Starting a Business

คุยกับ “นัฐพล บุญภินนท์” จะปั๊มเงินจากอีคอมเมิร์ซอย่างไรในยุคโควิด

Text : นนท์ธวัช ไชยวัง




Main Idea
 
  • ตลาดอีคอมเมิร์ซขยายตัวไปอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในช่วงที่โควิด -19 กำลังระบาดอยู่ จากคนที่ไม่เคยซื้อของออนไลน์ก็เริ่มหันมาซื้อของออนไลน์กันมากขึ้น
 
  • ขณะเดียวกันพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ก็เกิดขึ้นมากมาย เพื่อหวังหารายได้ให้กับตัวเอง ซึ่งบางคนก็ประสบความสำเร็จ แต่บางคนก็ไม่เป็นเช่นนั้น
 
  • เราเลยมาคุยกับ นัฐพล บุญภินนท์ ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นนักขายตัวท้อปบนแพลตฟอร์มออนไลน์ ถึงกลยุทธ์การขายของออนไลน์ให้ได้เงินและอยู่ได้อย่างยาวนาน



     การสุ่มลองขายไม้ถูพื้นบนออนไลน์เหมือน 5 ปีก่อน ในราคา 349 บาท คือจุดเริ่มต้นของการทำธุรกิจอีคอมเมิร์ซแบบลองผิดลองถูกของผู้ชายที่ชื่อว่า นัฐพล บุญภินนท์ แม่ทัพใหญ่บริษัท เอ็น-สแควร์ อีคอมเมิร์ซ จำกัด ที่เริ่มต้นจากศูนย์สู่นักขายตัวท้อปบนแพลตฟอร์มออนไลน์ในทุกวันนี้  จากวันนั้นจนถึงวันนี้เขาไปได้ไกลมากขยายสินค้าบนโลกออนไลน์ไปในหลายหลากสินค้าในกลุ่มโฮมลิฟวิ่ง มากกว่า 510 แบรนด์ พร้อมลุยขายในทุกแพลตฟอร์มสร้างรายได้หลายร้อยล้านบาทต่อปี ที่สำคัญเขาบุกไปไกลในกลุ่มประเทศอาเซียนใน 6 ประเทศ ได้แก่ ไทย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย สิงคโปร์ และเวียดนาม


     นัฐพล เล่าให้ฟังว่า ปัจจุบันตลาดอีคอมเมิร์ซขยายตัวไปอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในช่วงที่โควิด -19 กำลังระบาดอยู่สินค้าออนไลน์ขายดีมากหากเมื่อเทียบกันเดือนต่อเดือนกับปี 2562 ที่ผ่านมา บริษัทเติบโต 3 เท่าตัวและจากการสำรวจพบว่าพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไปคนที่ไม่เคยซื้อของออนไลน์หันมาซื้อของออนไลน์มากขึ้น สินค้าที่เกี่ยวข้องกับการทำความสะอาด เครื่องครัว วัตถุดิบทำอาหาร และสินค้าอุปโภคขายดี ส่วนสินค้าที่ยอดตกคือ กลุ่มสินค้าพวกแคมปิ้ง อุปกรณ์กีฬากลางแจ้ง เป็นต้น





     ทั้งนี้การเกิด New Normal ในครั้งนี้ยังทำให้พฤติกรรมลูกค้าเปลี่ยนไปอย่างหนึ่ง คือ ลูกค้าเริ่มเข้าใจการซื้อขายสินค้าออนไลน์มากขึ้น เข้าใจว่ามีค่าใช้จ่ายค่าขนส่ง รู้ว่าข้อดี คือ ประหยัดเวลา ไม่ต้องไปหาที่จอดรถให้วุ่นวาย เป็นการร่นเวลาในอนาคตได้ ดังนั้นเชื่อว่าโมเดลธุรกิจในอนาคตใครที่จะขยายสาขาไปตามทำเลต่างๆ จะลดน้อยลง ผู้ประกอบการจะหันมาขยายหน้าร้านทางออนไลน์แทนเพราะต้นทุนต่ำกว่าการขยายสาขาออฟไลน์


     ส่วนเทคนิคการทำธุรกิจในยุคใหม่แนะนำว่าต้องขายสินค้าสินค้าในสิ่งที่ชอบ และมีความชำนาญในสิ่งที่จะขาย จะต้องรู้อย่างละเอียดลึกซึ้ง ตั้งแต่สตอรี่ที่มาที่ไป การซ่อมบำรุง การแก้ไขปัญหาต่างๆ ให้ลูกค้าอย่างรวดเร็ว ลูกค้าถามมุมไหนของสินค้าจะต้องตอบได้ กลยุทธ์นี้จะซื้อใจลูกค้าได้มากกว่ากลยุทธ์การแข่งขันด้านราคา ที่สำคัญจังหวะสุดท้ายจะตัดปิดการขายแบบมืออาชีพ


     นอกจากนี้จะต้องสื่อสารกับลูกค้าที่ซับซ้อนได้ดี และใจเย็นค่อยตอบคำถามลูกค้าหากมีข้อถกเถียงกัน ที่สำคัญนักธุรกิจรุ่นใหม่ควรให้ความสำคัญเรื่องความน่าเชื่อถือให้มากๆ เพราะการรีวิวที่ไม่ดีมีผลต่อแบรนด์เป็นอย่างมาก เนื่องจากลูกค้ายุคใหม่จะตัดสินใจซื้อสินค้าได้เมื่อเห็นการรีวิวที่ดีของคนที่เคยใช้สินค้ามาก่อน  และจะต้องผลิตสินค้าและบริการออกมาให้มีคุณภาพ ให้ลูกค้ามองว่ามีคุณค่า คุ้มค่ากับสิ่งที่เขาจะได้รับ เทรนด์ในอนาคตการแข่งขันเรื่องราคาจะไม่ค่อยสำคัญเพราะลูกค้าจะมองเรื่องความคุ้มค่ามากกว่าราคา ดังนั้นผู้ประกอบการต้องสร้างประสบการณ์ที่ดีให้ลูกค้ารายเดิมกลับมาซื้อซ้ำ ประทับใจ จำแบรนด์เราได้ เพราะการหาลูกค้ารายใหม่ไม่ใช่เรื่องที่ง่าย จึงจำเป็นต้องรักษาฐานลูกค้าเดิม ซึ่งจะเป็นการประหยัดงบในการโฆษณาด้วย


     “ผมมองว่าหากผู้ประกอบการท่านใดที่จะเล่นกลยุทธ์ทางด้านราคามันไม่ยั่งยืน มาเน้นการสร้างคุณค่าในตัวสินค้าจะดีกว่า บริการหลังการขายต้องดีด้วย เช่นการขายมือถืออาจจะต้องแถมประกันให้ลูกค้าในปีที่ 2 หรือหาแนวทางสร้างประสบการณ์ร่วมกัน ที่สำคัญสุดคือความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านหากถนัดในตัวสินค้ากลุ่มไหนก็จงทำสิ่งนั้นให้ชำนาญแล้วเราจะประสบความสำเร็จจากความเชี่ยวชาญของเรา ไม่ควรขายสินค้าที่โดดกันมาก และไม่มีความชำนาญ เช่น ขายเครื่องครัวกำลังไปได้ดี อยู่ดีๆไปแตกไลน์ขายอย่างอื่นที่ไม่เกี่ยวข้อง ก็จะทำให้ทำงานยาก โอกาสประสบความสำเร็จน้อย”


     อีกประการหนึ่งที่จะแนะนำผู้ประกอบการ คือ การขายของออนไลน์รูปจะต้องสวยงามดึงดูดใจคนซื้อเป็นอย่างมาก โดยบริษัทของเขาก็ได้ลองผิดลองถูกมาแล้วจนจำเป็นต้องมีสตูดิโอเพื่อการถ่ายรูปสินค้ากันเลยทีเดียว และอีคอมเมิร์ซยุคใหม่จะต้องแก้ไขปัญหาเร็ว ทำอะไรให้ไว สามารถวัดผลได้รายวัน และปรับปรุงเปลี่ยนแปลงได้เลยรายวัน พร้อมทั้งจะต้องกล้าทดลองอะไรใหม่ๆ ถ้าลองแล้วมันไม่ใช่ก็กลับไปจุดเดิม หรือนำข้อบกพร่องมาปรับปรุงพัฒนาใหม่


     ส่วนการคาดการณ์หลังโควิด-19 หยุดระบาดแล้ว ผู้บริหารคนเก่งมองว่า ธุรกิจอีคอมเมิร์ซน่าจะยังคงขยายตัวต่อเนื่อง เห็นได้จากอู่ฮั่น ที่จีน หลังจากสถานการณ์ดีขึ้น พฤติกรรมคนก็เปลี่ยนมาซื้อสินค้าออนไลน์มากขึ้น ส่วนตัวเห็นว่าทั้ง 6 ตลาดในอาเซียนที่เข้าไปทำธุรกิจก็จะขยายตัวเช่นกัน พร้อมกันนี้แนะนำว่าหากผู้ประกอบการที่จะเข้าไปทำธุรกิจในตลาดอาเซียนจะต้องหาทีมงาน หรือพาร์ทเนอร์ที่พูดภาษาเดียวกับลูกค้า เข้าใจพฤติกรรมค้าของแต่ละประเทศให้ลึกซึ้ง  อีกทั้งต้องรู้ว่าแต่ละประเทศมีเทศกาลไหนที่สำคัญ และผู้คนออกมาซื้อของกันมากในช่วงนั้น เราจะได้ทำการตลาดเจาะได้ถูกช่วงเวลา


     ผู้บริหารคนเก่ง ทิ้งทายว่า การทำธุรกิจยุคนี้จะต้องนำเอาเทคโนโลยีมาช่วยด้วยจะทำให้การบริหารงานคล่องตัว สะดวก รวดเร็ว โดยเฉพาะการจัดการบริหารสต๊อกสินค้า งานบัญชี งานโลจิสติกส์ จะต้องรวดเร็วในการส่งสินค้าไปยังลูกค้า หรือจะต้องใช้เทคโนโลยีมาตอบคำถาม รับออเดอร์สินค้าค้าออนไลน์แทนคนตลอด 24 ชั่วโมง


www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup