Starting a Business

Much อัปเกรดเมล็ดมะคาเดเมียไม่สมบูรณ์เป็นนมกระป๋องที่เก็บได้นานถึง 2 ปี

Text : Marisa S.   





Main Idea
 
  •  มะคาเดเมียเมล็ดใหญ่สมบูรณ์ ไม่แตกหัก ย่อมขายได้ราคางาม แล้วมะคาเดเมียเมล็ดเล็กหรือที่แตกหักล่ะจะเอาไปทำอะไรดี?
 
  • ปัญหานี้จึงนำไปสู่การสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเมล็ดมะคาเดเมียไซส์เล็ก ด้วยการพัฒนาโปรดักต์ใหม่นมมะคาเดเมีย แบรนด์ Much เจ้าแรกในประเทศไทย




                “เรามีไร่ปลูกมะคาเดเมียอยู่ที่จังหวัดตาก แล้วก็มีเมล็ดมะคาเดเมียจำหน่ายภายใต้แบรนด์ Much อยู่แล้ว ซึ่งเราจะคัดเลือกแต่เมล็ดที่โตเท่านั้น ทีนี้ก็เกิดปัญหาว่าแล้วเมล็ดเล็กๆ หรือเมล็ดที่แตกล่ะ ซึ่งไม่ว่าจะเป็นเมล็ดที่โต เมล็ดเล็กหรือแม้แต่เมล็ดที่แตกหักล้วนมีคุณค่าทางโภชนาการไม่ต่างกันเลย คือมีโอเมก้าสูง เลยคิดที่จะเอาเมล็ดแตกมาสกัดเป็นนมมะคาเดเมีย ซึ่งยังไม่มีใครทำ โดยตัวเราเองเรียนจบมาทางด้านอุตสาหกรรมอาหารก็เลยลงมือทดลองพัฒนาเองจนได้นมมะคาเดเมียที่ใช่ขึ้นมา” ชิชนก จิตปรีดากร เล่าให้ฟังถึงจุดเริ่มต้น




                อย่างไรก็ตาม แม้จะเป็นโปรดักต์ใหม่ แต่ชิชนกกลับบอกว่า ความยากไม่ได้อยู่ที่การพัฒนาโปรดักต์ เพราะเธอใช้เวลาเพียงแค่ 6 เดือนก็สามารถผลิตนมมะคาเดเมียออกมาได้แล้ว ทว่าความยากอยู่ที่การทำการตลาดมากกว่า โดยเธอต้องใช้เวลาถึง 2 ปีในการเรียนรู้การทำตลาดและศึกษาความต้องการของผู้บริโภคจนตัดสินใจที่จะพัฒนานมมะคาเดเมียกระป๋องขึ้นมา  


                “ในช่วงแรกๆ เลยที่อาศัยออกบู๊ธในการขาย เราก็คอยเก็บข้อมูลจากลูกค้าด้วย ทำให้รู้ว่าลูกค้าไม่ได้ต้องการนมมะคาเดเมียแบบต้องดื่มทันที เขาอยากซื้อไปเก็บมากกว่า แล้วต้องการให้มีอายุนานขึ้น และคิดไปไกลถึงการส่งออกว่าการขนส่งทางเรือก็สะดวก กระป๋องค่อนข้างทนทาน เลยพัฒนาต่อมาเป็นนมมะคาเดเมียบรรจุกระป๋อง ซึ่งสามารถยืดอายุได้ถึง 2 ปีขึ้นมา”




                นมมะคาเดเมียแบรนด์ Much มีราคาจำหน่ายกระป๋องละ 45 บาท ซึ่งนับเป็นราคาที่สูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเทียบกับนมอัลมอนด์ที่กำลังได้รับความนิยมอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งชิชนกยอมรับว่าเป็นเพราะตัวต้นทุนของวัตถุดิบมะคาเดเมียแพงกว่าถั่วประเภทอื่น ซึ่งกลุ่มคนที่เลือกซื้อมะคาเดเมียจะมีความรู้ความเข้าใจอยู่แล้วว่า ทำไมมะคาเดเมียจึงดีกว่าอัลมอนด์ กล่าวคือ อัลมอนด์เป็นพืชล้มลุกปลูกง่าย ส่วนมะคาเดเมียเป็นพืชยืนต้นต้องใช้เวลาถึง 10 ปีกว่าจะติดผล จึงเป็นความยากในการได้มาซึ่งวัตถุดิบ ซึ่งด้วยขั้นตอนกลไกธรรมชาติทำให้มะคาเดเมียมีมูลค่าเพิ่มขึ้น


                ทั้งนี้ ชิชนกให้ความสำคัญกับความต้องการของผู้บริโภคเป็นอย่างมาก เธอจึงหมั่นศึกษาพฤติกรรมและความต้องการของผู้บริโภคเพื่อขยายตลาดไปสู่กลุ่มลูกค้าใหม่เพิ่มขึ้นนั้น จนกระทั่งได้ข้อมูลและตกผลึกที่จะต่อยอดนมมะคาเดเมียกระป๋องมาสู่การทำแพ็กเกจจิ้งแบบกล่องกระดาษในเร็วๆ นี้ โดยนมมะคาเดเมียแบบกล่องนี้จะลดความเข้มข้นลง และลดต้นทุนในการผลิตเพราะเป็นระบบยูเอชที ซึ่งนมมะคาเดเมียทั้งแบบกระป๋องและแบบกล่องสองอย่างนี้จะเหมือนกันอยู่อย่างหนึ่งเลยคือ มะคาเดเมียที่ให้คุณประโยชน์ไม่แตกต่างกัน แต่สิ่งที่แตกต่างคือ เรื่องของกลิ่น และราคาที่เบาลง เพื่อเป็นอีกทางเลือกหนึ่งผู้บริโภค




                ก่อนจากกัน ชิชนกยังให้เคล็ดลับการเริ่มต้นธุรกิจของเธอไว้ว่า การทำธุรกิจสิ่งสำคัญคือ การวางแผน เพราะหากไม่มีแผนเพื่อนำทางแล้ว ก็อาจก้าวเดินพลาดได้


                “การเริ่มต้นทำธุรกิจที่เริ่มทันทีที่คิด สิ่งเดียวที่ได้กลับมาคือ ความไว แต่สิ่งที่แย่คือ ถ้าไม่มีการวางแผนเอาไว้ล่วงหน้าจะทำให้เราเดินไปได้แค่ก้าวเดียวแล้วเดินถอยกลับมายืนที่เดิม เพราะฉะนั้นการวางแผนที่มีความรวดเร็วเป็นเรื่องสำคัญที่สุด ถ้าไม่มีการวางแผนแล้วเดินเลย มีข้อดีตรงที่ว่ามันได้เริ่มเร็ว แต่ก็มีข้อเสียตรงที่เดินไปไม่กี่ก้าวก็ต้องเดินถอยหลัง ดังนั้น จะดีกว่าไหมถ้าเราคิดจะเริ่มต้นธุรกิจแล้วมีการวางแผนเอาไว้ก่อน โดยที่แผนนั้นจะต้องถูกวางอย่างเร็วมากแล้วค่อยเดินตามขั้นตอนนั้น”
 


www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup