Starting a Business

Robot chef เชฟสายพันธุ์ใหม่ในร้านอาหารแห่งอนาคต





 

     ระบบควบคุมอัตโนมัติ (automation) ซึ่งเป็นระบบการทำงานที่มีการโปรแกรมล่วงหน้ากำลังแทรกซึมเข้ามาทุกธุรกิจ ไม่เว้นกระทั่งธุรกิจร้านอาหาร ตั้งแต่การสั่งอาหารผ่านจอระบบสัมผัส ไปจนถึงบาริสต้าหุ่นยนต์ บาร์เทนเดอร์หุ่นยนต์ และหุ่นยนต์ทำราเมงดังที่เคยเป็นข่าว ล่าสุด ร้านอาหารเปิดใหม่ในบอสตัน ชื่อ Spyce ก็สร้างความฮือฮาให้ลูกค้าด้วยการนำ The Spyce Kitchen Robot หุ่นยนต์มาทำหน้าที่ปรุงอาหารแทนเชฟที่ประกอบด้วยหม้อเหล็ก 7 ใบเชื่อมต่อกลไกต่างๆ ได้แก่ ส่วนที่เก็บวัตถุดิบ เช่น ผัก โปรตีน และธัญพืช และซ้อสต่าง ๆ

     The Spyce Kitchen Robot พัฒนาโดย 4 บัณฑิตหนุ่มวัย 20 กว่าที่เพิ่งจบสาขาวิศวกรรมหุ่นยนต์จากสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (MIT) หลังจากที่ออกแบบและแก้ไขจนลงตัว หุ้นส่วนทั้ง 4 คนก็ลงขันกันเปิดเป็นร้านอาหารขึ้นมาเพื่อนำผลงานของตัวเองมาใช้ โดยมี Daniel Boulud เชฟระดับดาวมิชลินซึ่งเป็นเจ้าของร้านอาหารดังในนิวยอร์กเป็นผู้ออกแบบสูตรอาหารให้ โดยเมนูอาหารจะแบ่งเป็นธีม เช่น ไทย ละติน เมดิเตอร์เรเนียน และอินเดีย เป็นต้น

     ร้าน Spyce เพิ่งเปิดบริการเมื่อเดือนพ.ค.ที่ผ่านมา ได้รับการตอบรับค่อนข้างดี ส่วนหนึ่งเป็นเพราะลูกค้าต้องการมาพิสูจน์ฝีมือการปรุงอาหารด้วยปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI (Artificial Intelligence) และตื่นตาตื่นใจไปกับระบบอัตโนมัติต่างๆ ขั้นตอนการใช้บริการคือลูกสั่งอาหารผ่านหน้าจอระบบสัมผัสที่วางเรียงรายในร้าน โดยสามารถเพิ่มหรือลดส่วนผสมตามชอบ เช่น สั่งเพิ่มชีส เพิ่มแฮม เพิ่มไข่ ไม่ใส่มะเขือ ปลอดกลูเต็น เป็นต้น

     เมื่อได้รับคำสั่ง The Spyce Kitchen Robot จะชั่งตวงวัดวัตถุดิบตามเมนูที่ลูกค้าเลือกแล้วส่งวัตถุดิบนั้นไปยังหม้อเพื่อทำการปรุงให้สุก หม้อดังกล่าวสามารถควบคุมความร้อนได้มากถึง 450 องศาฟาเรนไฮต์ (ประมาณ 225 องศาเซลเซียส) และจะกำหนดความร้อนในการปรุงให้เหมาะกับเมนูที่สั่ง ด้านบนเหนือหม้อที่กำลังปรุง จะมีจอขึ้นข้อความ ทักทายลูกค้าและแจ้งว่ากำลังปรุงเมนูอะไรอยู่ เมื่อปรุงเสร็จและเทใส่ชาม พนักงานร้านจะยกมาตกแต่งชามและเติมเครื่องเพิ่ม ก่อนส่งให้ลูกค้า McKinsey Global  Institute สามารถปรุงอาหารด้วยความรวดเร็วไม่ถึง 3 นาทีต่อเสิร์ฟ และสามารถปรุงได้ 200 ชามใน 1 ชั่วโมง

     รายงานระบุเมนูในร้านมีทั้งเมนูทั่วไปที่มีเนื้อสัตว์ และเมนูมังสวิรัติ ส่วนใหญ่เป็นผักและธัญพืช ออกแนวอาหารแนวเพื่อสุขภาพ  เช่น เมนู Thai bowl ที่ประกอบด้วยข้าวกล้อง ไก่ย่าง มันเทศ ผักกาดเขียว หอมแดง กระเทียม และราดด้วยซ้อสมัสมั่น ทุกเมนูมีการติดฉลากระบุแคลอรีต่อเสิร์ฟ ราคาอาหารเริ่มต้นที่เสิร์ฟละ 7.5 ดอลลาร์ ทั้งนี้ คอนเซปต์ของร้าน Spyce คือการทำเป็นครัวเปิด นอกจากให้ลูกค้าเห็นขั้นตอนการปรุง เห็นระบบ เช่น มีน้ำร้อนต่อจากท่อเพื่อล้างหม้อทุกครั้งก่อนปรุงเมนูต่อไป ยังสร้างความตื่นเต้นให้ลูกค้าที่กำลังรออาหารอีกด้วย

     ด้าน McKinsey Global  Institute สถาบันวิจัยชั้นนำทางธุรกิจชี้ถึงความสำคัญของการนำเทคโนโลยีมาใช้ในร้านอาหาร โดย 5 งานหลักที่ระบบอัตโนมัติจะมีแนวโน้มเข้ามาเกี่ยวข้องได้แก่ งานครัว งานบริการหน้าร้าน งานทำความสะอาด งานเก็บจานบนโต๊ะ และงานในบาร์เครื่องดื่ม จากการวิเคราะห์ของแมคคินซีย์ 73% ของงานแรงงานด้านบริการอาหารและที่พักสามารถทดแทนได้ด้วยระบบควบคุมอัตโนมัติ และราวปี 2030 คาดว่างาน 400-800 ล้านตำแหน่งจะถูกแทนที่ด้วยระบบอัตโนมัติ

     อย่างไรก็ตาม สี่หนุ่มเจ้าของร้าน Spyce แจงว่าการพัฒนาเชฟหุ่นยนต์ขึ้นมาไม่ได้หวังจะให้แทนที่คน แต่เพื่อช่วยให้การทำงานรวดเร็วขึ้นและควบคุมรสชาติอาหารให้คงที่สม่ำเสมอเท่านั้นเอง นอกจากนั้น ภายในร้านยังต้องมีพนักงานคอยทำหน้าที่สื่อสารกับลูกค้า และคอยเติมวัตถุดิบในการปรุงลงในเครื่องในแต่ละวันอีกด้วย จึงเป็นไปไม่ได้ที่ร้านอาหารจะปลอดพนักงานอย่างสิ้นเชิง
 

ที่มา : www.bostonglobe.com/lifestyle/food-dining/2018/05/08/robots-made-lunch-enjoyed-that-wrong/YXyTNtHKkCe66AZAbhglkN/story.html
www.washingtonpost.com/news/innovations/wp/2018/05/17/will-robots-replace-chefs-at-this-new-boston-restaurant-they-already-have/?noredirect=on&utm_term=.5500bc2579cf
www.cnbc.com/2018/06/15/spyce-is-developing-robotic-restaurants-with-help-from-daniel-boulud.html
 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี