้อีกมาก เราไม่อยากตีกรอบว่า ต้องจบแค่โปรดักต์แฟชั่นกับเครื่องเขียน เราอยากให้สุดท้ายแล้วมันสามารถเติบโตได้จนเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเราได้จริงๆ”

     หลังจากที่ได้ร่วมกันสร้างแบรนด์ Least Studio กันมา สิ่งที่ทั้งธีรพลและวรัญญาได้เรียนรู้จากการทำธุรกิจ รวมถึงอยากฝากคำแนะนำสำหรับผู้ที่อยากเริ่มต้นธุรกิจว่า ทุกวันนี้โลกหมุนเร็วมาก ทุกคนสามารถทำทุกอย่างได้หมด ดังนั้น จะต้องพัฒนาตนเองอยู่ตลอดเวลา

     “เราต้องเดินเรื่อยๆ คิดเรื่อยๆ ทำเรื่อยๆ พัฒนาเรื่อยๆ เพราะมันจะเป็นสิ่งที่ทำให้เราไม่หยุดนิ่ง โลกเราทุกวันนี้หมุนเร็วมาก การที่เราไม่หยุดนิ่งอย่างน้อยก็คือการพัฒนาตัวเอง แต่ถ้าเราไม่เดินเรื่อยๆ สุดท้ายก็จะตามคนอื่นไม่ทัน ที่สำคัญจะต้องรู้จริงศึกษาจริงในสิ่งที่ทำด้วย ไม่ใช่ว่าเห็นธุรกิจขายครีมดีก็ทำตาม แต่มันควรต้องมีความเป็นตัวเองและต้องรู้จริงด้วย เพราะถ้าไม่รู้จริงธุรกิจก็จะไม่ยั่งยืน”
 
 
     โทร. 08-4134-1432
     W : leaststudio.com
     FB : Least Stusio
     IG : leaststudio
 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี