Starting a Business

SIAM1928 แปลงโฉมน้ำหอมไทยลุคใหม่ โดนใจทุก GEN

Text : Kritsana S. Photo : Vipa Vadi
 


 
Main Idea
 
  • น้ำอบไทยเป็นสินค้าที่อยู่คู่คนไทยมาหลายสิบปี ภาพลักษณ์จึงมักถูกมองว่าเชย ล้าสมัย และกลุ่มคนใช้จะมีเพียงคนแก่ เท่านั้น
 
  • แต่เมื่อน้ำอบปรุงเจ้าคุณเป็นธุรกิจดั้งเดิมของครอบครัว จึงทำให้ ณัท เวชชศาสตร์ ตัดสินใจนำน้ำอบปรุงนั้นมาแปลงโฉมให้กลายเป็นน้ำหอม SIAM1928 ที่หวังเจาะตลาดคนรุ่นใหม่  




     สินค้าที่จะขายได้ในยุคนี้ ไม่ใช่เพียงคุณภาพดีอีกต่อไป เพราะคอนเซปต์แบรนด์ก็มีผลอย่างมากต่อการตัดสินใจซื้อของลูกค้า เมื่อตระหนักถึงเรื่องนี้เป็นสำคัญ ณัท เวชชศาสตร์ จึงนำน้ำอบปรุงของไทยเรามาแปลงโฉมให้กลายเป็นน้ำหอมที่โดดเด่นทั้งเรื่องของคอนเซปต์ ดีไซน์ และกลิ่น

     SIAM1928 คือ แบรนด์น้ำหอมสัญชาติไทยที่พัฒนาต่อยอดมาจากน้ำอบปรุงเจ้าคุณ (ธุรกิจทางบ้านของเขา) โดยก่อนตัดสินใจสร้างแบรนด์ เขาได้เล็งเห็นว่า น้ำอบปรุงราคาไม่ถึงร้อยบาทสามารถมีมูลค่าเพิ่มสูงได้ หากมีคอนเซปต์ที่แข็งแรง ชัดเจน และสิ่งที่ทำให้เขามั่นใจว่า น้ำหอม SIAM1928 สามารถแข่งขันกับแบรนด์น้ำหอมอื่นได้อย่างแน่นอน คือ ยอดขายที่เกินคาดจากการเปิดตัวครั้งแรกในงานเทศกาล Bangkok Design Week 2019 ที่จัดขึ้นเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา

     สิ่งที่ทำให้น้ำหอม SIAM1928 เข้าไปอยู่ในความสนใจของคนรุ่นใหม่ในเวลาอันรวดเร็วไม่ใช่เพราะกลิ่นหอมไทยๆ แต่ด้วยคอนเซปต์ที่นำเอาความทรงจำของเจ้าของแบรนด์ไปบรรจุไว้ในน้ำหอม เช่น คอลเลกชัน Seasons of Siam เป็นการหยิบความทรงจำที่มีต่อทั้ง 3 ฤดูของไทยมาเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์กลิ่น น้ำหอมกลิ่นแรกชื่อ วสันต์ ได้แรงบันดาลใจจากกลิ่นหลังฝนตกอย่างกลิ่นอายดินและกลิ่นหอมอ่อนๆ ของดอกไม้ กลิ่นมีความลุ่มลึก น่าค้นหา ซ่อนความหวานของดอกไม้ไว้เล็กน้อย ถัดมาเป็นกลิ่นฤดูหนาวในชื่อ เหมันต์ กลิ่นมีความหวานเย็นของดอกไม้นานาพันธุ์ เพราะมีกลิ่นหอมของสวนดอกไม้ในฤดูหนาวเป็นแรงบันดาลใจ และคิมหันต์ กลิ่นของฤดูร้อน แรงบันดาลใจมาจากกลิ่นหอมในช่วงเทศกาลสงกรานต์ กลิ่นมีความเย็น สดชื่น และคงความเป็นไทยไว้มากที่สุด น้ำหอมทั้ง 3 กลิ่นไม่หอมฟุ้ง แต่ติดทนไม่แพ้น้ำหอมต่างประเทศ





     อีกหนึ่งสิ่งสำคัญคือ แพ็กเกจจิ้งที่ออกแบบรูปลักษณ์ให้มีความทันสมัย เพื่อเปลี่ยนภาพลักษณ์ของน้ำอบปรุงที่คนส่วนใหญ่มองว่าแก่และหลอน ลวดลายบนกล่องสื่อถึงวัฒนธรรมประเพณีไทย เช่น ลวดลายบนกล่องน้ำหอมกลิ่นเหมันต์เป็นภาพการร้อยพวงมาลัย และลวดลายบนกล่องน้ำหอมกลิ่นวสันต์เป็นภาพการแกะสลักเทียนพรรษา

     “ตอนแรกตั้งเป้ากลุ่มลูกค้าไปที่ชาวต่างชาติ เพราะคิดว่าคนไทยไม่อินกับสินค้าไทย แต่หลังจากเปิดตัวแบรนด์ในงานเทศกาล Bangkok Design Week 2019 พบว่า คนไทยทุกเพศทุกวัยให้ความสนใจมาก แบรนด์ของเรามีลูกค้าตั้งแต่กลุ่ม Gen Z อย่างนักเรียนมัธยม ตอนแรกรู้สึกแปลกใจที่น้องๆ ซื้อน้ำหอมของเรา แต่เมื่อได้พูดคุยก็ทราบว่า พวกเขาซื้อเพราะชื่นชอบกลิ่นและไม่สนใจว่าใช้แล้วคนจะมองว่าแก่หรือให้ความรู้สึกหลอน เนื่องจากพวกเขาไม่เชื่อเรื่องผี ลูกค้ากลุ่มที่สอง คือ Gen Y อย่างกลุ่มวัยทำงานที่มองว่า น้ำหอมเป็นเครื่องประดับที่ช่วยเสริมความมั่นใจและภาพลักษณ์ที่ดี ลูกค้ากลุ่มสุดท้ายคือ สาย Creative ที่ต้องการใช้น้ำหอมที่มีกลิ่นหอมเป็นเอกลักษณ์ เป็นกลิ่นที่หาไม่ได้ในน้ำหอมแบรนด์ต่างชาติ”

     ตอนนี้น้ำหอม SIAM1928 วางขายในช่องทางออนไลน์ต่างๆ ช่วงแรกเขามองว่า การขายน้ำหอมผ่านช่องทางนี้เป็นเรื่องทำได้ยาก เพราะคนไม่ได้เทสต์กลิ่นก่อนซื้อ แต่เมื่อศึกษาพฤติกรรมของลูกค้าไทย พบว่าเป็นคนชอบลองเลยเห็นโอกาสที่จะขายได้มากขึ้น สิ่งที่นำมาใช้ในการกระตุ้นให้ลูกค้าออนไลน์ตัดสินใจซื้อคือ รีวิวจากผู้ใช้จริง และการทำ Testimonial นั่นคือ การนำความรู้สึกดีๆ ที่ลูกค้ามีต่อแบรนด์มาถ่ายทอดต่อ





     ในส่วนของช่องทางการขายออนไลน์ นอกจากเฟซบุ๊กและอินสตาแกรม เขาลงขายในเว็บไซต์ขายสินค้าแฮนด์เมดสัญชาติไต้หวันอย่าง Pinkoi ด้วย เนื่องจากต้องการเจาะกลุ่มลูกค้าไต้หวันที่มีความชื่นชอบสินค้าไทยและให้ความสำคัญกับสินค้าแฮนด์เมด โดยน้ำหอม SIAM1928 นอกจากมีความเป็นไทยแล้ว ยังทำด้วยมือทุกขั้นตอน

     “แผนในอนาคตตั้งใจส่งออกไปขายในตลาดต่างประเทศ ตอนนี้อยู่ในช่วงเตรียมตัวให้พร้อม เพราะตลาดน้ำหอมต่างประเทศมีการแข่งขันที่ค่อนข้างดุเดือด แต่ก็เชื่อว่าน้ำหอมของเราสามารถสู้ได้ เพราะเป็นน้ำหอมที่นำเอาองค์ความรู้เรื่องน้ำอบปรุงที่สืบทอดกันมากว่า 90 ปีมาพัฒนาให้มีคุณภาพมากขึ้น คิดค้นกลิ่นขึ้นเอง ไม่เลียนแบบใคร และคงความเป็นไทย ซึ่งความเป็นไทยในที่นี้ไม่ได้สื่อผ่านลายกนกหรือลายไทย แต่สื่อผ่านความละเอียด ความพิถีพิถันตามแบบฉบับคนไทย”

     Facebook : siam1928
     Instagram : siam1928_perfume
     Line : @siam1928
 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup