Starting a Business

พาไปส่อง 3 อาชีพเสริมที่สร้างรายได้ผ่านโซเชียลมีเดียช่วงวิกฤติโควิด-19

 


Main Idea
 
  • เมื่องานประจำที่ทำอยู่ได้รับผลกระทบ อาชีพเสริมจึงเป็นอีกทางรอดของใครหลายคนในการหารายได้เข้ามาในช่วงวิกฤต ซึ่งบางคนก็สร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำ และยังทำได้ดีพอๆ กับงานประจำเลยทีเดียว
 
  • รวมถึง สิริโภคา ประทุมทอง พนักงานต้อนรับสายการบิน ที่เปิดอินสตราแกรม จำหน่ายเมล็ดพันธุ์ผัก โอฬาร กรุดทอง เทรนเนอร์อาชีพกับร้านอุปกรณ์ออกกำลังกาย Olano  และสิริณญา ชุติวรรณ เชฟประจำโรงแรมที่ผันตัมาทำขนมเปี๊ยะ La-moon-nee’




     ใครว่าคนเราต้องมีอาชีพเดียวเสมอไป การใช้ชีวิตในยุคใหม่นี้ต้องมีทั้งอาชีพหลัก อาชีพรอง อาชีพเสริม งานทำเล่นๆ ฯลฯ เพื่อสร้างรายได้ให้เกิดขึ้นหลายทาง ยิ่งในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิดช่วง 3 – 4 เดือนที่ผ่านมายิ่งพิสูจน์ให้เห็นว่าการมีอาชีพสำรองคือความจำเป็นที่ทุกคนต้องมีอยู่ในแผน หรือจำเป็นต้องทำ เพราะหากงานประจำที่เราทำอยู่มีเหตุให้ต้องหยุดชะงัก งานเหล่านี้จะเป็นตัวช่วยให้ยังคงมีรายได้ และอาจเป็นแนวทางให้เราพบกับอาชีพใหม่หรืองานที่ชอบเพื่อใช้ในการสร้างรายได้ในอนาคต

     กลุ่มอาชีพหนึ่งที่ได้รับผลกระทบสูงสุดจากสถานการณ์ดังกล่าวคงหนีไม่พ้นธุรกิจการบิน ท่องเที่ยว และบริการ เนื่องจากรัฐบาลทั่วโลกมีคำสั่งห้ามการเดินทางเข้าออกแต่ละประเทศ ส่งผลต่อการหยุดชะงักของธุรกิจดังกล่าวและแรงงานที่เกี่ยวข้อง มีการสั่งปิดสถานบริการประเภทต่างๆ ทั้งร้านอาหาร สถานบันเทิง ยิม โรงแรม หรือแม้แต่สวนสาธารณะ และยังทำให้ภาคแรงงานหลายล้านรายมีการต้องหยุดพักงานชั่วคราว แต่ถึงแม้ว่ากิจการเหล่านี้จะไม่สามารถดำเนินต่อ และจำเป็นต้องหยุดพักตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้น แต่ก็ทำให้ได้เห็นการปรับตัวของกลุ่มคนในสายอาชีพนี้ที่หันมาทั้งทำอาชีพใหม่ อาชีพเสริมนอกเหนือจากงานประจำ ซึ่งบางคนก็สร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำ และยังทำได้ดีพอๆ กับงานประจำเลยทีเดียว





-จากแอร์โฮสเตสสู่เจ้าของธุรกิจอาบอรุณ อาหารออร์แกนิกรับยุคคนไทยตื่นตัวเรื่องสุขภาพ

     อาบอรุณโมเดลธุรกิจที่เกิดขึ้นจากความชื่นชอบในการรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพของ ใหม่-สิริโภคา ประทุมทอง พนักงานต้อนรับสายการบิน ที่ต้องหยุดปฏิบัติงานจากมาตรการยับยั้งการแพร่ระบาดโควิด-19 มาใช้เวลาในการศึกษาวิธีการปลูกผักหลากชนิดสำหรับรับประทานเอง และสุดท้ายได้พัฒนาความชื่นชอบเกิดเป็นธุรกิจผ่านช่องทางออนไลน์ในชื่ออาบอรุณ เปิดหน้าร้านผ่านอินสตราแกรม จำหน่ายเมล็ดพันธุ์ผักและกระถางต้นไม้หลากชนิด ซึ่งสามารถสร้างรายได้ทดแทนกับที่สูญเสียไปจากโควิด-19





-เมื่อ “เทรนเนอร์” ต้องเดินหน้าเทรนให้ลูกค้าสุขภาพดีต่อเนื่อง

     โอเล่-โอฬาร กรุดทอง เทรนเนอร์อาชีพ ผู้เชี่ยวชาญการฝึกออกกำลังกาย และเจ้าของร้านอุปกรณ์ออกกำลังกาย ‘Olano’ บนแพลตฟอร์มเฟซบุ๊ก โดย โอเล่ เล่าว่า ‘Olano’ เกิดจากประสบการณ์และองค์ความรู้ในการเป็นผู้ฝึกสอนออกกำลังกาย ประกอบกับความตั้งใจในการเลือกผลิตภัณฑ์ออกกำลังกายมาตรฐาน และคุณภาพดีให้กับผู้ที่ต้องการออกกำลังกายที่บ้าน จึงได้ตัดสินใจเกิดเป็นธุรกิจขึ้น และหลังจากมีมาตรการเว้นระยะห่าง ทำให้ต้องหยุดการให้บริการเทรนออกกำลังกายชั่วคราว เขาจึงใช้เวลาในช่วงดังกล่าว พัฒนาช่องทางการตลาดและเลือกสรรผลิตภัณฑ์สำหรับลูกค้า โดยเลือกใช้บริการการส่งโดยไปรษณีย์ไทย

     “Olano เป็นร้านขายอุปกรณ์ออกกำลังกายและผลิตภัณฑ์สำหรับนวดเองที่บ้าน ซึ่งมาจากการที่ลูกค้าที่ผมฝึกออกกำลังกายให้กับเขาขอให้แนะนำผลิตภัณฑ์ที่สามารถออกกำลังกายได้ที่บ้าน และพัฒนามาเป็นธุรกิจเรื่อย ๆ พอเกิดโควิด-19 เราเลยหันมาสร้างวิธีการขายใหม่ให้เต็มที่ เพราะจะได้ชดเชยรายได้ที่หายไป” 





-ต่อยอดฝีมือระดับห้าดาว Cook from Home ขนมเปี๊ยะแบรนด์ La-moon-nee

     เมื่อผู้คนไม่เดินทางทุกอย่างก็หยุดชะงักลง ‘ธุรกิจโรงแรม’ ที่พึ่งพาการเดินทางของผู้คนเพื่อเข้าพักและจัดกิจกรรม เป็นอีกหนึ่งภาคบริการที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤต COVID-19 พนักงานจำนวนมากต้องหยุดงานจากมาตรการหยุดให้บริการ หนึ่งในนั้นคือ นุ้ก-สิริณญา ชุติวรรณ เชฟประจำโรงแรม ที่ผันตัวออกจากครัวโรงแรมมาปรุงอาหารเสิร์ฟลูกค้าผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ในช่องทางเฟซบุ๊กในชื่อ ‘ขนมเปี๊ยะ La-moon-nee’ โดยอาศัยฝีมือการทำอาหารระดับห้าดาว และประสบการณ์กว่า 4 ปี รังสรรค์ขนมเปี๊ยะสูตรพิเศษ นุ้ก เล่าว่าร้านค้าออนไลน์ของเธอเกิดขึ้นหลังจากมีมาตรการล็อกดาวน์และสั่งปิดโรงแรม เธอจึงได้ใช้ความรู้ความสามารถที่มีเปิดร้านขายขนมเปี๊ยะ ซึ่งลูกค้าส่วนใหญ่มักจะอยู่ต่างพื้นที่เธอจึงเลือกใช้บริการส่งผ่านไปรษณีย์ไทย ด้วยบริการ EMS เพื่อให้ลูกค้าได้รับขนมที่สดใหม่ และสร้างความประทับใจแก่ลูกค้ามากที่สุด

     “แรกเริ่มเลยเราคิดว่าจะทำธุรกิจเล็ก ๆ ขึ้นผ่านออนไลน์ แต่พอ COVID-19 เข้ามากระทบ เลยเป็นจุดเริ่มต้นของการเปิด La-moon-nee อย่างเป็นทางการ การขายของในโลกออนไลน์เป็นเหมือนการต่อลมหายใจให้กับเราอย่างมาก เริ่มจากเพื่อนสั่ง เป็นเพื่อนของเพื่อน และขยายไปเรื่อยๆ จนทำให้ร้านเราเริ่มสร้างรายได้ชดเชยส่วนที่เราเสียไปได้ และการเป็นร้านค้าออนไลน์ก็จะมีลูกค้าทั้งใจกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด”


     ข้อคิดทิ้งท้ายจาก 3 อาชีพ ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโรคระบาดในครั้งนี้ คือ “การปรับตัวมองหาลู่ทางใหม่ๆ ในการพัฒนาตนเอง และทำในสิ่งที่ตัวเองรักหรือถนัด” เพราะการปรับตัวหรือเริ่มต้นทำบางสิ่งบางอย่างที่รักหรือถนัดย่อมทำออกมาได้ดีใส่ใจในทุกขั้นตอน
 
 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup