Starting a Business

เปิดโพล จีน-อินเดียขึ้นแท่นประเทศที่มี Startup Unicorn มากสุดในเอเซีย




Main Idea
 
  • ผลสำรวจของ CB Insights ระบุว่าเอเชียเป็นทวีปที่มียูนิคอร์นเกิดใหม่รวม 171 บริษัท
 
  • สำหรับ 10 อันดับยูนิคอร์นที่มีมูลค่ามากสุดในเอเชียมาจากบริษัทจีน 6 แห่ง อินเดีย 2 แห่ง มาเลเซียและอินโดนีเซียอย่างละ 1 บริษัท 
 


     เป้าหมายอย่างหนึ่งของบรรดา Startup ทั่วโลกคือ การผลักดันบริษัทให้ไต่สู่ระดับการเป็น Unicorn ที่มีมูลค่าบริษัทมากกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ คำว่า “ยูนิคอร์น” ปรากฎครั้งแรกในบทความของไอลีน ลีน ผู้ก่อตั้งคาวบอย เวนเจอร์ บริษัทลงทุน venture capital ที่ต้องการเปรียบเปรยว่า Startup ที่สามารถสร้างมูลค่าให้ตัวเองได้ถึงพันล้านดอลลาร์ถือว่าไม่ธรรมดา หายากเหมือนม้ายูนิคอร์น
 
 
     ปัจจุบันมี Unicorn กระจายอยู่หลายแห่งทั่วโลก และดำเนินธุรกิจหลากหลายสาขา อาทิ การเงิน การตลาด ด้านบริการ ค้าปลีก และพัฒนาเกม หากจะนับว่าบริษัทที่ถูกจัดให้เป็นยูนิคอร์นรายแรกของโลก ก็คงต้องยกให้อูเบอร์ Startup จากอเมริกาที่มูลค่าบริษัทเคยพุ่งไปอยู่ที่ 51,000 ล้านดอลลาร์ รองลงมาคือเสียวหมี่ Startup ของจีนที่มีมูลค่า 46,000 ล้านดอลลาร์ ตามด้วยแอร์บีเอ็นบีที่รั้งอันดับ 3 ด้วยมูลค่า 25,500 ล้านดอลลาร์
 




     เอเชีย-แปซิฟิกเป็นภูมิภาคที่มีบริษัทเทคโนโลยีอยู่มากมาย ที่น่าจับตามองคือเหล่าบริษัทเทค Startup การหลอมรวมระหว่างนวัตกรรมเทคโนโลยี โอกาสทางการตลาด และวัฒรธรรมดิจิทัลที่มีชีวิตชีวาทำให้เกิด Startup ยูนิคอร์นจำนวนมาก จากการสำรวจของ CB Insights บริษัทวิจัยตลาดในนิวยอร์กซึ่งได้จัดทำ Global Unicorn List ขึ้นมา จนถึงวันที่ 9 ตุลาคมปี 2020
 
 
     เอเชียเป็นทวีปที่มียูนิคอร์นเกิดใหม่รวม 171 บริษัท เทียบกับปีก่อนหน้าที่จำนวนยูนิคอร์นหน้าใหม่มีเพียง 31 รายเท่านั้น ถ้าเป็นทั่วโลก โดยมีจีนครองแชมป์มากสุดที่ 119 ราย และอินเดีย 23 ราย
 
 
     สำหรับ 10 อันดับยูนิคอร์นที่มีมูลค่ามากสุดในเอเชียประกอบด้วยบริษัทจีน 6 แห่ง อินเดีย 2 แห่ง มาเลเซียและอินโดนีเซียอย่างละ 1 บริษัทที่ว่าเรียงจากมูลค่ามากไปยังน้อยประกอบด้วย





     1. Bytedance (Toutiao) สัญชาติจีน มูลค่าบริษัท 140,000 ล้านดอลลาร์ เป็นบริษัทที่พัฒนาแอปพลิเคชั่น TikTok ที่เอื้อให้ผู้ใช้สร้างและแชร์คลิปวิดิโอสั้นจนโด่งดัง และมีผู้ดาวน์โหลดแอปทะลุ 2,000 ล้านบัญชีทั่วโลก


     2. Didi Chuxing สัญชาติจีน มูลค่าบริษัท 62,000 ล้านดอลลาร์ เจ้าของแพลทฟอร์มบริการเรียกรถที่สามารถโค่นอูเบอร์อย่างราบคาบจนอูเบอร์ต้องถอยทัพยอมขายธุรกิจให้ ปัจจุบัน Didi Chuxing ให้บริการให้หลายประเทศเอเชีย รวมถึงออสเตรเลีย และประเทศละตินอเมริกา

     3.  Kuaishou สัญชาติจีน มูลค่าบริษัท 18,000 ล้านดอลลาร์ เป็นอีกหนึ่งStartupที่พัฒนาแอปพลิเคชั่นเพื่อการแชร์คลิปวิดีโอบนมือถือที่มีผู้ใช้งาน 170 ล้านรายต่อเดือน และมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว คาดว่าราวต้นปีหน้า Kuaishou จะจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง

     4. One97 Communications สัญชาติอินเดีย มูลค่าบริษัท 16,000 ล้านดอลลาร์ เป็นStartupที่พัฒนาระบบชำระสินค้าสำหรับอี-คอมเมิร์ซที่ได้รับความนิยมสูงในอินเดีย โดยการทำธุรกรรมเฉลี่ย 400- 450 ล้านครั้งต่อเดือน

     5.  DJI Innovations สัญชาติจีน มูลค่า 15,000 ล้านดอลลาร์ Startupจากเสิ่นเจิ้นผู้ผลิตอากาศยานไร้คขับหรือโดรน (drone) ที่สามารถครองส่วนแบ่งมากถึง 70 เปอร์เซ็นต์ในตลาดโลก ปัจจุบัน DJI ขยายธุรกิจไปยังหลายเมือง อาทิ ปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ ฮ่องกง รวมถึงในสหรัฐฯ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ เยอรมนี และเนเธอร์แลนด์

     6. SHEIN สัญชาติจีน มูลค่าบริษัท 15,000 ล้านดอลลาร์ แพลทฟอร์มช้อปปิ้งออนไลน์ที่จำหน่ายเสื้อผ้า ของใช้ในบ้าน และเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ทำรายได้ 2,830 ล้านดอลลาร์ในปี 2019 และเป็นแอปช้อปปิ้งบน iOS App Store ที่ประสบความสำเร็จสูงในหลายประเทศยุโรป รวมถึงฝรั่งเศส สเปน และอังกฤษ

     7. Grab สัญชาติมาเลเซีย มูลค่าบริษัท 14,300 ล้านดอลลาร์ เริ่มต้นจากการเป็นแอปเรียกแท็กซี่ผ่านมือถือ ก่อนขยายบริการไปยัง food delivery และอื่น ๆ รวมถึงแผนบริการด้านการเงิน เช่น สินเชื่อ การลงทุนขนาดย่อย ประกันสุขภาพ และบริการผ่อนชำระ




     8. Bitmain Technologies สัญชาติจีน มูลค่าบริษัท 12,000 ล้านดอลลาร์ โดดเด่นด้านเทคโนโลยีเซิร์ฟเวอร์ ชิป และคลาวด์โซลูชั่นสำหรับบล็อคเชนและแอปพลิเคชั่นด้าน AI โดยครองส่วนแบ่ง 75 เปอร์เซนต์ในตลาดโลก ปัจจุบันมีศูนย์ R&D ในฮ่องกง สิงคโปร์ และสหรัฐฯ

     9. BYJU’S สัญชาติอินเดีย มูลค่าบริษัท 11,000 ล้านดอลลาร์ ผู้พัฒนาแอปพลิเคชั่นที่ให้บริการอี-เลิร์นนิ่งสำหรับเด็กอนุบาลจนถึงมัธยมปลาย และบริการติวข้อสอบสำหรับผู้ที่จะสอบเข้ามหาวิทยาลัยด้วย มีนักเรียนลงทะเบียนใช้งานไปแล้ว 70 ล้านราย โดย 4.5 ล้านรายเป็นสมาชิกประจำที่จ่ายค่าบริการ ได้รับการจัดอันดับเป็นบริษัท Edtech ที่มีมูลค่าสูงสุดในโลก

     10. Go-jek สัญชาติอินโดนีเซีย มูลค่าบริษัท 10,000 ล้านดอลลาร์ เป็นยูนิคอร์นรายแรกของประเทศ ลักษณะธุรกิจและบริการเช่นเดียวกันกับ Grab และถือเป็นคู่แข่งกันในหลายประเทศ บริษัทใหญ่ที่ลงทุนใน Go-jek ได้แก่กูเกิ้ล และเท็นเซนต์
 

     และหากพูดถึง Startup ยูนิคอร์นเฉพาะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรืออาเซียน บริษัทเหล่านี้ขยายตัวอย่างรวดเร็วจนปัจจุบันมีมูลค่ารวมกัน 34,000 ล้านดอลลาร์ Startup ยูนิคอร์นในอาเซียนที่โดดเด่นมากที่สุด ได้แก่ Grab (มาเลเซีย) ที่คุ้นชื่อกันมากที่สุด Gojek, Traveloka, Tokopedia, Bukalapak, OVO และ JD.id  ซึ่งเป็น 6 Startup ยูนิคอร์นจากอินโดนีเซีย RAZER ผู้พัฒนาเครื่องเล่นเกมจากสิงคโปร์  VNG ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับเกมและเป็น Startup ยูนิคอร์นรายแรกของเวียดนาม และ Revolution Precrafted Startup ด้านอสังหาริมทรัพย์ ยูนิคอร์นรายแรกและรายเดียวของฟิลิปปินส์


     จะเห็นว่าในบรรดายูนิคอร์นอาเซียนที่กล่าวมา โดยมากมีสำนักงานใหญ่ในอินโดนีเซียและสิงคโปร์ และหลายบริษัทดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับอี-คอมเมิร์ซ สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นว่าตลาดอี-คอมเมิร์ซอาซียนมีศักยภาพสูง ความนิยมและแพร่หลายของอี-คอมเมิร์ซจะหนุนให้เกิดการพัฒนาด้านโลจิสติกส์ ระบบการชำระเงินออนไลน์ และเทคโนโลยีด้านการเงินในภูมิภาคนี้ สิงคโปร์อาจมีข้อได้เปรียบจากความสามารถในการพัฒนานวัตกรรม แต่ประเทศที่จำนวนประชากรหนาแน่นอย่างอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนามที่มีประชากรเกิน 100 ล้านคนก็มีโอกาสได้ประโยชน์เช่นกัน

      สภาพแวดล้อมทางธุรกิจของอาเซียนได้เอื้อต่อธุรกิจใหม่ ๆ และ Startup ให้แจ้งเกิด โดยเฉพาะอี-คอมเมิร์ซที่คาดว่าปี 2020 นี้ตลาดจะมีมูลค่าเกิน 25,000 ล้านดอลาร์ นำไปสู่การลงทุน และความพยายามที่จะสร้างแบรนด์ของผู้ประกอบการจำนวนมาก เบนแอนด์คัมปานี บริษัทให้คำปรึกษาด้านการจัดการธุรกิจชั้นนำของโลกชี้ 90 เปอร์เซนต์ของนักลงทุนเชื่อว่าตลาดที่แข็งแกร่งสุดรองจากสิงคโปร์จะเป็นอินโดนีเซีย และเวียดนาม ทั้งนี้ นักลงทุนมากกว่า 60 เปอร์เซนต์คาดการณ์ในอนาคตอันใกล้ ธุรกิจที่มาแรงสุดในการลงทุนคือธุรกิจที่เกี่ยวกับเทคโนโลยี
 
อ้างอิง
https://thelowdown.momentum.asia/how-many-unicorns-are-there-in-southeast-asia%EF%BC%9F/
https://theaseanpost.com/article/asean-unicorns-rise
https://aseanup.com/tech-unicorns-southeast-asia/
www.mime.asia/6-startup-unicorn-indonesia-that-you-should-know/
https://www.asiafundmanagers.com/int/asia-unicorns-a-list-to-watch/
 
 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup