Starting a Business

การโคจรมาเจอกันระหว่างคนวงการแฟชั่น กับการปั้นแบรนด์อาหารในช่วงโควิด

​Text : vim Viva




Main Idea
 
  • การระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบไปทุกวงการ ทำให้หลายๆ คนค้นหาช่องทางอื่นในการสร้างรายได้ และดูเหมือนถนนทุกสายจะมุ่งสู่ธุรกิจอาหาร
 
  • สิงคโปร์ก็เช่นกัน เพราะโควิดแท้ๆ จึงทำให้ได้เห็นการผนวกกันระหว่างอาหารกับแวดวงแฟชั่น บรรดาผู้เกี่ยวข้องในธุรกิจแฟชั่น ไม่ว่าจะเป็นดีไซเนอร์ หรือบรรณาธิการนิตยสารแฟชั่นที่ล้วนมีชื่อเสียงก้าวเข้ามาทำธุรกิจอาหารโฮมเมดกันเป็นแถว ทั้งยังได้รับการตอบรับดีอีกด้วย มาดูกันว่ามีใครบ้าง 





     ซามูลเอล หว่อง
แฟชั่นดีไซเนอร์เจ้าของแบรนด์ “Evenodd” ที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการของรัฐที่สั่งปิดธุรกิจชั่วคราว ทำให้แฟชั่นคอลเลคชั่นใหม่ที่เขาเพิ่งออกแบบและกำลังอยู่ระหว่างผลิตในโรงงานต้องชะงักลงเนื่องจากโรงงานก็ต้องปิดลงเช่นกัน
 
     เช้าวันหนึ่งของเดือนเมษายน หว่องลืมตาตื่นพร้อมตั้งคำถามกับมารดาว่าเขาจะทำอย่างไรดี เพราะธุรกิจแฟชั่นของเขากำลังตายลงทีละช้า ๆ แล้วเขาก็นึกได้ว่านอกจากการออกแบบเสื้อผ้าแล้ว เขาควรทำในสิ่งที่ชอบอีกอย่างคืออาหาร เพราะเขาฝันมาตลอดว่าอยากเปิดร้านคาเฟ่เป็นของตัวเอง และจะชูจานเด็ดเป็น ngoh hiang หรือฟองเต้าหู้ห่อไส้หมูสับผสมกุ้งและแห้ว เป็นอาหารลูกผสมระหว่างจีนกับมาเลย์ที่คล้ายหอยจ๊อ
 
     เมื่อคิดได้ดังนั้น หว่องก็จัดการทำ ngoh hiang ออกมาขายได้ เป็นสูตรที่ส่งต่อจากรุ่นคุณยายมาถึงคุณแม่ของหว่อง จากที่คิด ไม่กี่สัปดาห์ต่อมา หว่องก็เปิดตัวผลิตภัณฑ์ภายใต้แบรนด์ Mum’s Ngoh Hiang โดยจำหน่ายทางออนไลน์ เพื่อให้การเปิดตัว ngoh hiang ดูน่าตื่นเต้นและมีสไตล์ หว่องจึงเน้นการออกแบบแพคเกจจิ้งให้มีดีไซน์พอจะดึงดูดให้ลูกค้าต้องการถ่ายรูปลงอินสตาแกรม และผลตอบรับดีมากเมื่อซินเธีย โคห์ นักแสดงสาวชาวสิงคโปร์ได้ชิมแล้วชมชอบอย่างมากจึงช่วยประชาสัมพันธ์ ส่งผลให้คิวสั่งจองยาวไปถึงเดือนกรกฎาคมปีนี้      
 
     อีกรายที่โคจรข้าสู่ธุรกิจอาหารและได้รับผลตอบรับอย่างดีเยี่ยมคือ เอสเธอร์ เควค อดีตบรรณาธิการแฟชั่นนิตยสารซิติเซนเค อาราเบียในดูไบ ที่ผันมาทำงานด้านที่ปรึกษาธุรกิจฟิตเนส และแฟชั่น เมื่อเกิดโควิดระบาด งานของเธอก็ถูกยกเลิกไปหมด เอสเธอร์ใช้เวลาว่างเข้าครัวทำอาหารเพื่อสุขภาพให้ครอบครัวและเผื่อแผ่ไปยังเพื่อนฝูง สองสิ่งที่ได้รับคำชมมากที่สุดคือซอสเพสโต้ กับซอสพริก มีการบอกกันปากต่อปากและมีเสียงเรียกร้องให้ทำขาย เอสเธอร์จึงเริ่มผลิตขายอย่างจริงจัง เธอใช้เวลาวันละ 15 ชั่วโมงในการผลิตซอสทั้งสองชนิด
 
     เอสเธอร์เผยว่าเธอได้สูตรซอสพริกมาจากเพื่อนคนหนึ่งแต่นำมาดัดแปลงส่วนผสม เช่น เปลี่ยนมาใช้น้ำตาลจากหล่อฮังก้วยแทนน้ำตาลทรายขาว และใช้เกลือหิมาลัยแทนเกลือสังเคราะห์ ซอสพริกของเธอรสชาติจัดจ้าน และแบ่งความเผ็ดเป็น 3 ระดับ และมีน้ำมันให้เลือก 2 ชนิดได้แก่ น้ำมันมะกอกเอ็กซ์ตร้าเวอร์จิ้น กับน้ำมันพืชทั่วไป
 
     สำหรับซอสเพสโต้เป็นซอสที่เอสเธอร์เคยทำสมัยเรียนหนังสือที่ออสเตรเลียและดูไบโดยเป็นสูตรดั้งเดิม แต่สูตรที่จำหน่ายนี้  เธอดัดแปลงเพิ่มความเผ็ดโดยการเติมพริกเขียวเข้าไป จากแรกเริ่มที่เข้าครัวทำซอสพริกวันละ 2 ลอต ภายในเวลา 2 เดือนก็ต้องเพิ่มการผลิตเป็น 4-6 ลอตต่อวัน ยังไม่รวมอสเพสโต้ที่ผลิตทุกวันวันละ 2 ลอต

     เอสเธอร์กล่าวว่าการทำงานนิตยสารมาก่อน ทำให้เธอคุ้นชินกับการทำงานให้เร็วเพื่อให้ทันเวลา และมีความอึด เช่น เธอเคยทำงานตั้งแต่ 9 โมงเช้าจนถึงเที่ยงคืนทุกวันโดยไม่หยุดพักได้ เมื่อมาทำซอสพริกขาย เนื่องจากทำคนเดียว และยอดสั่งซื้อเข้ามามากมาย ตลอด 3 เดือนที่ผ่านมา เธอจึงต้อง “ปั่นออร์เดอร์” จนถึงตี 2 ทุกวัน แม้จะเหน็ดเหนื่อยแต่เธอก็รู้สึกชื่นใจ
 
     หลายคนอาจมองว่าวงการแฟชั่นเป็นวงการที่ชิงดีชิงเด่นไร้ความปราณีต่อกัน แต่เอสเธอร์และหว่องยืนยันว่าพวกเขาได้รับการสนับสนุนจากเพื่อนพ้องในวงการ จากมิตรสหายทั้งที่รู้จักและไม่รู้จักที่ช่วยบอกต่อกันทางโซเชียลมีเดีย อีกตัวอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัดว่าคนในแวดวงแฟชั่นเกื้อกูลกันดีเป็นเรื่องราวของร้านอาหารอิตาเลี่ยนคาซา มานินี่ในสิงคโปร์ เจ้าของคือฟิโอน่า มานินี่ และฟัลวิโอ สามีของเธอ ทั้งคู่เคยทำงานในแผนกเครื่องประดับและอัญมณีของแบรนด์บุลการีมาก่อน แต่ลาออกมาเปิดร้านอาหารเมื่อ 2 ปีก่อน ครั้นเกิดการระบาดของโควิด ร้านคาซา มานินีของพวกเขาก็ต้องปิดบริการชั่วคราวตามมาตรการล็อคดาวน์ของรัฐบาล ทำให้บริการแค่ส่วน food delivery
 
     สองสามีภรรยาต้องปรับตัวเพื่อให้ธุรกิจอยู่รอดโดยการผสมเครื่องดื่มค็อคเทลขายแบบ take away และทำซอสพาสต้าแบบโฮมเมดบรรจุขวดจำหน่าย แล้วบรรดาคนในวงการแฟชั่นและแบรนด์เนมหรูก็ช่วยอุดหนุน นอกจากซื้อไปทานเอง ยังซื้อเป็นของฝาก ของขวัญ ลูกค้าบางคนก็สั่งอาหารไปเลี้ยงในวาระพิเศษต่าง ๆ
 
     ดูเหมือนว่าผู้ประกอบการเหล่านี้จะกำลังเพลิดเพลินกับการขายอาหาร หากสถานการณ์ดีขึ้น พวกเขาจะกลับคืนสู่วงการเหมือนเดิมหรือไม่คงขึ้นอยู่กับสภาพตลาด แต่ที่แน่นอน ประสบการณ์ที่สั่งสมจากการทำงานด้านแฟชั่นสามารถนำมาปรับใช้ ทำให้เกิดทักษะ และมีมุมมองที่ทำให้สินค้าโดดเด่นจากคนอื่น ทั้งยังสร้างรายได้ให้บริษัทอีกด้วย
 

     ที่มา : www.scmp.com/lifestyle/fashion-beauty/article/3089565/food-meets-fashion-singapore-industry-elite-sell-chilli
 
 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup