Starting a Business

เรเชล ดีรอรี กับยุทธการปั้น Fast Food ให้เป็น Super Food





     ว่ากันว่าไอเดียดีๆ มักมีจุดเริ่มต้นจากปัญหาที่เผชิญ ดังจะเห็นว่า ผู้ประกอบการหลายรายเริ่มต้นธุรกิจจากปัญหาที่ประสบด้วยตัวเอง เช่น ความต้องการในสินค้าบางอย่างที่แม้จะมีวางจำหน่ายแต่ก็ยังไม่ถูกใจ ไม่ตอบโจทย์ อย่ากระนั้นเลย ลงมือทำเองดีกว่า จากที่ทำเพื่อใช้เองก็ขยายไปเป็นการผลิตเพื่อจำหน่าย
               
     เรเชล ดีรอรี เวิร์กกิ้งวูแมนสาวชาวนิวยอร์กก็เช่นกัน  Daily Harvest ธุรกิจจัดส่งอาหารกึ่งสำเร็จรูปถึงบ้านที่เธอริเริ่มเมื่อปีพ.ศ.2559 ก็เกิดจากการต้องการอาหารเช้าเพื่อสุขภาพอย่าง “สมูทตี้” แต่ความยุ่งเหยิงในชีวิตทำให้เรเชลไม่มีเวลา แต่จะให้ซื้อที่จำหน่ายตามร้านทั่วไปก็ไม่อร่อยถูกใจ และโจทย์ของเรเชลคือเน้นเพื่อสุขภาพจริงๆ
               
     หลังจากศึกษาข้อมูลก็ได้ทดลองทำเอง โดยเตรียมวัตถุดิบตั้งแต่เย็นวันอาทิตย์ ผักผลไม้หั่นเป็นชิ้นแล้วฟรีซไว้เสิร์ฟเช้าวันจันทร์ก็แค่โยนลงโถปั่นตามด้วยนมสด ไม่ถึงนาทีก็ได้อาหารเช้าแสนง่ายช่วยเพิ่มพลังงานและอยู่ท้องได้นาน เมื่อทดลองระยะหนึ่ง เรเชลก็ได้ไอเดียว่าควรทำขาย น่าจะมีกลุ่มลูกค้าที่ต้องการสิ่งนี้เหมือนเธอ ปลายปีพ.ศ.2558 เธอลองทำเป็นธุรกิจเล็กๆ ปรากฏว่าได้รับการตอบรับค่อนข้างดี
               
     เดือนเมษายนปีต่อมา แบรนด์อาหารแช่แข็ง Daily Harvest จึงก่อกำเนิดขึ้น พร้อมๆ กับภารกิจอันแสนยิ่งใหญ่ในการให้ความรู้แก่ผู้บริโภคว่า อาหารแช่แข็งก็สามารถเป็นอาหารเพื่อสุขภาพได้เหมือนกัน ผู้บริโภคถูกปลูกฝังกันมานานหลายทศวรรษว่า อาหารแช่แข็งไม่ดีต่อสุขภาพ เมื่อพูดถึงอาหารประเภทนี้ สิ่งที่ลอยเข้ามาในความรู้สึกนึกคิดคือ อาหารบรรจุกล่องแช่แข็งที่นำมาอุ่นอีกที เป็นอาหารที่อุดมด้วยเกลือ น้ำตาล ไขมัน แป้งขัดสี และสารปรุงแต่งต่างๆ
               
     ในกรณีของผักผลไม้ ผู้คนมักเข้าใจว่า ของสดย่อมดีกว่าแช่แข็ง แต่ความเป็นจริง ผักผลไม้สดที่วางขาย เกษตรกรมักเก็บเกี่ยวก่อนเวลาเผื่อระยะเวลาในการขนส่ง เมื่อไปถึงที่หมาย ผลิตผลทางการเกษตรเหล่านั้นจะสุกพร้อมวางจำหน่ายพอดี เช่น กล้วย มะละกอ ลูกแพร กีวี และอื่นๆ ที่สามารถเก็บเกี่ยวช่วงที่ยังดิบ เมื่อทิ้งระยะจะค่อยๆ สุกตามธรรมชาติ ในทางกลับกันผลไม้แช่แข็ง โดยเฉพาะจากฟาร์มที่ Daily Harvest มีพันธสัญญาด้วยจะเน้นเก็บเกี่ยวตอนสุกจัดแล้วเท่านั้นซึ่งเป็นช่วงที่พืชผักผลไม้จะสั่งสมวิตามิน แร่ธาตุ และคุณค่าทางอาหารแบบเต็มเปี่ยม (ต่างจากการเก็บเกี่ยวก่อนเวลาที่คุณค่าโภชนาการจะด้อยกว่า) หลังจากเก็บเกี่ยวจะผ่านกระบวนการทำความสะอาด และแช่แข็งทันทีภายใน 24 ชม.เพื่อเป็นการล็อกสารอาหารไว้ให้ได้มากที่สุด
               
     Daily Harvest เปิดตัวด้วยผลิตภัณฑ์สมูทตี้หลากหลายรสชาติ ส่วนผสมประกอบด้วย ผัก ผลไม้ และธัญพืชที่ออกแบบโดยเชฟและนักโภชนาการ มีการคำนวณแคลอรีคร่าวๆ ตั้งแต่ 100-400 แคลอรี ขึ้นอยู่กับว่าลูกค้าจะปั่นด้วยของเหลวอะไร เช่น นมสด นมอัลมอนด์ น้ำมะพร้าว น้ำผลไม้ โยเกิร์ต หรือน้ำเปล่า หลังจากชิมลางตลาดด้วยสมูทตี้ Daily Harvest ก็ขยายผลิตภัณฑ์เพิ่ม ประกอบด้วย สมูทตี้ (ทำจากผัก ผลไม้ ธัญพืช) ซุป (ผักแช่แข็งและธัญพืชนำมาต้มกับน้ำ) ไอศกรีม (วัตถุดิบแช่แข็ง เมื่อปั่นออกมาจะได้เป็นไอศกรีมซอฟต์เซิร์ฟ) และพาร์เฟต์ (Parfait-ขนมหวานจัดเรียงเป็นชั้นๆ ในถ้วย ทำจากข้าวโอ๊ต เมล็ดเจีย และผลไม้)
               
     รายงานระบุตลาดอาหารดิลิเวอรีในสหรัฐฯ มีมูลค่าราว 1,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และมีผู้เล่นกว่า 150 ราย ธุรกิจของ Daily Harvest จัดอยู่ในหมวดหมู่ Meal Kit หรืออาหารพร้อมปรุงที่มี Startup หลายเจ้าล้วนเข้าไปจับจองพื้นที่ในตลาดอยู่แล้ว เช่น Blue Apron, Plated, HelloFresh, Green Chef และ Martha& Marley Spoon แต่สิ่งที่ Daily Fresh สร้างความแตกต่างจากเจ้าอื่นคือการเน้นอาหารเช้าเป็นหลัก ทุกเมนูเป็นมังสวิรัติ วัตถุดิบออร์แกนิกคัดสรรจากฟาร์มทั่วประเทศโดยใช้ระบบ Farm-Frozen คือผ่านกระบวนการแช่แข็ง ณ จุดเก็บเกี่ยว ผักผลไม้ที่เลือกเป็น Super Food คุณค่าทางโภชนาการสูง ไม่เติมน้ำตาล สารกันบูด หรือสารปรุงแต่งรสใดๆ หากต้องการความหวาน ทางบริษัทจะใช้น้ำตาลจากผลไม้อบแห้ง เช่น อินทผลัม
               
     แม้จะเป็นเมนูไร้เนื้อสัตว์ แต่มีการเพิ่มโปรตีนจากพืช เช่น ถั่วและธัญพืชลงในอาหาร และบรรจุในถ้วยกระดาษ ใช้เป็นแก้วหรือถ้วยซุปได้ เมื่อใช้เสร็จก็โยนทิ้งได้เลยไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม การใช้วัตถุดิบออร์แกนิกไร้สารและใช้เวลาเตรียมแค่ 30 วินาทีก็พร้อมรับประทานทำให้ Daily Harvest สามารถชูจุดขายของสินค้าได้ว่าเป็น Fast Food +Super Food          
               
     สิ่งที่เหมือน Meal Kit เจ้าอื่นคือการทำธุรกิจในรูปแบบ Subscription หรือการสมัครสมาชิก ซึ่ง Daily Harvest ให้บริการทั้งรายสัปดาห์ (6-12 ถ้วย เฉลี่ยถ้วยละ 7.99 ดอลลาร์ฯ) และรายเดือน 24 ถ้วย ราคาถ้วยละ 6.99 ดอลลาร์ฯ สินค้าสามารถแช่แข็งในตู้เย็นได้นานถึง 3 เดือนโดยไม่สูญเสียคุณค่าทางอาหาร สำหรับลูกค้าเป้าหมายประกอบด้วยครอบครัวที่ผู้ปกครองไม่ค่อยมีเวลา หนุ่มสาวคนทำงานที่หาเวลายาก และกลุ่มคนสูงวัยที่เกษียณแล้วซึ่งกำลังมองหาความสะดวกในการบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพ
               
     เรเชลผู้ก่อตั้ง Daily Harvest เล่าว่า สองสิ่งที่เธอทุ่มเทในช่วงแรกของการดำเนินธุรกิจคือ การเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับประโยชน์ของอาหารแช่แข็ง และการวางแผนเพื่อทำให้ธุรกิจสามารถแข่งขันกับรายอื่นในตลาดได้
               
     โอกาสและจังหวะมาถึงเมื่อ  Angel Investor หรือนักลงทุนอิสระจำนวนหนึ่งมองเห็นศักยภาพของ Daily Harvest จึงยื่นมือเข้ามาช่วยด้านเงินทุน ในบรรดานักลงทุนอิสระที่ว่ารวมถึงบุคคลมีชื่อเสียงระดับ A-List ในสังคม ได้แก่ กวินเน็ธ พัลโทรว์ และเซเรนา วิลเลียมส์ ซึ่งการลงทุนของคนดังทั้งสองช่วยตอกย้ำภาพลักษณ์ในทางบวกของ Daily Harvest โดยเฉพาะกวินเน็ธที่ช่วงหลังผันตัวเองมาเป็นกูรูด้านสุขภาพ ทำแมกกาซีน Goop ที่เน้นเนื้อหาเกี่ยวกับการกินดีอยู่ดี จึงเป็นเสมือนตัวแทนที่รับรองคุณภาพสินค้าของ Daily Harvest เพราะหากไม่ดีจริง ดาราดังฮอลลีวู้ดคงไม่ร่วมลงทุนด้วย จากที่ผลิตและจัดส่งเฉพาะในนิวยอร์ก ปัจจุบัน  Daily Harvest ขยายธุรกิจในสเกลที่ใหญ่ขึ้น มีพันธมิตรเป็นฟาร์มต่าง ๆ และสามารถจัดส่งสินค้าให้สมาชิกใน 32 รัฐทั่วประเทศ เรเชลมีแผนจะขยายบริการให้ครอบคลุมมากขึ้น เธอทิ้งท้ายคำแนะนำสำหรับ Startup ที่ต้องการเริ่มธุรกิจว่า “เมื่อคิดจะทำธุรกิจ จงเชื่อในสัญชาตญาณตัวเอง”


 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี