Starting a Business

พลวัต ดีอันกอง จากเด็กติดเกมสู่นักทำเกมกับเป้าหมายแปลงทุนล้านบาทให้เป็นเงิน 15 ล้านบาท

Text : รัชนี พันธ์รุ่งจิตติ  Photo :  กิจจา อภิชนรจเรข
 

 

Main Idea
 
  • ในวัยเด็กพลวัต ดีอันกอง ก็เหมือนเด็กทั่วไปที่ชอบเล่นเกม จนถูกคนรอบข้างปรามาสว่าเป็นเด็กติดเกม และชีวิตจะพังเพราะเกม
 
  • แต่ใครจะคิดว่าเขาพลิกความหลงใหลนั้นมาเป็น Passion ทำเกมของตัวเอง โดยในช่วงของการเป็นนักศึกษา Artheland เกมที่ผสม AI ของเขาก็ไปเตะตาใครหลายคน
 
  • มาวันนี้เขามีเงินทุนเพื่อมาพัฒนาเกมต่อ เขามีทีมที่ล้วนแต่เป็นเด็กนักศึกษาที่มาร่วมด้วยช่วยกัน และเขามีเป้าหมายที่จะพาเกมของเขาไปในตลาดที่คาดว่าจะมีคนสนใจโหลดไปเล่น และทำให้เขามีรายได้ 15 ล้านบาท! 




     จากความหลงใหลในเกมชนิดที่แค่หลับตาก็ได้กลิ่น ท่ามกลางความหนักใจของคนรอบข้าง ใครจะคิดว่าเด็กชายในวันนั้น จะกลายมาเป็น CEO บริษัท อิมเมจ เอนจิน จำกัด ผู้พัฒนาเกม Artheland ในวัย 25 ปี


     พลวัต ดีอันกอง ก็เหมือนเด็กทั่วไปที่ชอบเล่นเกม จนกลายมาเป็น Passion ที่อยากจะทำเกมเป็นของตัวเองสักวันหนึ่ง แต่เขาก็คิดว่ามันอาจเป็นเพียงความฝัน เพราะการทำเกมต้องใช้เงินจำนวนมากพอสมควร และเด็กอย่างเขาจะทำได้อย่างไร จนกระทั่งเมื่อเขาต้องทำเกมส่งอาจารย์ระหว่างเรียนมหาวิทยาลัย หลายคนที่เห็นเกมของเขาบอกว่า มันขายได้ เขาจึงทุ่มสุดกำลังในการพัฒนาขึ้นมา แล้วใครจะรู้ว่าเกมที่พัฒนาขึ้นจากนักศึกษาคนหนึ่งจะเดินมาได้ไกลถึงขนาดนี้!  
 

จากเด็กติดเกมสู่การทำเกมของตัวเอง  

     เป็นเด็กติดเกม แต่ใช้คำว่าติดอาจจะไม่ค่อยถูก เรียกว่าหลงใหลมากกว่า สามารถนั่งอยู่กับมันได้ 20 ชั่วโมงโดยไม่รู้สึกอะไรเลย ถ้าย้อนกลับไปตอนเด็ก เล่นเกมตั้งแต่สมัยเรียนประถม โรงเรียนต่างจังหวัดซึ่งที่นั่นไม่ใช่ว่าทุกบ้านจะมีคอมพิวเตอร์ ไม่ใช่ทุกคนจะมีโทรศัพท์มือถือ ก็จะใช้วิธีวาดเกมบนกระดาษ ทุกช่วงพักกลางวันทุกคนจะมารวมตัวกันเล่นเกมกระดาษนี้ ผมก็เป็นหนึ่งในนั้น แล้วก็สร้างเกมตั้งแต่นั้นคือ เขียนเกมบนกระดาษ มีตัวละคร มีด่าน มีอาวุธ สมมติสมุดมี 100 หน้า ผมก็จะวาดด่าน 100 หน้า มันดูไม่น่าเป็นไปได้แต่เกิดขึ้นแล้ว แล้วผมก็มีความสุขที่ได้ทำ ด้วยความที่ผมเป็นเด็กต่างจังหวัด ครอบครัวฐานะปานกลางพ่อทำสวน แม่ขายของเล็กๆ น้อยๆ ไม่สามารถหาซื้อสิ่งที่ผมต้องการได้ ผมก็ต้องหาเอง การเล่นเกมของผมจึงไม่ใช่แค่เล่นเกม แต่ผมหาเงินจากมันได้ ผมขายไอเท็มในเกม ซึ่งของพวกนี้มีมูลค่าสูงมาก สมัยก่อนมีเกมหนึ่งดาบเล่มเดียวราคาเป็นล้าน ซึ่งโชคดีที่เขาหามันได้ แต่ผมไม่ได้โชคดีอย่างนั้น ผมก็หาได้ดาบชิ้นละพันสองพันบาท ก็เอามาส่งผมเรียนช่วยค่าโปรแกรม เพราะผมจะไม่ใช้โปรแกรมเถื่อนเลย ขณะที่เพื่อนผมใช้ของเถื่อนกันหมด เพราะผมถูกเลี้ยงมาแบบนั้นเป็นมนุษย์สุดโต่ง แล้วพอสุดโต่งมันก็มีราคา ก็ต้องหาเงินเพื่อซื้อมาใช้ ผมโตมาช่วงเรียนมหาวิทยาลัย อุปกรณ์ ซอฟต์แวร์ที่ใช้ก็ยิ่งแพงขึ้น ก็ยิ่งทำให้ผมต้องหาเงิน ช่วงพีกๆ ผมเคยหารายได้จากการเล่นเกมแล้วขายไอเท็มพวกนี้ถึง 4 หมื่นบาท แต่ต้องบอกก่อนว่าในต่างประเทศการขายของพวกนี้เป็นเรื่องปกติ แต่ในเมืองไทยถูกมองว่าเป็นการพนัน

     ช่วงเรียนมหาวิทยาลัย ผมเป็นโบรกเกอร์คือใหญ่ขึ้น มีการจ้างเด็กๆ ซึ่งพวกนั้นเขาไม่ได้อยากได้อะไรอยู่แล้ว ขอให้ได้เล่นเกมฟรี เราให้เกมเขาเล่นฟรี แลกเปลี่ยนกับไอเท็มที่เขาเจอต้องเป็นของเรา แล้วเราก็เอาไอเท็มนี้ไปขาย เรียกว่าผมตั้งใจจะหาเงินจากมันก็ได้ เพราะจะมีการวางแผนล่วงหน้าเอาไว้ด้วย ซึ่งเกมส่วนใหญ่จะเปิดตัวที่ต่างประเทศก่อน ผมก็จะศึกษาหาข้อมูลแล้วก็วางแผนเอาไว้ พอเกมนั้นมาเมืองไทย ผมก็ทำตามแผนเพื่อหาไอเท็มเหล่านั้น แล้วก็เอามาขาย บางเกมมีระบบตลาดสนับสนุนชัดเจน โพสต์ขายในเว็บไซต์ขายในออนไลน์ได้เลย บางเกมที่ต้องแอบก็แอบเพื่อความอยู่รอด

     นอกจากเล่นเกมเพื่อหารายได้ ผมก็ทำเกมเองมาตลอดเวลา ตอนเรียนผมเลือกเรียนคณะที่เชื่อว่าสามารถทำเรื่องพวกนี้ได้ นั่นคือ สาขาวิชาเทคโนโลยีมัลติมีเดียและการสร้างภาพเคลื่อนไหว ที่มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ผมเป็นนักศึกษาที่ไม่เคยหยุดนิ่ง ทำภาพ ทำ 3D เขียนโค้ดตลอดเวลา ไม่เคยปล่อยให้ตัวเองว่าง มันคือความหลงใหล แค่หลับตาก็ได้กลิ่นแบบนั้น ซึ่งการทำเกมนี่ไม่ได้หวังเรื่องรายได้ แค่ทำสิ่งที่ชอบ ช่วงที่เรียนทำมา 3-4 เกม บางเกมก็ทำทิ้งไว้เล่นๆ เพราะว่ามีความสุขที่ได้ทำ แล้วรู้สึกดีเวลาเห็นเพื่อนเล่นเกมของเรา แล้วเขายิ้ม ส่งเสียงหัวเราะ หรือมีบางคนเขียนขอบคุณ     





     ทีนี้ตอนเรียนปี 3 มีวิชาหนึ่งชื่อ Senior Project ซึ่งผมเลือกที่จะพัฒนาเกมเพื่อส่งอาจารย์ พอวันส่งโปรเจกต์มีอาจารย์หลายท่านมาดู ปรากฏว่าอาจารย์ชอบมาก เลยบอกว่า ทำไมพลวัตไม่ไปหาอาจารย์ท่านหนึ่งล่ะ เพราะตอนนี้มีโครงการ Startup Thailand League ถ้าชนะมีเงินสนับสนุนให้เป็นแสนบาท พูดปุ๊บผมก็ตาโตเลย คิดว่าที่ผมทำเล่นๆ มันขายได้ด้วย เลยไปหาอาจารย์มีเวลาเตรียมตัว 11 วันเพื่อพิชชิ่ง ปรากฏว่าผ่านได้เงินมาแสนบาท พอได้เงินมาเริ่มเห็นโอกาสแล้วว่ามันไปได้สวยก็เอาเงินนั้นมาซื้ออุปกรณ์ซื้อซอฟต์แวร์ทั้งหมด เพราะเกมๆ หนึ่งบริษัทใหญ่ๆ ที่พัฒนาเขาใช้เงินหลักร้อยล้านบาท ซึ่งแน่นอนผมไม่มีหลักร้อยล้าน เลยคิดว่าทำอย่างไรถึงจะทำเกมแบบไม่ถึงล้านได้ มันดูเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ในตอนนั้น แต่พอผมมีโอกาสได้เอาเกมนั้นมาแสดงที่สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ พี่ๆ เขาเห็น เขาบอกว่าสิ่งที่น้องทำมันขายได้ คือพอได้ยินอย่างนั้น ก็คิดว่าไม่ใช่แค่ฝันแล้ว ผมได้ยินประโยคนี้จากอาจารย์มารอบหนึ่ง มาได้ยินซ้ำอีกจากสำนักงานนวัตกรรมฯ แสดงว่าพวกเขาเห็นบางอย่าง แล้วผมก็เชื่อจากสิ่งที่เขาเห็น หลังจากเชื่อผมก็ทุ่มทุกอย่างเลย
 

Artheland เกมนี้มีดีอะไร
 
     เกม Artheland ซึ่งมันมีอินโนเวชั่นตรงที่ว่า ผมใช้ AI ในการสร้างเกม เขียน AI แล้วเอา AI มาสร้างเกมอีกที เป็นเกมปรับพฤติกรรม คือมันจะเรียนรู้ว่าเราเป็นคนแบบไหน แล้วปรับตัวเกมเพื่อปรับพฤติกรรมตัวเอง ทำให้คนเล่นเล่นกับตัวเอง ปกติเวลาเราเล่นเกมเราจะคุ้นเคยว่าเราต้องผ่านด่าน มีด่านหนึ่ง ด่านสอง ด่านสาม วางด่านเอาไว้ล่วงหน้าหมดเลย เปรียบเหมือนเราดูภาพยนตร์ เราเสพสิ่งที่คนเขียนบทกับผู้กำกับส่งมาให้ แต่สิ่งที่ผมทำสำหรับ Artheland คือแต่ละด่านจะเกิดจากสิ่งที่ผู้เล่นทำไว้ในด่านก่อนหน้านั้น ไม่มีการวางอะไรไว้ล่วงหน้า แล้วเราก็สามารถสนุกกับมันได้ด้วย คือ เกมมันจะสามารถบิดตัวเองได้ตลอด พูดง่ายๆ เล่นพันครั้งจะไม่เหมือนกันทั้งพันครั้ง ถ้าถามคนเล่นเกมว่า เล่นอะไรไป เขาจะตอบไม่เหมือนกันสักคน เพราะเกมถูกออกแบบให้เหมาะกับแต่ละคนจากการเรียนรู้โดย AI ซึ่งก็สร้างมาจากสมองของคนอีกทีหนึ่ง

     เปรียบเทียบง่ายๆ อย่างเรื่องความอดทน ซึ่งสิ่งที่ผมใช้วัดความอดทนมี 2 อย่าง คือ จิตวิทยากับฟิสิกส์ เช่น ใน 1 นาทีเด็กทำอะไรกับมันได้บ้างแค่ไหน ทำได้เร็วแค่ไหน เพราะเด็กบางคนเล่นเกมเก่งเขาจะกดเร็วมาก ขณะที่การตัดสินใจทำอะไรสักอย่างจะใช้หลักจิตวิทยา คุณรอได้ไหม ถ้ารอได้ด่านต่อๆ ไป หรือรางวัลที่จะได้เป็นอีกรูปแบบหนึ่ง แต่ถ้ารอไม่ได้ตัดสินใจที่จะทำอะไรไปเลยก็จะมีผลตามมา ถ้าเขามีความอดทนต่ำกว่ามาตรฐาน มาตรฐานในที่นี้หมายถึงค่าเฉลี่ยเด็กทั่วไป เกมก็จะบิดตัวเขาเองทำให้เขาต้องทนมากขึ้น แต่ขณะเดียวกันก็ไม่ใช่การรอเฉยๆ เป็นการเร่งเพิ่มจำนวนศัตรู เพิ่มปัญหาเพื่อให้เขาอยู่กับมัน เพื่อบิดเขาไปเรื่อยๆ





     เหตุผลที่อยู่เบื้องหลังแนวคิดนี้คือ ทุกคนรู้ว่าไอศกรีมอร่อย เด็กๆ ชอบกินไอศกรีม แต่มันจะมีภาพติดตามมาว่าไอศกรีมมันหวาน มีคอเลสเตอรอล ผมก็คิดมาตั้งแต่เด็กแล้วว่า ทำไมไม่มีใครทำไอศกรีมที่อร่อยด้วยแล้วมีประโยชน์ด้วย คอนเซปต์นี้ใช้กับเกมได้เหมือนกัน เกมเก่าๆ ของกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ เป็นเกมที่ไม่ได้เรียกว่าเกม แต่เป็นข้อสอบที่เอามาทำเป็นออนไลน์แล้วมาบอกว่าเป็นเกมแล้วเอาไปปล่อยไว้ในห้องสมุดซึ่งเด็กไม่เล่น ผมโตมากับเรื่องพวกนี้เลยคิดว่ามันน่าจะทำเกมที่สนุกได้ด้วยแล้วสอนคนได้ด้วย เลยโฟกัสว่าเกมผมมันต้องเสริมสร้างพัฒนาการของเด็กได้ด้วย สำหรับเกม Artheland ผมมีการทำวิจัยโดยเอาไปทดลองกับเด็กที่จังหวัดเชียงราย ผลวิจัยบอกมาชัดเจนว่าช่วยเรื่องภาษา ความคิดสร้างสรรค์ และแก้ปัญหาให้เด็ก

     แต่ตอนนี้หลังจากที่ได้เงินสนับสนุนจากสำนักงานวัตกรรมครั้งแรก ก็มีโอกาสเข้าไปพิชชิ่ง งาน Open Innovation ได้เงินมา 1.5 ล้านบาท ตอนนี้เลยกำลังรื้อเกม คือภาษาที่ผมใช้เรียกว่า รก มันไม่สะอาด อีกอย่างปัญหาคือ มันเป็นเกมที่ฆ่าปาดคอกันซึ่งเขาไม่ชอบตรงนี้ เลยต้องมารื้อทำใหม่ เวอร์ชันใหม่จะภาพสวยกว่า ระบบการเล่นลื่นไหลกว่า เน้นไปที่การวางแผนมากกว่า โดยเกมนี้จะมี 2 เรต คือ เรต 5+ และเรต 13 ซึ่งไม่ถูกควบคุมโดยผู้ปกครอง ตัวเวอร์ชันใหม่ไม่เกินมิถุนายนนี้ก็จะเสร็จ
 

14-15 ล้านบาทคือตัวเลขในใจที่จะได้จาก  Artheland

     เกมที่สเกลเดียวกันใช้เงินทำเป็นร้อยล้าน ผมใช้ AI สร้างเกม ทำให้ผมไม่ต้องลงทุนเป็นร้อยล้าน อีกอย่างตลาดเกมที่เราปล่อยมันมีขั้นต่ำ เป็นข้อมูลสถิติของเกมสเกลนี้จะขายได้ขั้นต่ำ 32,000 ชุด ต่อให้เป็นเกมที่ไม่มีใครรู้จักเลยก็ตาม ดังนั้น ถ้าผมขายชุดละ 450 บาท นั่นหมายถึงผมจะได้ 14-15 ล้านบาท ซึ่งถ้าเป็นบริษัทใหญ่ๆ ที่เขาลงทุนเป็น 100 ล้านบาท มันไม่คุ้มอยู่แล้ว แต่ผมไม่ได้ใช้เงินลงทุนเยอะขนาดนั้นเลย มันเลยเป็นไปไม่ได้ที่จะขาดทุน

     แต่หวังไว้ว่าถ้ามันติด มันไปได้ไกลกว่าที่คาดหวังไว้ ก็อาจจะแตะหลักร้อยล้าน แต่ไม่ว่ามันจะได้หรือไม่ได้ตรงนั้นผมก็ไม่สนแล้ว เพราะมันเลยจุดที่ผมหวังไว้แล้ว ผมตั้งใจว่าหลังจากเสร็จเกมนี้จะทำคลิปสอนการทำเกมลงยูทูบให้คนดูฟรี ผมเชื่อว่ามันเหมือนกับภาษาอังกฤษในไทยเมื่อ 20 ปีที่แล้วที่ว่าใครพูดได้เท่ แต่ทุกวันนี้ทุกคนพูดภาษาอังกฤษได้ ยุคนี้ก็เหมือนกันเวลาทำเกมผมสงสัยมาตลอดว่า ทำไมบ้านเราไม่ค่อยมีสื่อที่สอนเรื่องการทำเกม เป็นเรื่องยากมากเวลาใครสักคนทำเกมขึ้นมา แต่ผมพิสูจน์ได้แล้วว่าสามารถทำเกมขึ้นมาคนเดียวได้ แล้วคิดว่าคนอื่นก็สามารถทำได้เหมือนกัน หลังจากจบเกมนี้สำหรับผมก็ไม่ใช่เรื่องเงินแล้ว แต่เป็นเรื่องการตอบแทนสังคม ไปทำบางอย่างที่มีค่า ทำบางอย่างที่คนจำชื่อผมได้มากกว่าการหาเงินไปเรื่อยๆ แล้วก็แก่ตาย ผมไม่ทำแบบนั้น

     ส่วนตัวบริษัทก็จะมีลูกน้องทำด้านนี้อยู่ต่อไป ซึ่งตลาดเกม ถ้าเป็นคนเล็กๆ หรืออินดี้ ดีเวลลอปเปอร์เขารู้อยู่แล้วว่าเกมที่ปล่อยไปครั้งแรกจะยังไม่สมบูรณ์ แต่ว่าหลังจากที่เราปล่อยไป เราจะพัฒนาร่วมกับคนเล่น เอาฟีดแบ็กจากคนเล่นมาพัฒนาจนสมบูรณ์  

     แต่ถ้าไม่เป็นอย่างที่คิดคือ ไม่ได้เงิน 14-15 ล้านบาท ผมก็ทำต่ออยู่ดี เพราะผมไม่คิดจะถอยอยู่แล้ว ต่อให้ตอนพิชชิ่งกับสำนักงานนวัตกรรมล่าสุดไม่ผ่านไม่มีใครช่วย ผมก็จะไปต่อจนสุดทาง
 




เบื้องหลังทีมสร้างเกมที่มีแต่เด็กมหาวิทยาลัย

     ตอนนี้ผมมีทีม 11 คน เป็นรุ่นน้องที่มหาวิทยาลัย มาจากเด็กที่ไม่มีใครเอา เป็นเด็กหลังห้อง เกิดจากตอนที่ผมทำ Senior Project อาจารย์บังคับว่าต้องมีทีม ไม่สามารถลุยคนเดียวได้เหมือนทุกครั้ง คือแต่ก่อนทุกโครงการผมจะทำคนเดียวมาตลอด ผมเชื่อว่าผมทำอะไรคนเดียวได้ ผมเก่งกว่า แต่พอถึง Senior Project บังคับให้มีทีมอย่างน้อย 10 คน ผมเลยไปเอาเด็กหลังห้องซึ่งไม่มีใครเอา เพราะต้องการเอามาเป็นหน้าม้าเฉยๆ ผมไม่ต้องการให้ใครมายุ่งกับงานของผม แต่หลังจากที่ผมได้มีโอกาสคลุกคลีกับพวกเขาเลยคิดว่าจริงๆ แล้วถ้าฝึกดีๆ พวกเขาจะสามารถทำงานได้ดี แล้วมีความพิเศษในคนพวกนี้คือ เขามีความซื่อสัตย์สูงมาก เขาจะไม่ทิ้งงาน พร้อมที่จะทำทุกอย่างที่เราบอก ที่ต้องลุย บางคนทำงานติดกันได้ 48 ชั่วโมง ขณะที่คนอื่นเขาไม่ทำแบบนี้ เลยกลายเป็นคนที่มีค่ามากสำหรับผม จากเมื่อก่อนเขาต้องพึ่งผม เพราะผมช่วยเขาทำงานส่งอาจารย์ กลายเป็นว่าผมเองก็ต้องพึ่งเขา ผมไม่มีเขางานผมก็ไม่เสร็จ เขาไม่มีผมเขาก็เรียนไม่จบ ขอยกตัวอย่าง น้องหมี ซึ่งเป็นโรคซึมเศร้า ไม่มีเพื่อน คือคุยกับคนอื่นไม่รู้เรื่อง แล้วไม่เคยออกสังคม เขากำลังจะโดนรีไทร์ ผมบอกเขาว่ายินดีสนับสนุนโปรแกรม อุปกรณ์ ช่วยให้เขาเรียนจบ จากคนที่กำลังจะต้องออกจากมหาวิทยาลัย เขาก็ยังเรียนอยู่ ตอนนี้ผมก็จะพยายามพาเขาไปด้วยทุกครั้งเพื่อให้เขาเจอสังคม เขาก็จะเดินตามผมไปทุกที่ และเขาก็มีความซื่อสัตย์มาก

     ทั้ง 11 คนที่ทำงานกับผมตอนนี้ไม่มีเงินเดือน ทุกคนเป็น Co-Founder แต่ละคนทำจากความเชื่อหมดเลย ทุกคนรู้เป้าหมายว่า ไปรอรับเปอร์เซ็นต์หลังจากที่เราพัฒนาและขายเกมได้แล้ว อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ทุกคนที่เชื่อผมนะ ด้วยความที่ว่าเขาเป็นมนุษย์ บางคนก็ทำไม่ไหว เหนื่อย ก็ดีดตัวเองออกไป แต่ผมก็จะได้เด็กใหม่เข้ามาแทนที่ตลอดเวลา ตอนนี้ นอกจากน้องๆ จากมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงแล้ว ทีมผมยังมีน้องจากมหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ด้วย ซึ่งผมเองก็ไม่รู้ว่าเขารู้จักผมจากทางไหน เหมือนมันจะมีการบอกต่อๆ กันมา แล้วก็มีเด็กที่รออยากจะมาร่วมทีมกับผมอยู่อีกมาก





นักลงทุนก็สนใจ

     จริงๆ หลังจากที่เข้าโครงการ Startup Thailand League ก็มีได้ไปออกบู๊ธงาน Startup ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ มีฝรั่งเข้ามาถาม เขาเสนอให้ 3 หมื่นดอลลาร์สหรัฐฯ ผมมองว่าอยู่ๆ ทำไมเขาจะมาให้เงินเรา ผมไม่มีข้อมูล มันดูง่ายกลัวจะโดนหลอก ก็ปฏิเสธไป ช่วงนั้นออกงานบ่อยจากนั้นก็มีฝรั่งมาเสนอให้ 1 แสนดอลลาร์สหรัฐฯ ผมยังเด็กและโง่ ไม่รู้ ไม่ว่าใครจะมาอะไร ผมก็ไม่ตลอด อะไรที่ปุ๊บปั๊บ ลอยๆ ผมจะปฏิเสธ มันเป็นความระแวง แล้วตอนไปออกบู๊ธที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ พี่ที่สำนักงานนวัตกรรมฯ มาเจอ มันดึงความสนใจเขาตรงที่บู๊ธผมมีคนต่อแถวกันยาวไปถึงประตูทางเข้าเพื่อรอเล่นเกมของผม เขาก็มาแนะนำตัวให้ลองไปขอทุนมีโครงการ Open Innovation ผมก็ทำตามคำแนะนำของเขา วันพรีเซนต์ถึงรู้ว่ามันไม่ใช่ทุนนักศึกษา เป็นทุนสำหรับผู้ประกอบการ เพราะพอพรีเซนต์ผ่านพวกพี่เขาดีใจมาก ผมไม่รู้ว่าทำไมเขาถึงดีใจขนาดนั้น จนวันหนึ่งเขาบอกว่า ผมเป็นนักศึกษาคนเดียวที่ผ่านเข้าไปเพราะนักศึกษาที่เข้าโครงการนี้ ก่อนหน้านั้นจนถึงปัจจุบันไม่มีใครขึ้นไปถึงตรงนั้นเลย ซึ่งโครงการนี้ผมได้เงินถึง 1.5 ล้านบาท ผมก็เอาเงินนี้มาพัฒนาเกมต่อเป็นเวอร์ชันที่ 3 ที่กำลังทำอยู่ 

     ในวันนี้ผมเห็นโอกาสแล้วว่าเกมของผมมันสามารถโตได้ ถ้าวันหนึ่งมีคนเสนอในราคาที่สมเหตุสมผล ในที่นี้หมายถึงผมอาจจะวางแผนทำเกมให้มันใหญ่กว่านี้ ทำให้ไปไกลกว่านี้แทนที่จะมาขาย 450 บาท ซึ่งเป็นราคาเกมอินดี้ ผมอาจจะไปขายหลักพันเลยเหมือนเกมใหญ่ๆ ที่เขาขายกันที่ 2,500-3,500 บาท ถ้ามีนักลงทุนมาช่วยสร้างสรรค์เรื่องพวกนี้ได้ก็อาจจะพิจารณา แต่ถ้าเขามาแค่ลงทุนแล้วจะเอาหุ้น 40-50 เปอร์เซ็นต์ อันนั้นเป็นเรื่องยาก เพราะตอนนี้ผมเริ่มรู้ตัวแล้วว่าผมทำอะไรได้ แล้วมูลค่ามันเยอะมาก
                

เด็กไทยกับการทำเกม

     ตอนที่ทำแบบทดสอบกับเด็กที่จังหวัดเชียงรายทั้งเด็กผู้ชายและเด็กผู้หญิง เชื่อหรือไม่ว่า มีเด็กผู้หญิงครึ่งหนึ่งบอกว่าโตมาอยากทำเกมเพราะเขาเล่นเกมเหมือนผมเลย แต่ปัญหาคือบ้านเราไม่มีสื่อ สื่อส่วนใหญ่เป็นภาษาอังกฤษ เขาเข้าไม่ถึง ต่อให้เข้าถึงก็ไม่เข้าใจก็ทำเกมไม่ได้ ขณะที่ต่างประเทศเด็กอายุ 10 กว่าขวบทำเกมแล้ว แต่จริงๆ ศักยภาพพวกเขามีอยู่แล้ว ไอคิวส่วนใหญ่ของคนที่เข้ามาอยู่ประมาณ 110 ซึ่งไอคิวนี้ทำเรื่องพวกนี้ได้อยู่แล้ว แต่ปัญหาคือ ไม่มีสื่อ รัฐก็ไม่สนับสนุน ที่บ้านเราก็มีแต่ข่าวเกมสร้างปัญหาให้เด็ก ให้สังคม บ้านเรามันไม่ได้เปิดขนาดนั้น แต่ผมเชื่อว่าด้วยศักยภาพพวกเขาถ้ามีคนสนับสนุนเขาทำได้แน่
 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup