Starting a Business

6 บทเรียนของยูทูบเบอร์ดัง Bearhug ก่อนจะสร้างตังค์ได้จากธุรกิจ Bearhouse

Text: รัชนี พันธ์รุ่งจิตติ Photo: กิจจา อภิชนรจเรข





Main Idea
 
  • ถ้าจะทำธุรกิจอาหารจงเจ๊งในกระดาษก่อน เพราะการใช้เซ้นส์ทำธุรกิจทำให้เจ็บตัวเยอะ 
 
  • บทสรุปที่ กานต์-อรรถกร รัตนารมย์ ยูทูบเบอร์ชื่อดังจากช่อง Bearhug ได้เรียนรู้จากการทำธุรกิจ
 


     กว่าจะมีร้านชานมไข่มุก Bearhouse ที่แฟนๆ ต้องเข้าคิวยาว และขยายกิจการมากถึง 5 สาขา นั้นหลายคนคงคิดว่านี่คือธุรกิจแรกของ กานต์-อรรถกร รัตนารมย์ และ ซารต์-ปัทมพร ปรีชาวุฒิเดช สองยูทูบเบอร์ชื่อดังจากช่อง Bearhug ที่โดดเด่นด้วยคอนเทนต์เกี่ยวกับไลฟ์สไตล์ การท่องเที่ยวและอาหาร ทำให้ยอดผู้ติดตามมีมากกว่า 3.4 ล้านคน


     แต่จริงๆ แล้วพวกเขาเคยทำธุรกิจอื่นๆ มาก่อน และล้มไม่เป็นท่า แม้แต่ร้านชานมไข่มุกที่กำลังจะเปิดสาขาที่ 6 ก็ต้องทิ้งแป้งไปเป็นตันๆ และอีกหลายเรื่องราวกว่าจะประสบความสำเร็จ นี่คือ 6 บทเรียนในการทำธุรกิจของพวกเขาที่หลายคนอาจไม่เคยรู้ แต่รับรองว่ามีประโยชน์สำหรับผู้ที่จะเริ่มต้นธุรกิจ





     แม้คนภายนอกอาจจะมองว่าเส้นทางธุรกิจของทั้งคู่อาจจะดูสวยหรู แต่แน่นอนกว่าจะมาถึงวันนี้พวกเขาต้องผ่านความล้มเหลวมาไม่ใช่น้อยที่บางคนอาจคาดไม่ถึง
 
 
     1. ธุรกิจตัวแรกไม่ใช่ชานมไข่มุก


     ธุรกิจตัวแรกของทั้งคู่คือ เจลล้างหน้า ซึ่งผลิตมา 5 หมื่นชิ้นซึ่งผลิตเสร็จแล้วอยู่ในกระบวนการที่จะทำการตลาด ปรากฏว่าทั้งสองรู้สึกว่า โปรโมตไม่ได้เพราะรู้สึกไม่ใช่ตัวเอง จึงตัดสินใจไม่ขาย ปล่อยให้เจลล้างหน้ากองเป็นกำแพงเต็มบ้าน ล่าสุดต้องนำไปทิ้งเพราะเจลหมดอายุ
 
     กานต์ จะเรียกว่าล้มเหลวก็ไม่เชิง เพราะมันยังไม่ได้เริ่มขาย สำหรับเราถือว่าคงเป็นการเรียนรู้

     ซารต์ พูดให้น่าหมั่นไส้คือ เราซื่อสัตย์กับความรู้สึกของตัวเอง เราต้องทำของที่เราอิน กล้าพูด กล้าบอกต่อ ไม่อย่างนั้นเราก็พูดไม่ได้




 
     2. ไม่อยากเป็นหนี้


     ด้วยความชอบกินชานมไข่มุกของซารต์ ยิ่งได้มีโอกาสไปลิ้มขานมไข่มุกจากไต้หวัน จึงตัดสินใจจะไปซื้อแฟรนไชส์ แต่ติดที่เงื่อนไขระบุว่าถ้าขยายแฟรนไชส์ตามสัญญาไม่ได้ จะต้องเสียค่าปรับหลัก 10 ล้าน การเจรจาไม่เป็นผลทั้งคู่จึงลงมือทำกันเอง

     กานต์ บังเอิญไปเจอคนที่เปิดร้านชานมไข่มุกที่เชียงใหม่ตั้งแต่ 10 ปีที่แล้ว เขาคุยให้เราฟังว่าเจ๋งอย่างนั้นอย่างนี้ เราก็เลยฝากตัวเป็นศิษย์เขา เริ่มเรียนจากตรงนั้น แล้วก็มาต่อยอดศึกษาเอาเองอีกเป็นปี เพราะเราตั้งใจทำให้ไม่เหมือนไต้หวันที่รสชาติจะเป็นแบบ A+B+C เหมือนสูตรสำเร็จ เราเลยคิดใหม่ เหมือนสร้างโลกของเราเอง จะได้อยู่กับเราไปยาวๆ   
 
 



     3. ทิ้งแป้งไปเป็นตัน

     กว่าจะได้สูตรชานมไข่มุกของตัวเอง พวกเขาต้องยอมทิ้งแป้งไปเป็นตัน เพื่อให้ได้สูตรที่ดีที่สุด และหนึ่งเหตุผลที่ทำให้ลูกค้าติดใจคือ ต้องปั้นไข่มุกขึ้นมาใหม่ ทุก 2 ชั่วโมง เพื่อให้ลูกค้าได้ทานของสด ที่ไม่มีสารกันบูด ไม่ใส่สารกันรา ไม่ใส่น้ำตาล 

     ซารต์ ตอนที่ตัดสินใจจะทำชานมไข่มุก เราคิดกันว่าต้องรู้ให้มากที่สุดอะไรที่ว่าดีก็จะนำมาใช้ อย่างใบชา ครั้งแรกนำเข้าจากไต้หวัน แต่พอเกิดโควิด-19 การขนส่งมีปัญหา เราเลยไปหาชาใหม่ๆ ซึ่งโชคดีที่เราไปเจอชาที่ปลูกในป่ารสชาติดีมาก ยิ่งเราใช้ใบชานี้เท่าไหร่ ชาวบ้านก็จะปลูกป่ามากขึ้น เพราะเขามีความเชื่อว่าความอุดมสมบูรณ์ของต้นไม้กับใบชาไปด้วยกัน คือเราพยายามหาสิ่งดีที่สุดให้กับลูกค้าตลอดเวลา
 


 

     4. ทำไอศกรีมก็เจ๊ง

     หลังจากเปิดร้าน Bearhouse ที่สยามสแควร์ในถิ่นวัยรุ่นซึ่งก็ได้รับการตอบรับอย่างดี พวกเขาจึงตัดสินใจขยายร้านชั้น 2 เพื่อขายไอศกรีม ปรากฏว่าไม่ได้รับการตอบรับอย่างที่คิด
 
     ซารต์ เราคิดผิดอย่างมาก มันเหมือนคนอยากรู้อยากลอง แล้วตัวเราเป็นคนชอบไอศกรีมมาก ค่อนข้างมั่นใจกับรสชาติ ก็เปิดเลยจ้า บทเรียนคือ ซื้อไอศกรีมแล้วลูกค้าไม่ขึ้นชั้นสอง แต่จะนั่งตรงบันได  

     กานต์ ภาพจำของร้านเรามันเป็นชานมไข่มุก เขากำเงินมา 100 บาทก็คงเลือกกินชานมไข่มุกมากกว่าไอศกรีม แล้วเราไม่ถนัดเรื่องนี้ด้วย
 




     5. สอบตกเรื่องการบริหาร

     เพราะเงินเก็บก้อนโตที่ได้จากเป็นยูทูบเบอร์มา 5 ปี และด้วยวัยที่กำลังอยู่ในช่วงทดลอง พวกเขาจึงนำเงินที่มีมาเรียนรู้กับการทำธุรกิจ  
 
     กานต์ สำหรับการบริการให้ลูกค้าผมให้คะแนนตัวเอง 20 เลยจากเต็ม 10 คือ เราทำให้มากจริงๆ แต่ถ้าในแง่การบริหารคิดว่าตัวเองสอบตก ทำงานด้วยเซ้นส์มากเกินไป เราสองคนลุยธุรกิจแบบไม่ได้มีที่ปรึกษา วันนี้เรายังไม่ได้ประสบความสำเร็จนะ เราขาดเรื่องไฟแนนซ์มากๆ เราลงแต่เงิน แล้วก็ฝัน สุดท้ายเราลืมดูว่ากำไรอยู่ไหน เราใช้เงินไปกับการขยายสาขาและทำโรงงานเยอะมาก
 
     ซารต์ ถ้าเราคิดว่ามันยาก เราอาจจะไม่เริ่มทำอะไรสักอย่าง แต่นี่คือเราเริ่มจากที่ไม่รู้ แต่พร้อมที่จะเรียนรู้และแก้ไขปัญหาตลอดเวลา สำหรับซารต์ให้คะแนนตัวเอง 7 เต็ม 10 เพราะนอกจากเวลานอนแล้วซารต์ให้กับธุรกิจหมดเลย ส่วนที่หายไป 3 คะแนนเป็นเรื่องที่มันต้องเรียนรู้ไปเรื่อยๆ ตอนนี้รู้แล้วว่าจุดรั่วของธุรกิจอยู่ตรงไหน ซึ่งตอนนี้รู้แล้วว่าเราต้องวางแผนมากขึ้น ต้องแยกระหว่างชีวิตกับธุรกิจออกจากกัน ไม่อย่างนั้นสุดท้ายบริษัทโต แต่ตัวเราจะเหนื่อยและไม่แฮปปี้     
 

     6. ยูทูบคือที่เติมพลัง

     ด้วยวัยที่เริ่มโตขึ้นหลังจากที่ทั้งคู่มาจับธุรกิจ การมองโลกไม่เหมือนเดิม คอนเทนต์ที่ทำในยูทูบก็มีความลึกขึ้น จากอดีตนำเสนอว่าร้านนี้อร่อย แต่ปัจจุบันการนำเสนอเนื้อหาพวกเขามองไปถึงการบริหารร้าน การรีวิวคุยกับเจ้าของร้านเป็นการเพิ่มมิติในการรีวิวลึกขึ้น

     กานต์ ตอนนี้คนที่ดูคอนเทนต์เป็นคนที่มีอายุที่แต่ก่อนไม่เคยดูเราเลย ขณะที่วัยรุ่นก็จะบอกว่าเราทำคอนเทนต์น่าเบื่อ ตรงนี้เราก็ต้องเลือกกลุ่มคนดู

     ซารต์ ตอนนี้ยูทูบเบอร์ไม่ใช่อาชีพเราแล้ว แต่กลายเป็นที่ที่เติมพลังของเรา เรามีความสุขกับคอนเทนต์แบบไหน เราก็จะทำสิ่งนั้น Bearhug เป็นเหมือนไดอารี่ชีวิต เราเรียนรู้อะไรหรือชีวิตช่วงนี้เรามีประโยชน์กับคนดูเรื่องไหน เราก็พยายามใส่ลงไปในคอนเทนต์ คิดว่าใครอยากทำธุรกิจมาดูคลิปของเรา จะได้อะไรกลับไปบ้างไม่มากก็น้อย อย่างตอนที่เราปิดร้านไอศกรีม เราก็เล่าความรู้สึกทำไมเราถึงปิด เราจัดการกับไอศกรีมที่เหลืออย่างไร เราไปเดินแจกสยาม ไม่มีอะไรน่าอาย ความผิดพลาดอะไรก็แชร์หมด เจอคนดูเขาบอกชอบมาก เขาเห็นการเติบโตของ Bearhug ไปพร้อมเขา คนพูดอย่างนี้เยอะมาก
 
 
 www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup