Starting a Business

ส่องไอเดียทำเงินจากธุรกิจเศษผ้า ของ 3 แบรนด์จาก 3 ประเทศ รับเทรนด์แฟชั่นสายกรีน



Main Idea
 
  • เทรนด์แฟชั่นสายเขียวรักสิ่งแวดล้อมที่กำลังมาแรงอีกเทรนด์หนึ่งคือการที่บรรดาดีไซเนอร์พยายามกำจัดเศษผ้าที่เหลือจากโรงงานผลิตในอุตสาหกรรมแฟชั่น
 
  • ซึ่งเศษผ้าที่ว่านี้หากรวม ๆ กันทั่วโลกแล้วคงมีหลายล้านตัน และโดยมากมักกลายเป็นขยะ ช่วงหลัง ๆ จะเห็นแบรนด์ใหม่ ๆ ผุดขึ้นจำนวนมากโดยมุ่งเน้นไปที่การผลิตแฟชั่นแบบยั่งยืน ดังเช่น 3 แบรนด์จาก 3 ประเทศที่กำลังจะพูดถึง



                เทรนด์แฟชั่นสายเขียวรักสิ่งแวดล้อมที่กำลังมาแรงอีกเทรนด์หนึ่งคือการที่บรรดาดีไซเนอร์พยายามกำจัดเศษผ้าที่เหลือจากโรงงานผลิตในอุตสาหกรรมแฟชั่น ซึ่งเศษผ้าที่ว่านี้หากรวม ๆ กันทั่วโลกแล้วคงมีหลายล้านตัน และโดยมากมักกลายเป็นขยะ ช่วงหลัง ๆ จะเห็นแบรนด์ใหม่ ๆ ผุดขึ้นจำนวนมากโดยมุ่งเน้นไปที่การผลิตแฟชั่นแบบยั่งยืน ดังเช่น 3 แบรนด์จาก 3 ประเทศที่กำลังจะพูดถึง



                แบรนด์แรกเป็นของสตาร์ทอัพจากเมืองโกเบ ญี่ปุ่นชื่อ Coxco ที่จับมือเป็นพันธมิตรกับผู้ผลิตสิ่งทอ “ยางิ แอนด์ โค” โดยทาง Coxco จากนำผ้าตัวอย่างที่ไม่ใช้แล้วจากโรงงานมาผลิตเป็นเสื้อผ้าแฟชั่น อาทิ เดรส และเสื้อสวมศีรษะ (pullover) จำหน่ายทางออนไลน์  โดยลูกค้าเป้าหมายเป็นกลุ่มคนวัย 20 และ 30 กว่าเนื่องจากเป็นกลุ่มที่ใส่ใจเรื่องขยะจากเศษผ้า หรือการโละเสื้อผ้าแบรนด์ฟาสต์แฟชั่น   


                สืบเนื่องจากดีไซน์เสื้อผ้าที่เปลี่ยนไปเรื่อยและปริมาณผ้าในตลาดมีมาก อายูมิ นิชิกาว่า ผู้ก่อตั้ง Coxco กล่าวว่าจึงทำให้ในแต่ละปีมีผ้าถูกทิ้งเป็นขยะราว 5 ล้านตันทั่วโลก กระแสความใส่ใจในสิ่งแวดล้อมทำให้ผู้ผลิตสิ่งทอและแบรนด์แฟชั่นร่วมมือกันมากขึ้นเพื่อลดขยะผ้า เสื้อผ้าแบรนด์ Coxco ที่ตัดเย็บจากผ้าตัวอย่างจะวางจำหน่ายทางออนไลน์ ราคาอยู่ที่ 23,000 เยน (6,800 บาท) สำหรับเดรส และ 19,000 เยนหรือราว 5,600 บาทสำหรับเสื้อสวมศีรษะ   



                Coxco เป็นสตาร์ทอัพที่ก่อตั้งเมื่อปี 2019 โดยสมาชิกกลุ่ม DEAR ME ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงกำไรในโตเกียวที่นอกจากจัดแฟชั่นโชว์ในฟิลิปปินส์และคัดเด็ก ๆ จากครอบครัวยากจนมาเดินแบบแล้วยังออกแบบและจำหน่ายเสื้อผ้าที่ตัดเย็บด้วยวัสดุรีไซเคิลอีกด้วย


                แบรนด์ต่อมาคือ Looptworks ของสกอตต์ แฮมลิน  อดีตนักกรีฑามหาวิทยาลัยโอเรกอน ช่วง 20 ปีก่อนระหว่างทำงานในบริษัทอาดิดาส อเมริกา แฮมลินพบว่ามีเศษผ้าที่เหลือจากกระบวนการผลิตสินค้าถูกทิ้งเป็นขยะคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 15-30 เปอร์เซนต์ เขาจึงตั้งบริษัทขึ้นมาเพื่อรวบรวมวัสดุเหลือใช้เหล่านั้นมาทำการ upcycle หรือออกแบบและผลิตเป็นสินค้าใหม่ อาทิ กระเป๋า เสื้อผ้า และของใช้ต่าง ๆ




                ล่าสุดเมื่อ 4 ปีก่อน Looptworks ได้ร่วมมือกับสมาคมบาสเก็ตบอลแห่งชาติหรือ NBA ในการนำเสื้อเจอร์ซี่ของนักบาสเก็ตบอลราว 250 ตัวมาดัดแปลงเป็นของใช้ เช่น ผ้าพันคอ กระเป๋าสลิงแบ็ก และกระเป๋าใบเล็กใส่ของใช้กระจุกกระจิก ผลปรากฏได้รับการตอบรับดีมากจากแฟนคลับ NBA ส่งผลให้สินค้าจำหน่ายหมดภายในเวลาเพียงข้ามคืน และมีคำสั่งซื้อเข้ามาอีกจำนวนมาก นอกจาก NBA แล้ว Looptworks ยังมีข้อตกลงกับหลายแบรนด์ดัง รวมถึง ไนกี้ อาดิดาส ปาตาโกเนีย และสายการบินอีกหลายสายในการนำวัสดุผ้าขององค์กรเหล่านั้นมาผลิตเป็นสินค้าใหม่


                แบรนด์สุดท้ายมาจากบูบันเนสชวาร์ เมืองหลวงของรัฐโอริสา อินเดีย ผู้ประกอบการชื่อเบนอริต้า แดช เจ้าของแบรนด์เสื้อผ้า Ladyben ข้อมูลระบุช่วงหลายปีที่ผ่านมา อุตสาหกรรมแฟชั่นในอินเดียเติบโตขึ้นมาก และคาดว่าอินเดียจะเป็นตลาดเสื้อผ้าที่ใหญ่เป็นอันดับ 6 ในปี 2022 โดยมีมูลค่าตลาด 59,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ปัจจัยสำคัญมาจากการขยายตัวของชนชั้นกลางที่มีกำลังซื้อมากขึ้น ยิ่งมีการบริโภคมาก ก็ยิ่งส่งผลต่อสิ่งแวดล้อม เบนอริต้ามองว่าในฐานะดีไซเนอร์น่าจะมีบทบาทในการบรรเทาปัญหานี้




                ด้วยจักรเย็บผ้า 1 หลังที่มีอยู่ เบนอริต้าได้ไปขอเศษผ้าตามร้านตัดเสื้อผ้าในเมือง นำมาออกแบบและตัดเย็บเป็นเสื้อผ้าภายใต้แบรนด์ Ladyben นอกจากเสื้อผ้าแล้ว เธอยังผลิตสินค้าตกแต่งบ้านอีกด้วย เช่น ผ้าม่าน ผ้าปูที่นอน ปลอกหมอนอิง และที่รองจานบนโต๊ะอาหาร เป็นต้น สินค้าของเธอวางจำหน่ายผ่านแพลทฟอร์มอี-คอมเมิร์ซ และร้านค้าของเธอที่มี 2 สาขาคือที่บูบันเนสชวาร์ และนิวเดลี  ราคาจำหน่ายเริ่มต้นที่ 300 รูปี- 30,000 รูปี


                เบนอริต้าเล่าว่าเธอสนใจด้านแฟชั่นและดีไซน์มาตลอด และระหว่างการทำวิทยานิพนธ์ปริญญาโทด้านการออกแบบทำให้เธอได้ศึกษาลึกซึ้งเกี่ยวกับศิลปะสิ่งทออันงดงามของอินเดีย หลังจบการศึกษา เธอเลือกทำงานด้านจัดหาสินค้าให้กับผู้ส่งออก หลังจากนั้นก็ตัดสินใจเปิดร้านเสื้อผ้าดีไซน์ในเดือนมค.ปี 2019 เบนอริต้าใช้วิธีเดินหาลูกค้าตามบ้าน ช่วยกันออกแบบชุดกับลูกค้า จากนั้นจึงคุยกับช่างเกี่ยวกับดีไซน์ที่ต้องการ เมื่อตัดเย็บเสร็จ ก็นำส่งลูกค้าด้วยตัวเอง  


                จากแบรนด์ Ladyben ที่เป็นแบรนด์ราคาย่อมเยาเข้าถึงง่าย เบนอริต้าได้สร้างแบรนด์เพิ่มอีกแบรนด์ ใช้ชื่อว่า Tilotama สินค้าแบรนด์นี้ราคาสูงขึ้นเนื่องจากเป็นการรังสรรค์ของช่างมีฝีมือที่อยู่นอกเมือง แต่ทั้งสองแบรนด์นี้ใช้แนวคิดเดียวกันในการเป็นแบรนด์แฟชั่นใส่ใจสิ่งแวดล้อม และในช่วงที่เกิดวิกฤติการระบาดของไวรัสโควิด ธุรกิจเล็ก ๆ ของเธอต้องปิดชั่วคราว และเบนอริต้าได้ผันมาผลิตหน้ากากผ้าจำหน่าย โดยสามารถทำยอดขายไปได้เกือบ 4,000 ชิ้น จนกว่าสถานการณ์จะกลับสู่ภาวะปกติ เมื่อนั้น เธอจึงจะกลับไปเปิดรับออร์เดอร์แฟชั่นเพื่อสิ่งแวดล้อมดังเดิม

 
ที่มา
https://asia.nikkei.com/Spotlight/Environment/Japan-startup-to-sell-dresses-made-from-leftover-fabrics
www.cnbc.com/2020/02/12/scott-hamlins-looptworks-is-helping-the-nba-give-old-jerseys-a-new-life.html
https://yourstory.com/herstory/2020/06/with-leftover-fabric-collected-from-tailors?utm_pageloadtype=scroll


www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup