Starting a Business

เจาะกลยุทธ์ทำเงินจากร้านแฟชั่นออนไลน์ของคุณแม่ลูกหนึ่ง




 
 
     การกำเนิดของอี-คอมเมิร์ซหากจะว่าไปก็เริ่มเมื่อเกือบ 50 ปีที่แล้วหลังจากที่มีการแนะนำเทคโนโลยีที่เรียกว่าอินเทอร์เน็ต ในยุคแรกๆ นั้น อี-คอมเมิร์ซเป็นแค่เพียงการทำธุรกรรมการเงินระหว่างองค์กร เมื่ออินเทอร์เน็ตแพร่หลาย สิ่งหนึ่งที่ตามมาคือวิวัฒนาการของอี-คอมเมิร์ซ เริ่มจากการเป็นช่องทางจำหน่ายสินค้าผ่านเว็บไซต์ จากคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะมาสู่คอมพิวเตอร์พกพา สู่โทรศัพท์มือถือ และล่าสุดคือสมาร์ทโฟนที่เป็นได้เกือบทุกอย่าง รวมถึงเป็นร้านค้าออนไลน์ ยิ่ง เมื่อบวกกับการพัฒนาระบบชำระเงินออนไลน์ที่เป็นไปอย่างสะดวกและรวดเร็วแล้ว อี-คอมเมิร์ซในยุคนี้จึงรุ่งเรืองเฟื่องฟูยิ่งนัก ผู้คนทั่วโลกสามารถทำธุรกรรมซื้อขายสินค้าแบบข้ามพรมแดนได้ทุกที่ ทุกเวลา

     สำหรับผู้ใช้สมาร์ทโฟน เชื่อว่าจำนวนมากต้องเคยช้อปปิ้งผ่านตลาดนัดออนไลน์ในรูปแบบ “แอพพลิเคชั่น” กันบ้างล่ะ ผู้เขียนก็ดาวน์โหลดมาหลายแอพ ไม่ว่าจะ Shopee, eBay, AliExpress หรือ Lazada เชื่ออีกเช่นกันว่าจากที่เป็นผู้ซื้อ หลายคนคิดอยากเป็นผู้ขายบ้าง หากลองคลิกเข้าไปดูจะเห็นจำนวนผู้ขายมหาศาลมาก จนไม่รู้จะเริ่มตรงไหน หรือจะแข่งขันกับคนอื่นอย่างไร วันนี้มีเรื่องราวของเจนนิเฟอร์ อินทวงศ์ สาวอเมริกันเชื้อสายเอเชียอาศัยในลอสแองเจลิสมาเล่าสู่กันอ่าน

     เจนนิเฟอร์ก็เหมือนหญิงสาวทั่วไปที่คลั่งไคล้การช้อปปิ้งโดยเฉพาะเสื้อผ้า กระเป๋า รองเท้า จุดเริ่มต้นที่ทำให้เข้าสู่ธุรกิจออนไลน์คือเมื่อปี 2013 เธอคลอดลูกคนแรกและมีความคิดอยากมีเวลาเลี้ยงลูกชายที่บ้านโดยสามารถหารายได้เสริมไปด้วย งานประจำที่ทำตอนนั้นคือเจ้าหน้าที่แนะแนวประจำวิทยาลัยแห่งหนึ่ง
วันหนึ่งระหว่างเล่นเฟซบุ๊กก็บังเอิญเห็นโฆษณา Poshmark แอพพลิเคชั่นซื้อขายสินค้าแฟชั่นมือสอง ถือเป็นตลาดนัดสินค้าแฟชั่นที่ใญ่สุดในอเมริกา ด้วยจำนวนคนขายกว่า 2 ล้านราย สินค้าราว 25 ล้านรายการจาก 5,000 แบรนด์

     เจนนิเฟอร์เกิดความสนใจและเกิดไอเดียจะนำเสื้อผ้า กระเป๋า รองเท้า และอื่นๆ ที่ไม่ใช้แล้วไปขายในชุมชนคนรักแฟชั่นอย่าง Poshmark เธอลงทะเบียนและเข้าไปลองขาย ปรากฎขายได้ จึงทำการ “เปิดตู้เสื้อผ้า” ซึ่งก็คือการเปิดร้านบนแอพนั่นเอง และเริ่มขายอย่างจริงจัง กระทั่งรายได้เข้ามาเป็นกอบเป็นกำสม่ำเสมอ เธอจึงลาออกจากงานเพื่อขายของออนไลน์เต็มตัว สำรับรายได้สุทธิเธอเปิดเผยว่าอยู่ที่เดือนละ 5,000-10,000 ดอลลาร์ ปีนึงก็หลักแสนขึ้นไป

     หลายปีที่คลุกคลีอยู่กับ Poshmark เจนนิเฟอร์เรียนรู้จากประสบการณ์ว่าควรทำอย่างไรให้ลูกค้าเข้ามาชมและคลิกซื้อสินค้า และกลับมาใหม่อีกเรื่อยๆ

     สิ่งแรกคือการนำเสนอสไตล์และรสนิยมของตัวเองอย่างเด่นชัด ลูกค้าจะได้ทราบว่าหากเข้ามาแล้วจะเจอเสื้อผ้าแบบไหน เป็นการดึงดูดกลุ่มคนรสนิยมใกล้เคียงกัน

     อย่างที่สองคือ เข้าไปส่องบรรดา top seller ที่ทำยอดขายสูงว่าเขาขายอะไรบ้าง และมีเทคนิคเรียกลูกค้าหรือทำโปรโมชั่นอย่างไร จะได้มาปรับใช้

     กลยุทธ์ที่สำคัญที่สุดคือการสร้างสัมพันธภาพกับลูกค้า เนื่องจาก Poshmark ถูกออกแบบมาไม่ใช่เป็นแค่ตลาดนัดซื้อขายสินค้าแฟชั่น หากยังเป็นชุมชนที่ผู้ซื้อผู้ขายสามารถแลกเปลี่ยนความเห็นและคนขายซึ่งจำนวนมากเป็นดีไซเนอร์และสไตลิสต์สามารถให้คำแนะนำลูกค้าเกี่ยวกับการแต่งตัว เจนนิเฟอร์เองก็ใช้เวลาหลายปีในการค่อยๆ สร้างเครือข่ายลูกค้า Posh friends ขึ้นมา ลูกค้าหลายรายกลายเป็นเพื่อน มีการพูดคุยเป็นการส่วนตัว นัดพบกันบ้างก็มี เกิดเป็นความสัมพันธ์อันแนบแน่น

     เจนนิเฟอร์กล่าวว่าความสำเร็จที่เกิดขึ้นไม่ได้มาแบบข้ามคืนหรือง่ายดาย มันเกิดจากการสั่งสมประสบการณ์ การสร้างเครือข่ายของตัวเอง และการค่อยๆ ค้นหาซัพพลายเออร์ที่ทำงานเข้ากันได้ดี

     ช่วงหลัง Poshmark เพิ่มเซคชั่นใหม่ “บูติก” เป็นเซกชั่นที่เน้นจำหน่ายสินค้าใหม่จากร้านหรือจากดีไซเนอร์โดยตรง เจนนิเฟอร์เองก็เสาะแสวงหาโรงงานผลิตสินค้าที่ตรงกับความต้องการมาขาย สินค้าที่ว่ามีสไตล์ต โดดเด่นและแฟชั่นเป็นเอกลักษณ์เป็นการตอบสนองรสนิยมของบรรดาลูกค้าในเครือข่ายของเธอ ทั้งหมดทั้งปวงคือเคล็ดไม่ลับที่สร้างรายได้งดงามให้คุณแม่ลูกหนึ่งจากแอลเอคนนี้      
 
     ที่มา : www.businessinsider.com/fashion-app-poshmark-lets-users-buy-and-sell-clothing-from-home-2018-4
 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี