Starting a Business

เคลียร์ทุกคำถาม กับชีวิตพิมรี่พาย จากเจ้าแม่ออนไลน์สู่นางฟ้าในชุมชน

Text: รัชนี พันธ์รุ่งจิตติ Photo: กิจจา อภิชนรจเรข





     นาทีนี้ความแรงของข่าวโควิดก็ไม่อาจปิดกระแส แม่ค้าออนไลน์แห่งยุคที่ชื่อ พิมรี่พาย-พิมรดาภรณ์​ เบญจวัฒนะพัชร์ ร้อนแรงชนิดขึ้นอันดับหนึ่งเทรนด์ทวิตเตอร์เมื่อวันเด็กแห่งชาติที่ผ่านมา ทำให้เกิดกระแสดราม่ากับการได้ช่วยเหลือเด็กบนดอย อย่างไรก็ตามความมีน้ำใจของเธอไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นครั้งแรก กอนหน้านี้เธอก็เคยทั้งแจกจักรยาน ช่วยเหมาซื้อของ ฯลฯ ระยะหลังเห็นเธอแสดงน้ำใจชัดขึ้นจนแทบจะเป็นนางฟ้าสำหรับผู้ยากไร้ 


     แต่กว่าจะมีเหลือแจกแบกชีวิตผ่านมาถึงปี 2021 หญิงสาวคนนี้ต้องผ่านชีวิตมาทุกรูปแบบ ทั้ง สุข เศร้า เคล้า น้ำตา ดราม่าไม่แพ้ละคร แต่หญิงสาววัย 30 คนนี้มีวิธีจัดการทุกฉากทุกซีนที่เกิดขึ้นกับเธอได้อย่างน่าทึ่ง ทั้งเรื่องส่วนตัวหรือวิธีทำมาค้าขายหลายคนอาจยังไม่รู้ว่ากว่าจะ live ขายของแต่ละครั้งเธอต้องท่องจำสินค้าเป็นวันๆ ถ้าไม่รู้จริงสินค้าไม่ดีก็ไม่ขาย


     ลีลาและความสามารถของเธอทำให้ได้รับเชิญไปบรรยายให้กับนักศึกษาปริญญาเอกประจักษ์มาแล้ว และอีกหลายๆ เรื่องที่เธอเลือกมาเปิดเผยทุกซอกชีวิตผ่านนิตยสาร SME Startup เป็นเล่มแรก ไปทำความรู้จักเธอพร้อมๆ กัน



 
 
     จากศูนย์สู่เงินล้าน

     ถ้าจะบอกว่าชีวิตของเธอเกิดมาเพื่อเป็นแม่ค้าขายของก็ไม่ผิดนัก ตั้งแต่ ป.2 ด.ญ. พิมรี่พายก็ต้องสวมบทแม่ค้า ช่วยนำกับข้าวไปขายหลังจากเลิกเรียนแล้ว หรือวันดีคืนดีพ่อก็ใส่ถุงให้ไปขายที่โรงเรียน ของก็ต้องขายหนังสือก็ต้องเรียน แต่ผลการเรียนยังทำได้ดีจนสามารถสอบเข้าเรียนต่อสาขาออกแบบตามคำแนะนำของเพื่อนที่บอกว่าเรียนจบคณะนี้แล้วจบมาทำงานจะได้เงินเดือน 5 หมื่นบาท


     แต่ความหวังที่จะได้เงินเดือนครึ่งแสนก็ต้องสลายไป เมื่อรอพ่อโอนเงินมาให้ 500 บาท แต่ก็ยังไม่ได้รับ จนสุดท้ายจึงสะกิดเพื่อนเก็บของในห้องไปปูเสื่อขายที่ตลาดนัด


     “ได้มา 500 บาทชวนเพื่อนกินเหล้าหมดเกลี้ยงเลย (หัวเราะ) แล้ววันรุ่งขึ้นเหลืออะไรก็เก็บไปขายอีก ขายได้เรื่อยๆ จนของหมดห้อง เริ่มมองดูว่าคนอื่นทำอะไร เห็นเขาเพนต์เล็บก็ทำ ได้ยินแม่ค้าพูดกันว่าขายเสื้อผ้าไม่ดีเลยวันนี้ได้แค่ 3 หมื่นบาท ก็หันไปถามเพื่อนได้ยินมั้ย!! แต่เพื่อนไม่เอาแล้วเขากลับไปเรียน แต่พิมไม่สนใจเดินหน้าขายต่อ เพราะคิดว่าขายของวันนี้ได้เงินวันนี้ ก็ไม่เห็นต้องเรียนเลย”





     จากนั้นเธอก็ขายของมาเรื่อยๆ จนเปิดร้านที่ประตูน้ำ กระทั่งเจอเหตุการณ์น้ำท่วมปี 2554 เริ่มขายไม่ดี ก็ดิ้นรนไปหาของจากเมืองจีนมาขาย เดินดูก็เจอแต่ของแพงๆ จึงใช้วิธีเจรจากับคนขายตรงๆ ว่าต้นทุนของ ค่าแรง ราคาประมาณนี้ จนได้ของมาขาย สามารถขายได้หมดภายในวันเดียว
               

     “ตอนนั้นอายุ 21 ปีนอนเอาเงินมาโปรยบนเตียง มันเกินฝัน ทุกอย่างเกิดขึ้นเร็วมาก มีเงินล้านได้ไง แต่ทำได้ไม่นานก็เจ๊ง เพราะยังมีหลายเรื่องที่ตอนนั้นยังไม่รู้ หนึ่ง เรื่องการสต็อกของ สอง ไม่มี Mind set ระบบความคิดทางธุรกิจคือ ต้องคิดว่าได้เงินมาแล้วควรจะแบ่งเป็นทุนเท่าไหร่ เก็บใช้ยามฉุกเฉินเท่าไหร่ ได้เงินมาก็ใช้ไป สุดท้ายกลายเป็นหนี้”
               

     “อย่างที่บอกว่าเรามาจากไม่มีอะไร วันหนึ่งจะกลับไม่มีอะไรก็แค่สู้ โชคดีตอนนั้นมีรถคนหนึ่ง ยังได้ขนของไปขายตามตลาดนัด มีวันหนึ่งไปได้ที่ขายของที่ตลาดนัดเลียบด่วน ขายเสื้อผ้าเก่า ไม่น่าเชื่อขายได้เป็นหมื่น สมองก็คิดว่าเราจะปักหลักที่นี่แต่ต้องหาของขายให้ได้ ก็ไปหาของมาขายเพิ่ม เครื่องสำอาง เคสโทรศัพท์ อะไรขายดีก็เปิดขาย แล้วจ้างเด็กมาขาย จนประมาณปีครึ่ง เปิดทั้งหมด 16 ล็อก ขายจนพวกเกลียด ขายจนเขาพูดกันว่าหนูเป็นเมียเจ้าของตลาดหรือเปล่า” 
 




     จากแม่ค้าตลาดนัดสู่แม่ค้าออนไลน์

     ถึงจะขายของมากมายรายได้เพิ่ม แต่ก็ต้องหมุนเงินตลอดเวลา สายตาของคนช่างคิดพอได้เห็นแม่ค้าบางคน Live ขายของถ้ามัวแต่มองก็ไม่เกิดอะไร ว่าแล้วเธอก็เริ่มทำบ้าง ในตอนแรกมีแต่กลุมเพื่อนที่เข้ามาดู แต่ก็ยังขายได้ 3 พันบาท สมองแม่ค้าของเธอเริ่มคำนวณตัวเลขในใจต่อไปว่าวันหนึ่งขายได้ 3 พันบาท ถ้าเดือนหนึ่งต้องมีรายได้ 9 หมื่นบาท จากนั้นโลกออนไลน์ก็ได้ต้อนรับแม่ค้าที่ชื่อพิมรี่พายเข้าสู่วงการ
 

     “ส่วนเวลา Live ที่ด่าเยอะๆ มันเกิดจากตอนเริ่มขายเครื่องสำอาง แต่งหน้าโชว์ลูกค้าแล้วเน็ตตัดๆ รอบแรกก็ไม่เป็นไรไปแต่งใหม่ พอเน็ตตัดรอบ 3 ด่าเลยประมาณ 20 นาที ด่าเพราะเราแสบหน้าหมดแล้ว ปรากฏว่ายอดคนดูจากร้อยกว่าคนขึ้นมาเป็น 2 พันกว่าคน โอเครอบหน้าต้องด่า ไม่ใช่ว่าจะอยากด่าลูกค้าจริงๆ แต่เป็นการด่าเล่น ด่าหยอก”
 
 
     เบื้องหน้าเฮฮา แต่เบื้องหลังทำการบ้านหนักมาก

     ด้วยคาแรกเตอร์แรงๆ แซงหน้าแม่ค้าออนไลน์คนอื่นๆ ทำให้การ live แต่ละครั้งมีคนดูไม่ต่ำกว่า 4 หมื่น เปรียบเสมือนการถ่ายทอดสดในราชมังคลากีฬาสถาน ด้วยตัวเลขคนดูที่เยอะขนาดนี้ จึงรวมคนดูไว้ทุกแนวไม่อาจแยกได้ว่าใครเข้ามาชม ใครเข้ามาป่วน ฉะนั้นต้องมีสติ ถ้าพลาดคุมสติไม่ได้มีสิทธิตุ้บเกิดดราม่าได้ตลอดเวลา ไม่ใช่แค่ตั้งสติเท่านั้นทุกครั้งก่อนที่จะ Live พิมรี่พายทำการบ้านหนักมาก ทั้งอ่านและดูทำความเข้าใจสินค้า เช่น ถ้าจะขายน้ำหอม 1 กลิ่น เธอต้องใช้เวลา 1 วัน เพื่อเรียนรู้ว่าน้ำหอมกลิ่นนี้ทำจากอะไร กลิ่นเป็นยังไง

     “ทุกอย่างต้องวางแผน ไฟ กล้อง เสียง ควรจะพูดยังไงระหว่างรอคนเข้ามาดู หรือแม้แต่เทคนิคการขาย สิ่งเหล่านี้พิมเรียนรู้เอง อะไรที่ทำแล้วขายได้ก็ทำต่อ อะไรที่ทำแล้วขายไม่ได้ก็อย่าทำ บางเรื่องลูกค้าจะสอนเรา เช่น ยี่ห้อนี้ใช้ไม่ดี จำแล้วไม่เอามาขายอีก”

     หรือแม้แต่รายละเอียดยิบย่อย แค่ลูกค้าเมนต์ว่าไม่ชอบเลยที่พิมพ์ ‘ร’-‘ล’ ผิด เธอจะเรียกแอดมินมาคุยตักเตือน เพราะเพียงแค่หนึ่งคอมเมนต์กระจายให้คนเห็นเป็นล้านคนได้

     “ปัญหามีทุกวัน ลูกค้าทำรายการ กดลิงก์ไม่ถูก หรือเข้าไปแล้วไม่ได้กดบันทึกสลิป แต่เรื่องเหล่านี้ไม่เคยโทษลูกค้าเลย โทษตัวเองที่ไม่ได้ซัพพอร์ตลูกค้าให้ดี นี่คือปัญหาฉะนั้นต้องแก้ไม่ให้มีปัญหา”
                 




     ต่อยอดสู่ PIMRY Fiber สร้างแบรนด์เพื่อเป็น Me Only

     จากที่เธอเป็นคนชอบอ่านหนังสือ ทำให้เธอได้ข้อคิดในการทำธุรกิจออกมา 3 ข้อคือ  1. Me too เขามีเราก็ต้องมี อย่างเช่นตอนที่ขายของ 16 ล็อก มาจากเขาขายอะไรพิมก็ขายด้วย 2. Me Better เขามีเรามีดีกว่า ถ้าเขามีเราต้องมีให้ลูกค้ามากกว่า และ 3. Me Only คือ เรามีคนเดียว จึงออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ PIMRY Fiber เป็นหนทางที่จะสร้างความยั่งยืนในการทำธุรกิจ


     “ถามว่าทำไมต้องเป็น PIMRY Fiber บอกเลยอันนี้มาจากปัญหาของตัวเอง คือที่ผ่านมาต้องรีวิวโน้นนี่นั่น จำเป็นต้องกินเยอะ จึงต้องมีตัวช่วย แล้วอย่างที่บอกอะไรที่ไม่ดีพิมไม่ทำและไม่ขาย ที่เราขึ้นป้ายโฆษณา PIMRY Fiber บนทางด่วน พิมจ่ายเดือนละ 6 แสนบาทต่อป้าย เพราะต้องการปลดพันธนาการตัวเองออกมาจากการเป็นแม่ค้า เราต้องการสร้างภาพลักษณ์แบรนด์ แบรนด์คือเรา ทำยังไงให้ไปอยู่ในสถานที่ที่ไม่ใช่ตลาดล่าง อ๋อ! อีนี่ Live สดที่ด่าไง ไม่ใช่ ฉันอยู่ข้างบนทางด่วนแล้วนะ (หัวเราะ)”
               
 
     ซีอีโอแบบฉบับพิมรี่พาย ทำอย่างไรได้ใจลูกน้อง

     
     "พิมเห็นคุณค่าทีมงานทุกคน มีน้องฝ่ายการตลาดคนหนึ่งต้องเอาที่ดินไปจำนองเราก็ช่วยเขาซื้อ เพราะเขาจะได้สบายใจ จะได้ทำงานออกมาดีๆ ไม่อย่างนั้นจะนั่งคิดแต่ปัญหาที่บ้าน กว่าเด็กจะเข้ากับองค์กรได้ กว่าจะอยู่ได้อย่างสบายใจ มันต้องใช้เวลา เราอยู่เคียงข้างลูกน้องเดินไปด้วยกัน ลูกน้องก็กล้าบอกปัญหาทุกอย่าง กินข้าวกับลูกน้อง กินอะไรกันอ่ะ ขอกินคำสิ ลูกน้องก็ใจฟูแล้ว กลายเป็นว่าเจ้สั่งอะไรออกมา เขาก็ทำด้วยแรงศรัทธา ถ้าเขาไม่อยู่กับเราก็เสียเวลาไปหาเด็กอีกแล้วไม่ก่อให้เกิดมูลค่าให้บริษัท” 


     คืนสู่สังคมอีกหนึ่งบทบาทของพิมรี่พายของทุกอย่าง

     “พิมพูดตลอดคือ ขอบคุณลูกค้า ไม่มีลูกค้าไม่มีเงิน แค่แบ่งส่วนหนึ่งคืน แล้วเวลาพิมออกไปช่วยไม่ใช่แค่แพ็กของไปให้ แต่จะถามเลยองค์กรนี้ต้องการเท่าไหร่ 3 แสนบาท เอาไปเลย 3 แสนบาท องค์กรไหนต้องการ 5 แสนบาท เอาไปเลย 5 แสนบาท ตอนนี้อะไรที่พอทำได้พิมพยายามทำอยู่ ถึงเราจะไม่สามารถเปลี่ยนอะไรได้ แต่อย่างน้อยสิ่งที่เราทำก็ช่วยลดความเดือดร้อนให้เขา”


www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup