Starting a Business

{JUN} เสื้อสไตล์ตะวันออกของผู้ชายเท่ๆ

Text : Kritsana S. Photo : Vipa Vadi
 

 

Main Idea
 
  • ด้วยความอยากสร้างความแตกต่างให้เกิดในตลาดเสื้อผู้ชายไทย ธัญญพร จิตราภิรมย์ จึงนำเสื้อผู้ชายสไตล์ตะวันออกมาเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์เสื้อแบรนด์ {JUN}
 
  • นอกจากนี้ยังใช้กลยุทธ์ Story Telling เล่าเรื่องราวของผ้า มาเป็นจุดขายของแบรนด์ {JUN}
 



     จากความชินตาที่เห็นแบรนด์เสื้อผู้ชายมักขายเฉพาะ  เสื้อสไตล์ตะวันตก สาวจากเชียงใหม่ จุล-ธัญญพร จิตราภิรมย์ จึงเกิดความคิดอยากสร้างความแตกต่างให้เกิดในตลาดเสื้อผู้ชายไทย เลยนำเสื้อผู้ชายสไตล์ตะวันออกมาเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์เสื้อแบรนด์ {JUN} ซึ่งไอเดียดังกล่าวทำให้ {JUN} ได้รับความสนใจมากทีเดียว

     ธัญญพรเล่าย้อนถึงจุดเริ่มต้นของแบรนด์ให้ฟังว่า สินค้าแรกของแบรนด์ {JUN} ไม่ใช่เสื้อแต่เป็นสายคล้องกล้องที่ขายในราคาย่อมเยา สวนกระแสกับเจ้าอื่นที่ขายราคาค่อนข้างสูง หลังจากขายไปได้สักระยะก็ขยับมาทำกระเป๋าผ้าแคนวาส ถัดมาจึงเป็นเสื้อที่เน้นไปที่เสื้อผู้ชายเป็นหลัก เพราะลูกค้าของสินค้าทั้งสองก่อนหน้าเป็นผู้ชายมากกว่าผู้หญิง

     เพื่อให้เสื้อของ {JUN} เข้าไปอยู่ในความสนใจของลูกค้ามากที่สุด การสร้างเอกลักษณ์ที่แตกต่างจึงเป็นสิ่งที่ต้องทำอย่างยิ่ง ซึ่งเธอเลือกที่จะนำเสื้อผู้ชายสไตล์ตะวันออกมาเป็นแรงบันดาลใจในการออกแบบเสื้อ เพราะมองว่าเสื้อสไตล์นี้ให้ลุคเท่ เนี้ยบ ภูมิฐานได้ไม่แพ้เสื้อสไตล์ตะวันตก แต่เพื่อให้หนุ่มๆ สามารถหยิบมาสวมใส่ได้ในชีวิตประจำวัน จึงปรับแบบเสื้อให้มีความทันสมัยมากขึ้น ขณะเดียวกันก็มีความเรียบง่ายอยู่ด้วย จึงแมตช์กับเสื้อผ้าชิ้นอื่นได้ไม่ยากนัก

     “เสื้อสไตล์ตะวันออกทุกตัวตัดจากผ้าทอของเชียงใหม่ มีทั้งผ้าคอตตอน 100 เปอร์เซ็นต์ ผ้าคอตตอนผสมลินิน และผ้าฝ้ายทอมือย้อมสีธรรมชาติ ตัดเย็บตัวต่อตัวโดยช่างตัดเย็บชุดสูท เสื้อที่ได้จึงมีความประณีต เข้าทรง สำหรับผ้า 2 ชนิดแรกที่นำมาตัดเป็นเสื้อย้อมด้วยสีที่ไม่เป็นอันตรายต่อร่างกายและย้อมโดยโรงงานที่มีการบำบัดน้ำก่อนปล่อยลงคลอง นี่จึงทำให้เสื้อของเราได้ชื่อว่า Natural Friendly ด้วย”

     เสื้อสไตล์ตะวันออก หรือ Ordinary Oriental ของ {JUN} แบ่งออกเป็นฮั่นฝู คอลเลกชัน ซึ่งเป็นเสื้อคอจีนที่มีทั้งแบบผ่าตรงและเฉียงข้าง ได้แรงบันดาลใจจากสไตล์ของคอเสื้อฮั่นฝู เมียนมา คอลเลกชัน ทรงเสื้อเรียกว่า แลกระโดง เป็นเสื้อแบบเป็นทางการที่ชาวเมียนมานิยมสวมใส่เป็นเสื้อตัวในก่อนสวมเสื้อคลุมทับ เสื้อคอลเลกชันนี้เป็นคอตั้งที่เฉียงลงแบบทรงเมียนมา และเดลี คอลเลกชัน ได้แรงบันดาลใจจากเสื้อทรงอินเดียที่มีคอตั้งทรงบางแบบ Grandad Collar ใส่แล้วรู้สึกถึงความเนี้ยบ เรียบร้อย ส่วนสีของเสื้อมีทั้งสีเข้มอย่างสีดำ สีเทา สีน้ำตาล สีน้ำเงิน และสีใหม่ล่าสุดอย่างสีพาสเทล ทั้งสีชมพูอ่อน สีฟ้าอ่อน





     ในส่วนของช่องทางการขายออนไลน์ จุลเข้าไปขายในเฟซบุ๊กและอินสตาแกรม ซึ่งลูกค้าจะเข้ามาเยอะเมื่อมีการซื้อโฆษณา ไลน์แอดที่สะดวกสบายให้แง่ของการ Keep Contact และส่งข้อความถึงลูกค้าทุกคนได้ในเวลาเดียวกัน Shopspot ช่องทางที่ทำให้แบรนด์กับลูกค้าไทยที่ชื่นชอบงานคราฟต์ งานทำมือได้พบเจอกัน และ Pinkoi ช่วยให้แบรนด์เป็นที่รู้จักในตลาดต่างประเทศ ซึ่งหลังจากขยายไปตลาดต่างประเทศ ธัญญพรได้รับรู้ถึงพฤติกรรมความชอบระหว่างลูกค้าไทยและต่างชาติ โดยลูกค้าไทยมักสนใจสินค้าที่อิงกระแสแฟชั่น รวมถึงสินค้าที่มีความแปลกใหม่ และพวกเขามีความเข้าใจว่าทำไมงานคราฟต์ งานทำมือจึงมีราคาสูง หากแต่ลูกค้าต่างชาติบางกลุ่มกลับมองว่า สินค้าประเภทนี้ไม่ได้ต่างจากสินค้าแมส จึงไม่เข้าใจว่าทำไมต้องจ่ายแพงกว่า

     “แค่ขายผ่านช่องทางออนไลน์อาจไม่เพียงพอ จุลเลยออกบู๊ธควบคู่ไปด้วย ปกติอยู่เชียงใหม่เลยไปออกบู๊ธที่ Rustic Market ซึ่งเป็นตลาดงานคราฟต์ของเชียงใหม่ ลูกค้าส่วนใหญ่เป็นฝรั่งและคนกรุงเทพฯ ที่มาเที่ยวในช่วงนั้น ส่วนอีเวนต์ที่จัดในกรุงเทพฯ เลือกไปออกบู๊ธในงานที่เหมาะกับแบรนด์และจัดในสถานที่ที่ลูกค้าอยู่อาศัยหรือเดินทางไปมาได้สะดวก การไปออกบู๊ธที่กรุงเทพฯ ทำให้ได้ลูกค้าใหม่เพิ่มเติม และลูกค้าเก่าที่เคยซื้อสินค้าของเราจากงานครั้งที่แล้วก็ได้กลับมาเจอกันอีกครั้ง”

     เมื่อถามถึงกลยุทธ์การตลาดออนไลน์ที่ใช้เรียกลูกค้า ธัญญพรใช้กลยุทธ์ Story Telling เพื่อให้ลูกค้ารับรู้และเข้าใจในสิ่งที่แบรนด์ทำ เล่าเรื่องราวของผ้าประเภทต่างๆ ที่นำมาตัดเป็นเสื้อ ตลอดทั้งแนะนำคอลเลกชันผ่านเรื่องราวของแรงบันดาลใจที่ก่อให้เกิดเป็นคอลเลกชันนั้นๆ นอกจากนี้ ยังกระตุ้นยอดขายด้วยการจัดโปรโมชันในช่วงที่ต้องการเคลียร์สินค้าเก่าในสต็อก เพื่อเตรียมเปิดตัวสินค้าใหม่

     เสื้อผู้ชายกลิ่นอายตะวันออกแบรนด์ {JUN} วางขายทั้งในร้านออนไลน์ และ Ordinary Selected ร้านขายสินค้าทำมือจากดีไซเนอร์ในเชียงใหม่ ซึ่งธัญญพรเป็นเจ้าของร้าน โดยเกณฑ์ในการเลือกสินค้ามาวางขายคือ เป็นสินค้าที่ใช้ได้ในชีวิตประจำวัน เป็นงานจากดีไซเนอร์คนเหนือ ผลิตในภาคเหนือ และวัสดุที่ใช้หาได้ในท้องถิ่น ไม่เพียงเท่านี้ ยังมีกิจกรรมเวิร์กช็อปงานศิลปะ งานทำมือให้ผู้มาเยือนได้ร่วมสนุกด้วย

     Facebook : ordinaryjun
     Instagram : ordinaryjun
     Line : @ordinaryjun
 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup