Starting a Business

เจาะแนวคิดการปั้น Startup เกาหลีใต้ให้เป็น Unicorn ผ่านละครและมุมองผอ. NIA




     แม้ว่าซีรีส์เกาหลี “START-UP” จะปิดฉากสุดท้ายกันไปแล้ว แต่กระแสธุรกิจ Startup ในชีวิตจริงก็ยังคงเป็นที่พูดถึงอย่างต่อเนื่อง เพราะนอกจากสร้างแรงบันดาลใจแล้วยังมีเทคนิคดีๆ ที่ Startup ไทยมาปรับใช้ได้ ตั้งแต่บทบาทของตัวละครหลักทั้ง 3 คน ที่ได้ร่วมกันก่อตั้งบริษัท ซัมซานเทค ซึ่งเป็นบริษัทที่ผลิตเทคโนโลยี AI (Artificial Intelligence) ก่อตั้งโดยนัมโดซานและเพื่อนอีก 2 คน ซึ่งทั้ง 3 คนมีความสามารถและถนัดด้านการเขียนโปรแกรม รวมทั้งการพัฒนาระบบ AI เป็นอย่างมาก
 

     แต่สิ่งหนึ่งที่ซัมซานเทคยังขาดคือ กระบวนการคิด และโมเดลธุรกิจที่จะสร้างมูลค่าให้กับนวัตกรรมหรือเทคโนโลยีที่เขามีอยู่ ทำให้ที่ผ่านมาไม่มีนักลงทุนสนใจจะเข้ามาลงทุนกับซัมซานเทคเลยแม้แต่คนเดียวส่งผลให้บริษัทซัมซานเทคไม่สามารถสร้างรายได้จากเทคโนโลยีที่สร้างขึ้นมาได้เลยในช่วงแรก 
 




     กระทั่ง ซอดัลมี ที่ต้องกาการเข้าสู่วงการ Startup เพราะอยากเอาชนะพี่สาวและอยากทำธุรกิจร่วมกับนัมโดซาน เจ้าของบริษัท ซัมซานเทค ดังนั้น ซอดัลมีจึงใช้ความปรารถนาอันแรงกล้าของเธอศึกษาการทำธุรกิจจากหนังสือมากมาย จนสุดท้ายเธอถูกจ้างให้เป็น CEO ของบริษัท ซัมซานเทค โดยบทบาทของ CEO คือการขับเคลื่อนซัมซานเทค รวมทั้งช่วยตัดสินใจ และแก้ปัญหาในเรื่องต่างๆ ที่เกิดขึ้น
 

     ขณะที่ Angel Investor หรือนักลงทุนที่ชื่อ ฮันจีพยอง มองหาธุรกิจ Startup ที่จะสามารถทำกำไรให้กับบริษัทของเขาได้เท่านั้น เพราะเขาเชื่อว่าต่อให้นวัตกรรมดีแค่ไหน แต่ขาดโมเดลธุรกิจที่ดีนวัตกรรมนั้นก็ไม่สามารถสร้างกำไรให้แก่ผู้ลงทุนได้





     สิ่งที่ฮันจีพยองกำลังจะบอกก็คือ การที่จะเริ่มทำธุรกิจ Startup หากคุณมีแค่เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ดีนั้นยังไม่เพียงพอ ต้องอาศัยอีกหลายองค์ประกอบเพื่อนำพาให้ก้าวสู่การเติบโตจนประสบความสำเร็จทั้งทีมงาน จังหวะเวลา รูปแบบธุรกิจ และเงินลงทุน
 

โมเดล Startup ของเกาหลีใต้
               

     ในมุมมองของผู้เชี่ยวชาญ Startup บ้านเราอย่าง ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA กล่าวว่า เกาหลีใต้ใช้ “SandBox” เป็นพื้นที่ถ่ายทอดแนวคิดการทำธุรกิจ Startup และการสนับสนุน Startup ของรัฐบาล เป็นเสมือนศูนย์บ่มเพาะ Startup มีการอบรมสร้างโมเดลธุรกิจ ค้นหา CEO และให้ทุนสำหรับก่อตั้งบริษัท และจ้างพนักงานจนกว่าธุรกิจจะสามารถระดมทุนหรือสร้างรายได้เองได้ รวมทั้งเป็นศูนย์ที่จะสร้างเครือข่ายให้แก่ Startup
 




     เรียกได้ว่าเป็นพื้นที่สำหรับ Startup แบบครบวงจร เพราะนอกจากจะให้คำปรึกษาแล้วยังจะได้พื้นที่สำหรับเป็นออฟฟิศด้วย รวมทั้งได้รวบรวมบริษัทด้านการลงทุนเข้ามาไว้ใน Sandbox ซึ่งแนวคิดดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าเกาหลีใต้ให้ความสำคัญในการผลักดัน อำนวยความสะดวก และสนับสนุนให้ธุรกิจ Startup เข้าถึงแหล่งเงินทุนที่หลากหลายจากภาคธุรกิจเอกชน นอกเหนือไปจากการสนับสนุนจากภาครัฐ เพื่อสร้างโอกาสการเติบโตให้ Startup มากที่สุด เกาหลีใต้สามารถปั้น Startup ระดับยูนิคอร์นได้มากถึง 11 ราย
 

     ผอ. NIA กล่าวต่อไปว่า หากมองกลับมาที่ประเทศไทย ปัจจุบันรัฐบาลให้ความสำคัญในการส่งเสริมและสนับสนุน Startup ค่อนข้างมาก เนื่องจากเป็นกลุ่มนักรบทางเศรษฐกิจใหม่ที่จะช่วยเป็นแรงขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจของประเทศให้เดินหน้าอย่างก้าวกระโดด


     “โดยเฉพาะ Startup ในสายเทคโนโลยี ซึ่งเป็นอีกหนึ่งในภารกิจของ NIA ทั้งนี้ หากเปรียบเทียบกับซีรีส์แล้ว NIA เปรียบเสมือนเป็น “SandBox” ของธุรกิจ Startup ไทย ที่สร้างโอกาสและพื้นที่ให้ Startup ได้เข้ามาแชร์ไอเดีย ทดลองทำนวัตกรรม ให้คำแนะนำในการสร้างโมเดลธุรกิจ รวมทั้ง การสนับสนุนด้านเครือข่าย และเงินทุน” ดร.พันธุ์อาจ กล่าวทิ้งท้าย


www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup