Starting a Business

​คุยกับ ป๊อบ - สิทธิพงษ์ อารยางกูร เมื่อต้องพลิกงานอดิเรกให้เป็นธุรกิจทำเงิน

Text : Marisa S.
 
 

Main Idea
 
  • ใครจะเชื่อว่าจากความชอบในงานเย็บปักอย่างงานคลิวท์และแอพปิเก้มาสู่งานอดิเรกที่ทำในยามว่าง แต่แล้วในวันหนึ่งก็สามารถที่จะเปลี่ยนจากงานอดิเรกมาเป็นธุรกิจที่สร้างรายได้ได้
 
  • ป๊อบ - สิทธิพงษ์ อารยางกูร จึงมานั่งคุยถึงเรื่องราวเบื้องหลังการเริ่มต้นที่จะสร้างรายได้จากงานอดิเรกว่าทำได้อย่างไร
 

 

     การได้ทำสิ่งที่ชอบหรือทำงานอดิเรกให้กลายมาเป็นธุรกิจทำรายได้คงเป็นความฝันของใครหลายๆ คน รวมไปถึง  ป๊อบ - สิทธิพงษ์ อารยางกูร เจ้าของร้านศิลปะและหัตถกรรมอย่าง Korjoke Club ที่ลาออกจากการทำงานประจำเพื่อมาทำงานฝีมือเย็บปักถักร้อยอันเป็นที่รัก 

     สิทธิพงษ์ เล่าถึงจุดเริ่มต้นของการทำงานฝีมือว่าตัวเขาเองเป็นคนที่ชอบทำงานด้านฝีมืออยู่แล้วตั้งแต่เด็ก ตอนเรียนมัธยมเองก็จะมีพวกงานประดิษฐ์ประดอยให้ได้ทำบ้าง งานฝีมือที่ผ่านมาได้ทำหลายๆ อย่าง ไม่ว่าจะเป็นการถักโครเชต์ วาดรูป พับกระดาษ จนกระทั่งได้มาลองทำงานควิลท์ (Quilt) ที่เริ่มต้นจากชิ้นเล็กๆ ในช่วงเรียนมหาวิทยาลัยแล้วรู้สึกว่าชอบงานตัวนี้ เลยเริ่มทำงานควิลท์อย่างเดียวตั้งแต่นั้นมา หลังจากนั้นเขาก็ได้ไปศึกษาเพิ่มเติมด้วยตัวเองเกี่ยวกับงานควิลท์ทั้งจากทางอินเทอร์เน็ตรวมไปถึงการเข้า workshop กับอาจารย์คนญี่ปุ่นที่มาสอนในไทย  


     “ช่วงที่เริ่มทำงานนี้แรกๆ เริ่มมาตั้งแต่ตอนที่ยังเรียนป.ตรีอยู่จนมาถึงช่วงที่เรียนป.โทแล้วก็มีงานประจำอยู่แล้วด้วย เป็นงานออฟฟิศเป็นพนักงานปกติทั่วไป ส่วนงานตรงนี้ก็ทำเป็นแค่งานอดิเรกช่วงที่มีเวลาว่า ๆ อย่างวันเสาร์-อาทิตย์ หรืออาจจะเป็นช่วงเย็นๆ ที่เหนื่อยจากการทำงานพอกลับมาถึงบ้านก็มานั่งเย็บปักถักร้อยตรงนี้นิดๆ หน่อยๆ ก่อนนอน โดยส่วนใหญ่จะเป็นงานฝีมือที่เป็นงานคลิวท์และงานแอพปิเก้ (Applique) ในรูปกระเป๋าขายให้กับเพื่อนหรือคนรู้จักเท่านั้น”  





     จุดเปลี่ยนที่เริ่มทำให้ สิทธิพงษ์ อยากทำงานคลิวท์เต็มตัว คือหลังจากที่เขาได้รับฟีดแบคจากเพื่อนและครอบครัว ตัวอย่างเช่น เมื่อวันปีใหม่เขาจะทำกระเป๋าเป็นของขวัญให้พวกกับคนรู้จักแล้วคนได้รับนั้นรู้สึกดีมากที่ได้รับของแบบนี้มากกว่าของอย่างอื่นที่ไปซื้อมาให้ ก็เลยเป็นจุดประกายความคิดว่าต้องมีอีกหลายคนที่ชื่นชอบของแบบนี้อยู่ จึงเริ่มเอางานของตัวเองมาวางขายตามหน้าร้านของเพื่อน ผลปรากฎว่ามันพอจะขายได้ หลังจากนั้นตัวเขาเองก็ได้ลองไปเดินที่ตลาดสัมมากรแล้วเจอว่าในตลาดยังมีล็อกวางขายของว่างอยู่เ จึงลองติดต่อดูแล้วก็เริ่มลองขายแบบมีหน้าร้านเปิดขายเฉพาะเสาร์-อาทิตย์ตั้งแต่นั้นมาจนถึงตอนนี้  

     จากงานอดิเรกที่ทำตอนว่างงานก็เริ่มกลายเป็นงานที่ได้ทำเป็นประจำ เขาเล่าถึงการตัดสินใจออกจากงานประจำมาทำงานตรงนี้ว่า จะมีอยู่วันหนึ่งที่นั่งนึกถึงว่าการทำงานประจำไปเรื่อย ๆ แบบนี้มันรู้สึกว่าเหนื่อยกับการเดินทางมาก แล้วทำให้ไม่มีเวลาที่จะมาทำงานฝีมือที่ชอบ  ประกอบกับการการขายกระเป๋างานควิลท์สามารถมีรายได้ที่ดีทีเดียวจึงคิดที่จะจริงจัง  กับมัน เขาจึงตัดสินใจที่จะลาออกจากงานประจำที่ทำอยู่แล้วลองมาทำงานตรงนี้อย่างเต็มตัว  





     “คิดหนักเหมือนกันสำหรับการลาออกจากงานประจำ โชคดีที่ว่าที่ร้านจะมีป๊อบกับพี่โอ๋ซึ่งเป็นพาร์ทเนอร์อีกคนหนึ่งที่ช่วยกันทำร้านมาแต่เริ่มต้น เราเริ่มมีแนวทางในการทำสินค้าแล้ว เราก็ได้ลองมาแล้วพักหนึ่ง แล้วมันมีฟีดแบคที่ค่อนข้างดีกลับมาเสมอพอ คิดว่าจะส่งผลดีต่อในอนาคตได้แน่ๆ เลยตัดสินใจลาออกเลย อีกอย่างที่เป็นตัวช่วนตัดสินใจที่จะเปลี่ยนงานอดิเรกตรงนี้มาเป็นงานประจำคือการได้พบปะกับลูกค้ามากหน้าหลายตา ที่ไม่ใช่แค่คนรู้จัก เพื่อน หรือคนในครอบครัวเพียงอย่างเดียว”

     เมื่อถามถึงช่วงเวลาหลังออกจากงานประจำช่วงเริ่มต้นช่วงแรกๆ สิทธิพงษ์ เล่าว่ายังคงไปได้ดีอยู่แต่พอทำไปได้แล้ว 2-3 ปี ก็มีความรู้สึกว่าบางทีอาจจะต้องเพิ่มตรงนั้นตรงนี้อีกหรือเปล่า ช่วงแรกๆ ที่ทำยังไม่มีโซเชียลของร้านและยังไม่ได้ดูเรื่องการตลาดออนไลน์มากนัก แต่พอหลังจากปีที่ 3-4 ได้มานั่งคุยกันว่าร้านของเราควรจะมีรูปแบบชัดเจน มันควรจะกลายเป็นแบรนด์ได้แล้ว ควรจะมีโลโก้ของร้าน มีการโพสต์สินค้าที่ชัดเจน มีการจัดวางรูปมีอะไรต่างๆ มากมาย ในส่วนตรงนี้ก็ได้ใส่เข้ามาเสริมในช่วง 3-4 ปีหลัง จนถึงตอนนี้ที่เริ่มทำตรงนี้มาราวๆ 8 ปีแล้ว ปัจจุบันมีทั้งร้านเปิดขายทั้งออนไลน์และออฟไลน์





     สำหรับจุดเด่นของงาน สิทธิพงษ์บอกว่าคือการทำเองด้วยมือที่เรียกกันว่าการด้นแบบควิลท์มีทั้งที่ออกแบบเองและเปิดให้ลูกค้าร่วมออกแบบลายที่อยากได้ด้วย ส่วนเรื่องของการตั้งราคาใช้เกณฑ์จากความยากง่ายของชิ้นงาน ความเล็กใหญ่ และระยะเวลาในการทำแล้วเอามาหารออกมาเป็นราคาโดยรวมของแต่ละใบ  โดยราคาจะเรียงไปตามขนาดชิ้นเล็กหลักร้อย ชิ้นใหญ่ขึ้นมาก็ 1-5 พันบาท ขึ้นอยู่กับความยากในการทำ ใบที่มีราคาสูงที่สุดคือกระเป๋าสานเพราะใช้ผ้าเยอะมาก ปกติกระเป๋าทั่วไปจะต้องตัดผ้าแนวตรง แต่อันนี้ต้องตัดแนวทแยง หลังจากตัดเสร็จก็เอามาเย็บเอามาสาน เป็นตัวกระเป๋าขึ้นมา  ราคาน่าจะแพงที่สุดแล้ว ตกประมาณ  6,000 กว่าบาท งานฝีมือและงานศิลปะแบบนี้จะขายต่อเดือนได้ไม่ต่ำกว่า 4 ใบ คิดว่าเดือนหนึ่งจะได้รายได้ประมาณ 2-3 หมื่น แต่ว่ามันก็มีบางเดือนที่อาจจะมากกว่านั้นนิดหน่อยหรือบางเดือนอาจจะน้อยกว่าเดิมนิดหน่อย

     ป๊อบ สิทธิพงษ์ ได้ฝากไปถึงคนที่อยากจะนำเอางานอดิเรกมาเป็นธุรกิจส่วนตัวทิ้งท้ายไว้ให้ด้วย ว่ามันขึ้นอยู่กับตัวเราเองเลยและการถามคอยถามตัวเองอยู่ตลอดเวลา อย่างแรกเลยคือต้องชอบและรักในสิ่งที่ทำอยู่ แน่นอนว่างานอดิเรกมักจะเป็นสิ่งที่ใครต่อใครก็รักและชอบมากที่สุดที่ทำแล้วเรามีความสุข แล้วก็คอยมองหาเส้นทางว่าเส้นทางตรงนี้เราสามารถพัฒนามันไปได้จนกลายเป็นงานประจำได้หรือไม่ อยากให้ลองทำดูก่อน การได้ลองทำซักระยะหนึ่งแล้วผลลัพธ์ที่ออกมามันทำได้ตามที่ตั้งเป้าหมายเอาไว้ ซึ่งเชื่อว่ายังมีช่องทางมากมายที่เปิดโอกาสให้ได้ลองผลักดันงานอดิเรกมาเป็นงานประจำที่รักและมีความสุขได้
 

     Facebook : KorjokeClub

     IG : korjokeclub

     Website : http://www.korjokeclub.com/
 
 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup