Starting a Business

Oversupply ของ Content Creator กับทางรอดในมุมมองของ ณัฐพัชญ์ วงษ์เหรียญทอง

Text : Marisa S. Photo : กิจจา อภิชนรจเรข
 



Main Idea
 
  • ในปัจจุบันมี Content Creator เกิดขึ้นมากมายถึงขั้นโอเวอร์ซัพพลาย จนอดสงสัยไม่ได้ว่า เรามี Content Creator มากเกินไปหรือไม่
 
  • แล้วอะไรคือทางรอดของ Content Creator ในยุคนี้ ณัฐพัชญ์ วงษ์เหรียญทอง มาบอกเล่าให้ฟัง
  

            

     ในสายตาของคนทั่วไปอาจมองว่า การทำ Content Creator เป็นเรื่องง่ายๆ ที่ได้เงินเยอะ แต่ถ้าถาม Content Creator จริงๆ แล้วจะพบคำตอบว่าไม่มีงานไหนที่สบาย และไม่ใช่ว่าทุกคนจะประสบความสำเร็จตั้งแต่เริ่มต้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคที่เรามี Content Creator อยู่มากมาย จนอดสงสัยไม่ได้ว่า เรามี Content Creator มากเกินไปหรือไม่
 

อย่าเหวี่ยงแหใส่คนดู

      ต่อข้อสงสัยดังกล่าว ณัฐพัชญ์ วงษ์เหรียญทอง ผู้เชี่ยวชาญด้านดิจิทัล มาร์เก็ตติ้ง ผู้ก่อตั้ง Dots Consultancy ให้คำตอบว่า ในปัจจุบันมี Content Creator เกิดขึ้นมากมายถึงขั้นโอเวอร์ซัพพลายด้วยซ้ำ ซึ่งหากย้อนกลับไปสมัยที่แอปพลิเคชันกำลังมาแรง มีแอปฯ มากหน้าหลายตาที่เปิดตัวออกมาแล้วได้รับความสนใจล้นหลามเพราะมีความแปลกใหม่ในยุคสมัยนั้น





     แต่พอมองในวันนี้การทำแอปฯ กลายเป็นเรื่องง่ายๆ ที่ใครๆ ก็ลงมือทำได้ จนทำให้แอปฯ ที่เกิดขึ้นมาไม่ได้มีความแตกต่างจากกันมากนัก ซึ่งไม่ต่างอะไรกับ Content Creator ในตอนนี้ เมื่อมี Content Creator มากมายจนล้นเหลือ จึงจำเป็นจะต้องหาจุดขายของตัวเองให้ได้ ทำงานของตัวเองให้มีความชัดเจน เจาะเรื่องใดเรื่องหนึ่งเป็นพิเศษ ไม่ทำแบบครึ่งๆ กลางๆ เพื่อทำให้คนดูเข้าใจได้ทันทีว่าจุดขายคืออะไร และต้องการจะสื่อสารกับใคร 

     “ในวงการนี้ยังมีคนอีกมากที่พร้อมจะขึ้นมาแทนที่หรือคนที่ทำคอนเทนต์คล้ายๆ กันเกิดขึ้นมาเรื่อยๆ บางครั้งทำเรื่องเดียวกัน แหล่งข้อมูลก็มักจะมาจากที่เดียวกัน ตรงนี้จะต้องใช้ความแตกต่างในการเล่าเรื่อง ซึ่งขึ้นอยู่กับว่ากลุ่มเป้าหมายเป็นใครด้วย ก็เหมือนการออกแบบโปรดักต์ การสร้างแบรนด์ให้คนจดจำ แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ Creator หลายคนยังไม่เข้าใจเรื่องพวกนี้ดี คิดว่าจะเอาแค่คนดูเยอะๆ ไว้ก่อน การทำคอนเทนต์เพื่อเอาแต่คนดูเยอะ นั่นคือการที่ตัวเราเองกำลังเหวี่ยงแห่ใส่คนดูทุกๆ คน การทำเพื่อเอาใจคนหมู่มากจะทำให้เราไม่มีตัวตนที่ชัดเจน ยกเว้นจะเป็นพวกเอาทุกอย่างเลย แต่นั่นต้องเก่งมากจริงๆ”



หาตัวตนให้ชัดเจน

     จากประสบการณ์ตรงในฐานะที่ทำคอนเทนต์มาร์เก็ตติ้ง ณัฐพัชญ์บอกว่า แม้การมี Creator อยู่มากมายเต็มไปหมดเช่นนี้ จะทำให้ Creator อยู่ยากขึ้นทุกวัน แต่เชื่อว่ายังพอมีทางที่จะทำให้อยู่รอดได้อยู่ เพราะยิ่งมีแพลตฟอร์มเกิดขึ้นมากเท่าไหร่ก็ยิ่งทำให้มีช่องทางสร้างการรับรู้มากขึ้นเท่านั้น

     “สิ่งที่ต้องเตือน Creator หลายๆ คนคือ บางครั้งเราไปเห็นหรือได้แรงบันดาลใจจากคนอื่นที่ทำออกมาแล้วดีจนอยากทำบ้างแต่ไม่มีการวางแผนที่ดีมันก็จะประสบความสำเร็จยาก การเป็น Creator จะต้องอยู่ได้ในระยะยาว มีคนมากมายที่เข้ามาแล้วดังในช่วงข้ามคืน จากนั้นไม่นานก็หายไป คนทำคอนเทนต์มีหลายประเภทหลายวัตถุประสงค์ ดังนั้น จะใช้วิธีการเดียวกันไม่ได้ ถ้าทำเพื่อเป็นธุรกิจ ความดังจะไม่ใช่คำตอบ แต่เป็นธุรกิจที่สามารถไปต่อได้ยาวๆ และต้องมีรายได้มากกว่ารายจ่าย แต่ถ้าเกิดทำคอนเทนต์เพื่อการเผยแพร่สิ่งดีๆ ให้กับคนอื่นก็จะเป็นอีกประเภทหนึ่ง ตรงนี้จะไม่มีเงินเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่จะเน้นไปที่การสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ”  





     ทั้งนี้ หากมองในฝั่งพฤติกรรมของผู้บริโภค จะเห็นว่ามีทั้งคนที่ตามคอนเทนต์จริงๆ กับตาม Creator โดยตรง แต่ทั้งสองแบบนี้ขึ้นอยู่กับความสามารถของ Creator เอง เช่น บางคนตามเพราะว่าอยากรู้ว่าคนคนนี้จะเล่าเรื่องพวกนี้ออกมาแบบไหน บางคนไม่ได้สนใจไลฟ์สไตล์ของ Creator เลย สนใจแต่การนำเสนอคอนเทนต์เป็นหลัก ต่างจาก Creator ที่คนดูตามเพราะชอบด้านไลฟ์สไตล์ของเขา เหตุผลที่ทำให้คนดูสนใจเพราะว่าคนคนนั้นมีวิถีชีวิตบางอย่างที่หลายๆ คนเหลื่อมใส หรืออยากจะเป็นแบบนั้นบ้าง ทำให้คนดูอยากติดตามชีวิตเขาและพยายามที่จะเลียนแบบในบางเรื่องด้วย

     “สำหรับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นตอนนี้ยิ่งย้ำให้ชัดเจนว่า ไม่มีอะไรแน่นอน สิ่งสำคัญเลยคือ การดำรงชีวิตโดยไม่ประมาททั้งเรื่องของการวางแผนและการตัดสินใจ การเกิดโควิด-19 ทำให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับกระบวนการคิดอย่างมาก บางคนตัดสินใจไม่ถูกแล้วก็เกิดข้อผิดพลาด ถ้าวิกฤตนี้ผ่านไปสิ่งแรกที่ควรทำคือ กลับไปซ่อมฐานธุรกิจของเราก่อน กลับไปมองธุรกิจตัวเองว่าตรงไหนที่มันทรุด รวมถึง Creator ด้วย กระบวนการตรงไหนมันมีปัญหา แล้วกลับไปแก้ไขให้มันแข็งแกร่งขึ้น อย่าเพิ่งรีบร้อนทำอะไรใหม่ๆ พร้อมเตรียมแผนตั้งรับปรับตัวเองในทุกสถานการณ์ไม่ว่าจะเจอกับอะไร แต่ถ้ายังยึดติดกับอะไรเดิมๆ อยู่มันก็คงจะไปต่อไม่ได้แล้ว” ณัฐพัชญ์กล่าวในตอนท้าย
 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup