Starting a Business

befor.tart ทาร์ตรสชาติหนังเรื่องโปรด





 
 
     เมื่อความชอบลิ้มรสทาร์ตมาผสมผสานเข้ากับกิจกรรมสุดโปรดอย่างการดูหนัง จึงก่อให้เกิด befor.tart ทาร์ตที่อบอวลไปด้วยเรื่องราวของหนังของ สุรัตน์ ซิการี่ ซึ่งกว่าที่หนังแต่ละเรื่องจะกลายมาเป็นทาร์ตหน้าตาน่ารับประทานนั้น เขาต้องดูหนังเรื่องนั้นซ้ำแล้วซ้ำอีกเพื่อให้เข้าใจในตัวละครและความหมายของฉากที่ต้องการเล่า

     สุรัตน์เล่าให้ฟังว่า ทาร์ตเป็นขนมที่มีรูปทรงง่ายต่อการครีเอตอะไรใหม่ๆ ลงไป ซึ่งส่วนใหญ่ทาร์ตของ befor.tart จะมีรูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าเพราะต้องการสื่อถึงจอหนัง ขณะที่หน้าตาและรสชาติของทาร์ตแต่ละชิ้นแทนตัวละคร หรือเนื้อเรื่องบางฉากบางตอน

     ตอนนี้ befor.tart มีทาร์ตคอลเลกชันประเภทหนังซึ่งมีขายทั้งปี โดยมีทั้งทาร์ต Drama รสหวานมัน ทาร์ต Action หอมกลิ่นควัน ทาร์ต Romantic Comedy รสหวานๆ เปรี้ยวๆ รวมถึงทาร์ต Science Fiction สีน้ำเงิน-ดำ ให้ความรู้สึกเป็นอวกาศ ส่วนทาร์ตคอลเลกชันหนังมี 4 เรื่อง ได้แก่ ทาร์ตจากหนังไตรภาคเรื่อง Before Sunrise / Before Sunset / Before Midnight ทาร์ตจากหนังเรื่อง Lalaland ทาร์ตจากหนังเรื่อง Inception และทาร์ตจากหนังเรื่อง About Time
ทั้งนี้ ในส่วนของจำนวนทาร์ตคอลเลกชันหนังแต่ละเรื่องจะไม่เท่ากันขึ้นอยู่กับว่าจะหยิบกี่เรื่องราวในหนังมาเล่า และทาร์ตทุกชิ้นจะมีชื่อเรียกเฉพาะอีกด้วย ซึ่งทั้งหมดนี้ก็คือ การสร้าง Storytelling กลยุทธ์การตลาดของสุรัตน์เพื่อสร้างความแตกต่างให้กับโปรดักต์นั่นเอง




      “ทาร์ตทุกชิ้นของ befor.tart มีรสชาติสอดคล้องกับหนัง เช่น ทาร์ตจากหนังเรื่อง Inception ทาร์ตแต่ละชิ้นจะสื่อถึงการหลับระดับต่างๆ ส่วนผสมที่ใช้จึงให้รสและกลิ่นที่ช่วยเรื่องการนอน ทาร์ตชิ้นแรกชื่อ Yusuf’s มีส่วนผสมของน้ำผึ้งกับนม ให้ความรู้สึกผ่อนคลาย ทาร์ตชิ้นนี้แทนช่วงหลับธรรมดา ชิ้นที่สอง Arthur’s มีส่วนผสมของลาเวนเดอร์ ช่วยเรื่องกลิ่น ทำให้รู้สึกผ่อนคลายก่อนหลับลึก ชิ้นที่สาม Eames’ แทนช่วงหลับลึก ทาร์ตชิ้นนี้มีส่วนผสมของคาโมมายล์ ทำให้รู้สึกเย็นสบาย และชิ้นสุดท้าย Cobb’s มีส่วนผสมของกล้วยที่ช่วยให้หลับสบายและโกโก้ที่ช่วยให้ตื่นซึ่งแทนความรู้สึกของตัวละครที่ไม่รู้ว่าตอนนี้ฝันหรือตื่น”

     นอกเหนือจากการ befor.tart จะเป็นขนมทาร์ตที่มีรสชาติของหนังแล้ว สุรัตน์ยังสร้างความแตกต่างยิ่งขึ้นไปอีกด้วยการมีวิธีกินที่ต่างกัน ซึ่งการกินตามวิธีที่สุรัตน์แนะนำจะทำให้เข้าถึงรสชาติความอร่อยของทาร์ตคอลเลกชันนั้นๆ มากยิ่งขึ้น ตัวอย่างเช่น ทาร์ตจากหนังเรื่อง Inception ที่ต้องเริ่มกินจากชิ้นที่หนึ่งไปจนชิ้นสุดท้าย เพราะทาร์ตชิ้นถัดไปจะกลบรสชาติของทาร์ตชิ้นก่อนหน้าจนหมดสิ้นเปรียบเหมือนการลืมความฝันในแต่ละช่วง ส่วนทาร์ตจากหนังเรื่อง About Time ต้องกินแบบย้อนเวลาเพื่อให้รู้สึกอินไปกับหนังที่เล่าถึงการย้อนเวลา และยังช่วยให้รสชาติของทาร์ตแต่ละชิ้นชัดเจนขึ้น วิธีกินแบบย้อนเวลา คือ กินทาร์ตชิ้นที่หนึ่งของรสชาติแรก ตามด้วยทาร์ตรสชาติที่สองเพียงครึ่ง จากนั้นกลับมากินทาร์ตชิ้นที่สองของรสชาติแรก ก่อนปิดท้ายด้วยทาร์ตรสชาติที่สองอีกครึ่งหนึ่งที่เหลือ

     ไม่เพียงเท่านั้น สิ่งที่ดึงดูดความสนใจของลูกค้าไม่ใช่แค่ความพิเศษของทาร์ตที่สร้างจากหนังเรื่องโปรดและวิธีกินที่เฉพาะเจาะจงในแต่ละคอลเลกชัน แต่เป็นการสร้างแคปชันที่สุรัตน์เขียนขึ้นในโซเชียลฯ โดยแคปชันที่ใช้ไม่ใช่แคปชันที่บอกว่าทาร์ตอร่อยมาก ต้องลองให้ได้ แต่เป็นแคปชันที่พูดถึงฉาก เพลง หรือตัวละครจากหนัง ซึ่งเป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์ของการสร้างคอนเทนต์เพื่อเข้าถึงลูกค้าบนโลกออนไลน์




     “ผมไม่เขียนเนื้อเรื่องทั้งหมดลงไปหรือบอกที่มาของรสชาติอย่างละเอียด เพราะไม่อยากให้ลูกค้าเสียอรรถรสในการกิน นอกจากนี้ ภาพที่โพสต์ในโซเชียลฯ ก็แตกต่างจากแบรนด์ขนมทั่วไป เจ้าอื่นอาจใช้ภาพที่สื่อถึงวัตถุดิบหรือภาพคนกำลังกินขนม แต่ภาพที่ผมใช้จะไม่เหมือนภาพขนม โดยผมจะจัดวางทาร์ตในระนาบเดียวกันและถ่ายมุมท็อป ส่วนพื้นหลังใช้สีที่ตัดกับสีของทาร์ตเพื่อให้ทาร์ตโดดเด่น”

     befor.tart ไม่เพียงแต่ขายทาร์ตที่ทำมาจากหนังเรื่องโปรดของชายผู้เป็นเจ้าของแบรนด์เท่านั้น แต่ลูกค้ายังนำหนังสุดเลิฟหรือตัวตนของตัวเองมาสร้างสรรค์เป็นทาร์ตได้ด้วย ที่สำคัญเลือกวัตถุดิบที่ชอบมาเป็นส่วนประกอบได้ ซึ่งการสั่งแบบ Made to Order ใช้เวลารอประมาณ 7 วัน  

     และนี่คือการหยิบเอากลยุทธ์ Storytelling มาสร้างความแตกต่างและดึงดูดความสนใจของลูกค้า...กลยุทธ์การตลาดที่ใช้พลังไอเดียและความคิดสร้างสรรค์มากกว่ากำลังเงิน
 
            Facebook : befor.tart
            Instagram : befor.tart
 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี