Starting a Business

ตู้เช่าเพาเวอร์แบงก์ LAPIS ไอเดียคูลๆ ของเด็กมหา’ลัย

Text : Kritsana S. Photo : Vipa Vadi




Main Idea
 
  • ใครบ้างล่ะจะไม่พกเพาเวอร์แบงก์ แต่กระนั้นก็มีบางครั้งที่ลืม หรือใช้เพลินจนหมดอย่างรวดเร็ว กลายเป็นปัญหาหาที่ชาร์จโทรศัพท์มือถือไม่ได้
 
  • เชื่อว่าปัญหานี้หลายคนต้องเคยเจอ รวมถึงศักดิ์สิทธิ์เองที่เป็นนักศึกษา จนเกิดไอเดียสร้างตู้เช่าเพาเวอร์แบงก์ LAPIS ขึ้นมา เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว
 



     จากพฤติกรรมที่ชอบเล่นโทรศัพท์เลยต้องพกเพาเวอร์แบงก์อยู่เสมอ บางครั้งเพื่อนๆ ก็ยืมใช้ และถ้าไม่พกเพาเวอร์แบงก์ เมื่อแบตเตอรี่โทรศัพท์หมดต้องเสียบชาร์จตามร้านกาแฟ ซึ่งไม่สามารถลุกเดินไปไหนได้เพราะไม่มีใครดูแลให้ ศักดิ์สิทธิ์ เอกวัฒนกิจ นักศึกษาจากคณะการสร้างเจ้าของธุรกิจและการบริหารกิจการ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ เลยนำพฤติกรรมข้างต้นมาเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างตู้เช่าเพาเวอร์แบงก์ LAPIS ที่เข้ามาอำนวยความสะดวกให้กับคนที่ไม่สะดวกพกเพาเวอร์แบงก์

     “หลังจากรู้ว่าโปรเจกต์ที่อยากทำคืออะไรก็ไปปรึกษาอาจารย์ว่าจะเริ่มต้นทำอะไรก่อนหลัง อาจารย์แนะนำให้ทำเป็นระบบ Manual ก่อน นั่นคือ เปิดบู๊ธให้เช่าเพาเวอร์แบงก์ 4 บู๊ธภายในมหาวิทยาลัยเป็นระยะเวลา 3 เดือน แต่ละบู๊ธมีคนนั่งประจำเพื่อให้บริการผู้มาใช้บริการ โดยสามารถยืมและคืนเพาเวอร์แบงก์ที่บู๊ธใดก็ได้ เดือนแรกมีผู้ใช้ 1,000 คน และเพิ่มขึ้นเป็น 2,800 คนภายในเดือนที่สาม จากจำนวนดังกล่าวทำให้เชื่อว่าโปรเจกต์นี้ไปต่อได้อย่างแน่นอน”

     นั่นคือก้าวแรกที่เปรียบเสมือนเป็นสนามทดลองไอเดียคูลๆ ของศักดิ์สิทธิ์ว่าจะไปต่อได้หรือไม่ และเมื่อเห็นวี่แววว่าโปรเจกต์นี้น่าจะเวิร์กอย่างแน่นอน ก้าวต่อไปเขาจึงพัฒนาให้เป็นเรื่องเป็นราวให้ผู้ใช้มีความสะดวกมากขึ้น ด้วยการมองหาคนมาทำแอปพลิเคชัน และตู้สำหรับใส่เพาเวอร์แบงก์ให้เช่า ซึ่งก็เป็นนักศึกษาในมหาวิทยาลัยเดียวกัน

     ทั้งนี้ ศักดิ์สิทธิ์เล่าขั้นตอนการทำงานของตู้เช่าเพาเวอร์แบงก์ LAPIS ให้ฟังว่า ทำงานร่วมกับแอปฯ ถ้าจะยืมให้กดปุ่มยืมในแอปฯ สแกน QR Code หน้าตู้ แล้วหยิบเพาเวอร์แบงก์ไปใช้งาน เมื่อต้องคืนให้สแกน QR Code หน้าตู้ จากนั้นนำเพาเวอร์แบงก์วางกลับไว้ในตู้ ค่าใช้บริการอยู่ที่ 10 บาทต่อชั่วโมง ถ้าไม่คืนภายใน 48 ชั่วโมง ระบบจะตีความว่า เพาเวอร์แบงก์สูญหายหรือถูกขโมย ผู้ใช้ต้องชำระค่าบริการเพิ่ม ซึ่งระบบจะหักค่าใช้บริการอัตโนมัติจากยอดเงินในบัญชีผู้ใช้ที่ตัดจากบัตรเครดิตมาไว้ประมาณ 200-300 บาท

     ตอนนี้ตู้แล้วเสร็จไปกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่แอปฯ เสร็จไปแล้ว 70 เปอร์เซ็นต์ โดยพร้อมให้บริการภายในต้นปีหน้า ซึ่ง 3 จุดแรกที่จะวางตู้ คือ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ วิทยาเขตรังสิต มหาวิทยาลัยรังสิต และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เพราะกลุ่มเป้าหมายหลักคือ นักศึกษาที่มีพฤติกรรมการใช้งานโทรศัพท์มือถือค่อนข้างมาก จากนั้นจึงวางที่ห้างสรรพสินค้าฟิวเจอร์พาร์ค รังสิต เพื่อให้บุคคลทั่วไปใช้บริการ

     ในส่วนของแผนในอนาคต ศักดิ์สิทธิ์ตั้งใจมองหาพาร์ตเนอร์ต่างประเทศ เพื่อให้ผู้ที่ยืมเพาเวอร์แบงก์จากตู้ที่ไทยสามารถคืนเพาเวอร์แบงก์ที่ตู้ในประเทศใดก็ได้ และพัฒนาตู้เช่าเพาเวอร์แบงก์ LAPIS ให้กลายเป็นเสาชาร์จอุปกรณ์ไฟฟ้าแบบไวร์เลสที่ชาร์จแบตฯ ได้ทันทีเมื่อเข้าแอปฯ

     นี่แหละคือไอเดียคูลๆ ของเด็กมหาวิทยาลัย ที่น่าเอาใจช่วยให้ก้าวต่อๆ ไปราบรื่นสมความตั้งใจ
 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup