Starting a Business

จากไอเดียทำผักให้ลูกทาน สู่นวัตกรรม Crispy Go ผักโขมอินทรีย์อบกรอบ เตรียมเจาะตลาดภารตะ





Main Idea
 
  • แรงบันดาลใจสำคัญแค่ไหน รู้ทั้งรู้ว่าการแปรรูปผักโขมเป็นเรื่องยาก แต่ความตั้งใจให้ลูกได้ทานผัก กลายเป็นแรงฮึดที่ลูกได้ทานของดี และกลายเป็นสแน็คผลิตภัณฑ์ตัวใหม่ที่มีอนาคต
 



                ผักโขมเป็นผักที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง และอุดมไปด้วยวิตามินหลายชนิด จึงได้รับความนิยมจากผู้บริโภคที่รับประทานผัก ผู้ปลูกผักโขมโดยเฉพาะผักโขมออร์แกนิกจึงสามารถสร้างรายได้ไม่ใช่น้อย อย่างไรก็ตาม แม้จะได้รับการตอบรับที่ดีแต่การทำฟาร์มผักออร์แกนิก จะต้องมีช่วงเวลาพักดินแล้วค่อยลงมือปลูกรอบใหม่อีกครั้ง เพื่อลดปัญหาเรื่องโรคและแมลงสะสม ซึ่ง ปัญญรัฏฐ์ ศิริวันสาณฑ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท แกรนด์ ออแกนิค จำกัด ทราบเรื่องนี้ แต่เพราะความตั้งใจที่อยากจะมีผลผลิตผักโขมป้อนตลาดอย่างต่อเนื่องได้ตลอดทั้งปี จึงทำให้บ่อยครั้งไม่ได้ทิ้งช่วงเวลาพักดิน ผลก็คือผักโขมที่ได้ มีขนาดความสูงไม่ได้ตามมาตรฐานที่จำหน่าย จากปัญหานี้ทำให้เธอหาทางแก้ไขจนนำไปสู่การสร้างมูลค่าเพิ่มผักโขมที่ไม่ได้ขนาดด้วยการแปรรูปเป็นผักโขมอินทรีย์อบกรอบขึ้นมา




                “จริงๆ เราคิดมานานแล้วว่าน่าจะเอาผักโขมมาแปรรูปได้เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม แต่ก็ไม่กล้าเพราะต้องลงทุนมาก พอดีในจังหวะตอนนั้นเห็นว่าลูกชอบกินสาหร่ายแผ่น เลยคิดว่าถ้าเอาผักโขมมาทำเป็นแผ่นแบบสาหร่ายได้น่าจะดีเพราะอย่างน้อยเด็กๆ จะได้รับประทานผักจริง จึงไปปรึกษาอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยนเรศวร อาจารย์ก็ช่วยทดลองขึ้นรูปผักโขมจนเป็นแผ่นได้ ซึ่งข้อดีคือเส้นใยที่ได้ค่อนข้างสูง ทำให้มีคุณประโยชน์หลายอย่างที่เราจะโปรโมท เลยคิดว่าน่าจะลองดูสักตั้ง”


                เมื่อความฝันจะเริ่มเป็นรูปเป็นร่างเห็นโอกาสที่ขยายธุรกิจไปสู่การทำผักโขมแปรรูป ปัญญรัฏฐ์ จึงได้ลงทุนทางด้านเครื่องจักร ตั้งโรงงานแปรูป และใช้เวลาเซตระบบเพื่อทดลองถึงครึ่งปี จึงได้ผลิตภัณฑ์ผักโขมอินทรีย์อบกรอบออกมาจำหน่ายภายใต้แบรนด์ Crispy Go


                ปัจจุบัน Crispy Go มี 4 รสชาติให้เลือก ได้แก่ รสดั้งเดิม รสธรรมชาติ รสพิซซ่า และรสโนริสาหร่าย โดยระยะแรกปัญญรัฏฐ์ เน้นการทำการตลาดออฟไลน์ ผ่านการออกบู๊ธ เพื่อจะได้พบกับลูกค้าโดยตรง และวางจัดจำหน่ายที่ ท็อปส์ ซุปเปอร์มาร์เก็ต ร้านเลมอนฟาร์ม แต่เมื่อเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ทำให้การออกบู๊ธต้องหยุดชะงัก รายได้หดหาย เธอจึงต้องหันมาใช้ช่องทางออนไลน์แทนอย่างจริงจัง ซึ่งปรากฏว่าสามารถพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสขึ้นมาได้ เพราะกลายเป็นว่าช่องทางออนไลน์ตอบโจทย์ผู้บริโภคในยุคนี้ จนทำให้มียอดขายเพิ่มขึ้นกว่าเดิม




                 “เดิมเราออกบู๊ธแทบทุกเดือน แต่พอออกบู๊ธไม่ได้ งานไม่มีเลย รายได้ก็หาย ก็คิดหนักทำอย่างไรถึงจะขาย Crispy Go ได้ จริงๆ เราทำช่องทางออนไลน์ผ่านเฟซบุ๊กเอาไว้อยู่แล้ว แต่ไม่ได้ให้น้ำหนักมาก เลยหันมากระหน่ำที่ออนไลน์แทน ปรากฏว่าได้รับผลตอบรับดีมากๆ นอกจากจะมียอดขายเพิ่มขึ้นจากเดิมแล้ว ยังเป็นตัวบังคับให้เราต้องออกผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เพิ่มขึ้นอีก เพราะการทำตลาดออนไลน์สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งคือต้องมีผลิตภัณฑ์หลากหลาย ตอนแรกเลยเรามีแค่รสดั้งเดิมกับรสโนริสาหร่ายเท่านั้น แต่มีลูกค้าขอแบบไม่มีผงชูรส เราก็เลยออกรสธรรมชาติ และรสพิซ่าเพิ่มขึ้นมา Crispy Go เลยมี 4 รสชาติ จากนั้นก็ออกรสวาฟเฟิลผักโขมเพิ่มมาอีก”

                 นอกจากนี้ปัญญรัฏฐ์ บอกว่าจุดเด่นของ Crispy Go คือ ไม่ผสมแป้ง ไขมัน 0 เปอร์เซ็นต์ โดยไฟเบอร์ในผักโขมอบกรอบอินทรีย์หนึ่งซองเท่ากับข้าวกล่อง 2 ทัพพี ขณะที่ให้แคลเซียมเทียบเท่ากับนมกล่องขนาด 200 มิลลิลิตร


                




               

                ผลสำเร็จในวันนี้ ทำให้ปัญญรัฏฐ์ ตั้งเป้าหมายว่า ในระยะสั้นจะมุ่งวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ดียิ่งขึ้น และจะผลิตสินค้าใหม่ๆ ออกมาเพื่อเป็นทางเลือกให้กับผู้บริโภคมากขึ้น ส่วนเป้าหมายในระยะยาว 2 ปีจากนี้คือต้องมองหาลู่ทางการส่งออกไปต่างประเทศ โดยมองว่าประเทศอินเดียมีความน่าสนใจเพราะเธอได้รับข้อมูลว่าคนอินเดียนิยมรับประทานผักโขมกันอยู่แล้ว แต่ยังไม่มีการแปรรูปในลักษณะเช่นนี้ จึงเป็นโอกาสทางธุรกิจหากจะได้ไปเปิดตลาดที่นั่น  


www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup