Starting a Business

ทำไมต้องกู้! ส่องวิธีระดมทุนจากลูกค้า แจ้งเกิดแบรนด์ VING รองเท้าแตะใส่วิ่งรายแรกของไทย

Text : รัชนี พันธ์รุ่งจิตติ  Photo : กิจจา อภิชนรจเรข





Main Idea
 
  • เงินเก็บที่มีเพียง 1 แสนไม่พอผลิตรองเท้า ทางออกของโปรแกรมเมอร์หนุ่มจึงใช้วิธีการระดมทุนจากลูกค้าจนสามารถผลิตและจำหน่ายได้กว่าหมื่นคู่ภายใน 1 ปี
 


     เมื่อคิดจะเริ่มต้นธุรกิจเคยประสบปัญหาเหล่านี้ไหม?        

               
     ไอเดียก็พอมี แต่ไม่มีเงินทุน แล้วการตลาดล่ะจะต้องทำอย่างไร หลายคนติดกับดักความเชื่อที่ว่าถ้าไม่มีความรู้ไม่มีประสบการณ์ก็ทำไม่ได้ แต่เชื่อหรือไม่ ผู้ประกอบการหลายคนก็เริ่มต้นจากความไม่รู้ หรือไม่มีประสบการณ์มาก่อน แต่อาศัย Passion หล่อเลี้ยงหัวใจ แล้วทำตามสัญชาตญาณ ลองผิดลองถูก หาทางแก้ไขไปเรื่อยๆ เรียกว่าเริ่มต้นแบบไร้กระบวนท่าแต่กลับเติบโตแบบก้าวกระโดดด้วยซ้ำ 





     วาที วิเชียรนิตย์ ผู้ก่อตั้งรองเท้าแตะสำหรับวิ่ง แบรนด์ VING รายแรกของไทย คือหนึ่งในนั้น ผู้ชายที่เริ่มต้นธุรกิจจาก Pain Point ของนักวิ่งที่มักจะเจอปัญหารองเท้าผ้าใบบีบ แต่เพียงแค่เริ่มต้นก็เจอปัญหาเงินทุนแล้ว หากทว่าเขากลับไม่ยอมแพ้คิดหาวิธีการแก้ปัญหา กระทั่งสุดท้ายต้องทิ้งงานโปรแกรมเมอร์เงินเดือนหลักแสนออกมาลุยเดี่ยวกับ VING ธุรกิจที่เพิ่งเริ่มต้นเมื่อปลายปีที่ผ่านมา เมื่อเห็นหนทางที่ฉายชัดแล้วว่ามันไปได้ดีเกินคาด

 
     Pain point คือโอกาส

     ด้วยปัญหาด้านสุขภาพทำให้วาทีหันมาออกกำลังกายด้วยการวิ่ง มีครั้งหนึ่งเขาไปวิ่งงานที่จังหวัดบุรีรัมย์ พอวิ่งไปได้ครึ่งทาง เท้าเริ่มเจ็บเพราะรองเท้าผ้าใบมันบีบ จึงเข้าไปซื้อรองเท้าแตะใน 7-Eleven มาใส่วิ่งต่อ ซึ่งก็ทำเวลาได้ไม่ดี ในขณะที่พี่ที่อยู่ในชมรมวิ่งด้วยกันใส่รองเท้าแตะวิ่งตั้งแต่ต้นจนจบกับทำเวลาได้ดี





     วาทีไม่ปล่อยให้ความสังสัยเกิดขึ้นนานจึงไปขอคำตอบจากพี่คนนั้น ได้รับคำตอบกับมาว่าเป็นรองเท้าแตะสำหรับวิ่งจากต่างประเทศ จากนั้นเขาเริ่มลองซื้อมาใส่วิ่งดูปรากฏว่าใส่วิ่งได้จริงแล้วไม่เจ็บเท้าด้วย เมื่อใช้เองได้ผลเขาก็เริ่มลองขาย

     “ผลตอบรับดี คิดว่าน่าจะทำเองเพราะมันต้องมีคนที่เป็นเหมือนเรา คือมีปัญหาหน้าเท้ากว้าง เท้าอูม ใส่รองเท้าวิ่งเผื่อขนาดอย่างไรก็มีปัญหาเจ็บเท้าอยู่ดี นี่เป็นจุดเริ่มต้นที่คิดว่าน่าจะทำขายเป็นธุรกิจได้ เลยไปติดต่อหลายโรงงาน จนไปเจอโรงงานหนึ่งที่ผลิตรองเท้าผ้าใบให้แบรนด์ดังๆ รับทำ เราก็ส่งแบบรองเท้าไปให้เขา ปรับปรุงอยู่หลายรอบเหมือนกัน ในที่สุดก็ได้เป็นโปรโตไทป์ (Prototype) ขึ้นมา แต่ทีนี้พอจะผลิตจริงก็มีปัญหาว่าผมไม่มีเงินเหลือแล้ว เพราะทำงานเป็นโปรแกรมเมอร์ มีเงินเก็บไม่เยอะเพราะมีภาระต้องผ่อนบ้าน จะไปกู้แบงก์ แบงก์ก็คงไม่ให้ ตอนนั้นก็คิดหนักจะทำอย่างไรถึงจะผลิตออกมาได้เพราะทุกอย่างพร้อมแล้ว ขาดแต่เงินทุนที่คาดว่าจะต้องใช้ประมาณ 1 ล้านบาท”
 


 

     ทำ Crowdfunding โดยที่ลูกค้าไม่รู้ตัว

     วาทีเผยถึงกลยุทธ์ในการหาเงินของเขาคือการ การจัด Virtual Run ขึ้นมา ซึ่งถือว่าเป็นงาน Virtual Run แรกของโลกที่แจกรองเท้าสำหรับวิ่ง ปรากฏว่าภายในเวลา 2 เดือน มีคนสมัครเข้ามาวิ่ง 900 คน ทำให้สามารถนำเงินก้อนนี้ไปสั่งผลิตล็อตแรก 4,800 คู่

     “ผมทำ Crowdfunding เป็นการระดมทุนโดยที่ลูกค้าไม่รู้ตัว นอกจากจะได้เงินมาหมุนเพื่อผลิตรองเท้าวิ่งแล้ว ยังได้ประชาสัมพันธ์รองเท้า VING ไปในตัว พอจัดงานวิ่งแจกรองเท้าทำให้เขารู้จักเราแล้ว ที่สำคัญอีกอย่างคือ ได้กลุ่มลูกค้าที่เป็น Pre-test ไปในตัว ใส่วิ่งแล้วเป็นอย่างไร ดีไหม มีปัญหาอะไรหรือเปล่า”
 


 

     จุดแข็งของ VING

     ปกติรองเท้าผ้าใบส่วนใหญ่ชาวต่างชาติจะเป็นคนออกแบบมักเป็นแบบหน้าเท้ายาว แต่คนไทยเราเท้ากว้าง ถ้าวิ่งระยะทางไกลเกิน 20 กิโลเมตรทุกคนจะเจอปัญหาเพราะเวลาวิ่งมักจะจิกเท้าทำให้ไปชนกับหน้าเท้าของรองเท้า ต่อให้ใส่รองเท้าหลวมกว่าไซส์ปกติมันก็ช่วยไม่ได้มากเท่าไหร่ กลายเป็นว่ามัดเชือกแน่นก็เจ็บเท้า และถ้ารองเท้ามันซัพพอร์ตมากเกินไปทำให้การลงเท้าไม่เป็นธรรมชาติ พอไม่เป็นธรรมชาติทำให้เกิดอาการบาดเจ็บที่เรียกว่า ITBS (ILIO TIBIAL BAND SYNDROME) บ้าง รองช้ำบ้าง

     ในขณะที่ข้อดีของรองเท้าแตะวาทีบอกว่า อย่างแรกคือ มันอิสระหน้าเท้า การลงเท้าเป็นธรรมชาติ ไม่ต้องฝืนเอียงซ้ายเอียงขวา ใส่ได้ทุกคนไม่ว่า เท้าอูม เท้าบานใส่ได้หมด ซึ่งตัวผลิตภัณฑ์ก็ผลิตจาก EVA Foam แบบเดียวกับพวกพื้นรองเท้าวิ่ง ดังนั้น VING เลยเป็นแบรนด์ไทยแบรนด์แรกที่ทำรองเท้าแตะสำหรับวิ่งจริงๆ   

     “มีคนเข้ามาถามเรื่อยๆ ว่า ใส่รองเท้าแตะวิ่งจะไม่หลุดเหรอ ซึ่งความเป็นจริงมันไม่หลุดอยู่แล้วเพราะดีไซน์มาให้มันกระชับกับเท้า แต่ด้วยความที่ลูกค้ากลัวว่ามันจะหลุด เราก็เลยแก้ปัญหาด้วยการเจาะรูที่สายรองเท้า แล้วก็เอาเชือกรองเท้ามาผูก เหมือนเป็นการพลิกจากวิกฤตมาสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับรองเท้า ปรากฏว่าลูกค้าดันชอบ กลายเป็นแฟชั่นใหม่ แล้วยังได้ลูกค้ากลุ่มใหม่ขึ้นมาคือ ผู้สูงอายุ 50 up เยอะมาก เขาเข้ามาซื้อแล้วขอให้เราผูกเชือกรัดส้นแบบธรรมดา กลายเป็นรองเท้าสุขภาพและแฟชั่นไปได้อีก”
 




กลุ่มลูกค้าชัด ทำตลาดง่าย

     รองเท้าวิ่งแม้จะเป็นสินค้าตลาดเฉพาะทางแต่ก็มีข้อดีอย่างหนึ่งสามารถทำตลาดได้ง่าย เพราะมีอีเวนต์จัดงานวิ่งบ่อยมากข้อดีอีกอย่างคือ นักวิ่งทุกคนเป็น Influencer ในตัวอยู่แล้ว มักจะถ่ายรูปลงโซเชียลทำให้คนในวงการวิ่งได้เห็นและส่งต่อให้กัน

     ส่วนวิธีทำการตลาดช่วงแรกวาทีเน้นผลิตสีรองเท้าแตกต่างจากแบรนด์อื่นๆ เพื่อจะเช็กได้ว่ารองเท้า VING มีคนใส่ประมาณเท่าไหร่ สีที่เลือกใช้เป็นสีเด่นๆ เช่น เขียว แดง ที่สามารถเห็นได้ชัดเวลาใส่วิ่งตอนเช้ามืด แล้วเป็นสีที่นักวิ่งส่วนใหญ่ชอบ ปัจจุบัน VING จำหน่ายไปแล้วประมาณหมื่นคู่

     “ยอดขายเพิ่มมากช่วงโควิด-19 เพราะคนไปไหนไม่ได้ เราทำคอนเทนต์ชูเรื่องสุขภาพ ใส่รองเท้าแตะวิ่งกระโดดอยู่บ้านได้ จังหวะก่อนล็อกดาวน์ เราออกรองเท้ารุ่นใหม่สีเทาเพิ่มสารยับยั้งแบคทีเรียเข้าไป ทำความสะอาดง่าย ไม่สะสมเชื้อโรค ขายราคา 790 บาท ซึ่งแพงกว่ารองเท้ารุ่นแรกร้อยบาท ตอนแรกกังวล แต่ปรากฏว่าตัวนี้ขายดีมากๆ สีอื่นขายแทบไม่ออกเลย ซึ่งเราได้ฟีดแบ็กกลับมาแล้วว่าลูกค้าชอบสีเข้มๆ เพียงแต่เราไม่ทำสีดำ สีเข้มแต่แรกเพราะเราจะให้เขาซื้อคู่ที่สอง”





     สำหรับรองเท้าสีดำรุ่นใหม่ที่บริษัทจะผลิตต่อไปนั้นจะเป็นแบบสวมเพื่อตอบโจทย์ลูกค้ากลุ่มที่ชอบรองเท้าแบบสวม แต่จะเน้นดีไซน์ไม่ให้มันบีบนิ้วก้อย นอกจากนี้เพิ่มรองเท้าเพื่อสุขภาพ ใส่เพื่อฟื้นฟูหลังวิ่ง สำหรับคนที่เป็นโรครองช้ำ หรือคนที่ยืนทำงานนานๆ

     “สำหรับปีนี้คงเน้นตลาดวิ่งให้มันชัด จากสถิติหลังบ้านคนที่กดซื้อสินค้าเราอายุประมาณ 30 up ก็เป็นโจทย์ให้คิดต่อไปว่าจะดีไซน์อย่างไรให้เป็นรองเท้าแบบที่วัยรุ่นชอบด้วยเพื่อเป็นการขยายตลาด อยากส่งออกไปต่างประเทศโดยเฉพาะตลาดเพื่อนบ้าน เมียนมา สปป.ลาว อินเดีย ชอบใส่รองเท้าแตะเยอะมาก ตะวันออกกลางใส่รองเท้าแตะเยอะมาก พอมองถึงตลาดฝั่งนั้นแล้วหันกลับมามองต้นทุนในไทยมันน่าจะทำได้ แม้ว่าจะไม่ได้ราคาถูกเหมือนเวียดนามกับจีน”

 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup