Starting a Business

SMILER เกิดที่ไทยแต่ดังไกลที่ญี่ปุ่น

Text : Kritsana S. 




Main Idea
 
 
  • ด้วยอาศัยอยู่ประเทศญี่ปุ่นมานาน จนคุ้นเคยกับพฤติกรรมการซื้อสินค้าของชาวญี่ปุ่นว่าชอบหรือไม่ชอบ
 
  • SMILER แบรนด์สินค้าจึงเกิดขึ้นที่ไทยแต่เน้นขายให้กับคนญี่ปุ่นผ่านเว็บไซต์ขายสินค้าประเภทงานดีไซน์ของญี่ปุ่น
 
 


     เคล็ดลับหนึ่งที่ช่วยให้การเริ่มต้นทำธุรกิจเป็นเรื่องง่ายขึ้นคือ ทำธุรกิจจากสิ่งที่ถนัดหรือสิ่งที่คุ้นเคย ซึ่ง เป้ย-จณัญญา จุลศักดิ์ศรีสกุล สาวไทยที่อาศัยอยู่ประเทศญี่ปุ่นมานานจนรู้จักมักคุ้นกับคนญี่ปุ่นว่ามีความสนใจในสินค้ามีลูกเล่น และให้ความสำคัญกับการบริการจากแบรนด์ เธอจึงหยิบสองสิ่งนี้มาเป็นจุดเด่นสร้างยอดขายให้กับ SMILER แบรนด์สินค้าที่สร้างรอยยิ้มให้ผู้ใช้ผ่านลูกเล่นขำๆ และเน้นขายให้กับคนญี่ปุ่นผ่านเว็บไซต์ขายสินค้าประเภทงานดีไซน์ของญี่ปุ่น


     “เรารู้ว่าคนญี่ปุ่นชอบสินค้าเรียบๆ แต่ถ้าจะทำสินค้าแบบนั้นออกมาขาย เช่น เสื้อยืดสีพื้น คงสู้แบรนด์ใหญ่ไม่ได้ เพราะเขาออกแบบได้ดีกว่าและขายถูกกว่า ที่สำคัญลูกค้าหาซื้อจากไหนก็ได้ ดังนั้น เราต้องทำสินค้าที่แบรนด์ใหญ่ทำไม่ได้และสร้างเอกลักษณ์เฉพาะตัวขึ้นมา จนได้บทสรุปว่าจะทำสินค้างานดีไซน์ที่มีลูกเล่นชวนอมยิ้ม ไม่ต้องแต่งตัวจัดจ้านก็ใช้ได้ และเน้นใช้งานได้จริงในชีวิตประจำวัน ขณะเดียวกันก็เป็นสินค้าทางเลือกให้คนรักสัตว์ เพราะสินค้าทุกชิ้นของแบรนด์ไม่ใช้หนังแท้”


     สินค้าแรกที่ทำให้ SMILER กลายเป็นที่รู้จักในหมู่ลูกค้าญี่ปุ่นคือ รองเท้าสำหรับผู้หญิง ทำจากไมโครไฟเบอร์ซึ่งมีความทนทานกว่าหนังเทียม รองเท้าแต่ละแบบมีลูกเล่นแตกต่างกัน เช่น รองเท้าใส่แว่น รองเท้าหางแมว และรองเท้าเปลี่ยนสีเมื่อโดนแสงแดด แต่ด้วยเป้ยมองว่า รองเท้าเป็นสินค้าที่ขายผ่านช่องทางออนไลน์ได้ยาก เพราะคนซื้อต้องการลองไซส์ก่อน และเป็นสินค้าที่ค่อนข้างขนลำบากเวลาไปออกบู๊ธต่างประเทศเลยเปลี่ยนมาทำเสื้อยืดที่ใส่ได้ทั้งผู้หญิงและผู้ชาย โดยยังคงมีลูกเล่นสร้างความขบขันให้ลูกค้าเช่นเคย เช่น เสื้อยืด Bite Me ชายเสื้อมีรอยยับเลียนแบบรอยกัดของสัตว์อย่างหมา ไดโนเสาร์ จระเข้ เสื้อยืดไข่แมวที่มีปอมปอมปิดไข่แมว และเสื้อยืด Hang in There มีสัตว์ห้อยอยู่ มีให้เลือกทั้งแพนด้า สลอธ และแมว





     หลังจากเปลี่ยนมาขายเสื้อยืด เป้ยบอกว่า ยอดขายดีมาก และแก้ปัญหาเรื่องการขายออนไลน์ยาก แต่ถึงอย่างนั้นก็เจอปัญหาอีกว่า คนญี่ปุ่นไม่ซื้อเสื้อยืดในช่วงหน้าหนาว ทำให้ฤดูกาลนั้นแบรนด์ไม่มียอดขาย เธอจึงทำสินค้าประเภทใหม่ออกมา เพื่อแก้ปัญหายอดขายขึ้นอยู่กับฤดูกาล สินค้าที่ว่าคือ 1.ตุ๊กตาถุงผ้า เพื่อให้สอดรับกับเทรนด์รักษ์โลกที่กำลังมา มีให้เลือกกว่า 20 แบบ ดูลายกระเป๋าได้จากลายเสื้อตุ๊กตา ดูสีของกระเป๋าได้จากสีของโบว์บนหัวตุ๊กตา และ 2.กระเป๋าสะพายข้าง ทำจากผ้าแคนวาสกันน้ำ ลูกเล่นมีอยู่ด้านล่างกระเป๋า โดยทำเป็นรูปหน้าแมวและหน้าคนใส่แว่น ให้ความรู้สึกเหมือนใบหน้าเหล่านี้กำลังมองดูเรา


     แม้สาวเจ้าของแบรนด์ SMILER จะคุ้นเคยกับคนญี่ปุ่น แต่เธอก็ยอมรับว่าการขายของกับลูกค้ากลุ่มนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เพราะไม่ใช่แค่ต้องให้ความสำคัญกับเรื่องคุณภาพสินค้าและดีไซน์ที่เป็นเอกลักษณ์ หรือลูกเล่นที่ไม่เหมือนใครเท่านั้น แต่แบรนด์ต้องให้บริการน่าประทับใจด้วย เพราะมีผลกับรีวิวที่จะได้รับ รวมถึงเพิ่มโอกาสที่ลูกค้าจะกลับมาซื้อซ้ำและกลายเป็นลูกค้าประจำในที่สุด





     “นอกเหนือจากการผลิตสินค้าที่มีคุณภาพ ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า ไร้ข้อผิดพลาดทั้งสินค้าและแพ็กเกจจิ้ง เพราะแค่สินค้ามีรอยเปื้อนนิดเดียว ลูกค้าก็คอมเพลนทันที สิ่งที่จะช่วยสร้างความสำเร็จให้กับแบรนด์ที่หวังสร้างยอดขายจากตลาดญี่ปุ่นคือ ต้องรู้ภาษาญี่ปุ่น เพราะคนญี่ปุ่นไม่นิยมสื่อสารด้วยภาษาอังกฤษ เขียนรายละเอียดสินค้าเป็นภาษาญี่ปุ่นทั้งหมด ตอบแชตด้วยภาษาสุภาพแบบญี่ปุ่น และมีบัญชีธนาคารของญี่ปุ่น เพื่ออำนวยความสะดวกเรื่องช่องทางการชำระเงินให้กับลูกค้า


    “ไม่เพียงเท่านี้ ห้ามละเลยเรื่องการให้บริการเด็ดขาด ต้องรู้ว่าควรพูดจาอย่างไรเพื่อให้ลูกค้าเกิดความรู้สึกที่ดี ตัวอย่างเช่น กรณีสินค้าที่ส่งไปมีข้อผิดพลาดให้กล่าวขอโทษ พร้อมบอกว่า จะรับผิดชอบอย่างไร และต้องทำให้ลูกค้าเชื่อใจให้ได้มากที่สุด ทำได้โดยแจ้งว่าสินค้าจะจัดส่งเมื่อไหร่ ลูกค้าจะได้รับสินค้าตอนไหน ตอบทุกข้อสงสัยของลูกค้าให้ได้”


     ปัจจุบันช่องทางการจำหน่ายของ SMILER นอกจากเว็บไซต์ของญี่ปุ่น แล้วยังขยายไปขายในเว็บไซต์ pinkoi อีกด้วย โดยจะเน้นไปที่ 2 ตลาดนี้เป็นหลัก ซึ่งในตอนท้ายเป้ยย้ำว่า ตลาดญี่ปุ่นเข้าถึงไม่ยาก ขอแค่เข้าใจวัฒนธรรมและความต้องการ ความสำเร็จที่ผู้ประกอบการมองหาก็อยู่ไม่ไกลเกินเอื้อม
 

     e-mail : smilerbrand@gmail.com

     Facebook : smilerbrand
 
 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup