Starting a Business

ไม่รู้จักฉันไม่รู้จักเธอ มิติทำงานแบบใหม่ จากคน 2 ซีกโลกร่วมผลิตสบู่ขนแกะหารายได้ยุคโควิด

Text :  Marisa S. Photo : Pae.yodsurang




     เมื่อเข้าสู่ช่วงวิกฤตครั้งใหญ่สำหรับบางคน อาจกลายเป็นโอกาสที่ดีที่จะได้เริ่มต้นทำธุรกิจของตัวเอง  ซึ่ง แจน-ณฐภัทร อุรุพงศา เจ้าของแบรนด์ Safety Felt สบู่แฮนด์เมดหุ้มด้วยขนแกะที่ร่วมกันทำกับเพื่อนต่างประเทศที่ไม่เคยแม้แต่จะพบปะเห็นหน้ากันตรงๆ เลยสักครั้งเดียว เป็นหนึ่งในคนเหล่านั้น เพราะหลังจากที่ต้องล็อกดาวน์อยู่บ้านจึงทำให้เธอมีเวลาว่างมากพอในการคิดและค้นหาข้อมูลต่างๆ 






     แม้ Safety Felt จะขึ้นชื่อว่าเป็นสบู่แฮนด์เมด แต่ก็แตกต่างจากสบู่ทั่วไปแฮนด์เมดตรงที่เป็น Felted Soap สบู่และใยขัดธรรมชาติแบบทูอินวัน ด้านในนั้นคือสบู่ที่ทำจากส่วนผสมธรรมชาติ 100 เปอร์เซ็นต์ แต่ห่อหุ้มและตกแต่งด้วยเส้นใย Felt จากขนแกะ จึงทำให้มีความแปลกตาไม่เหมือนใคร ซึ่งตัว Felt เองมีสารแอนตี้แบคทีเรียอยู่ในตัว หลังจากใช้ขัดตัวทิ้งไว้ในห้องน้ำแล้วจะไม่มีเชื้อรา และเมื่อใช้งานจนสบู่หมดใยด้านนอกก็จะย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติ นอกจากจะเป็น Felted Soap แล้ว ณฐภัทรยังสร้างความแตกต่างด้วยการใส่ความครีเอทิฟลงไปทำให้สบู่ขนแกะนี้มีรูปร่างและสีสันสะดุดตา





     “อยากให้ประเทศไทยมีสบู่ที่น่ารักแบบนี้ เลยเริ่มศึกษาว่ามันทำยังไง ได้ลองคุยกับคนทำงานคราฟต์บนแอปฯ Etsy ที่เป็นแหล่งรวมคนทำงานคราฟต์ของโลก คุยไปหลายคนที่เขาทำ Felted Soap แล้วก็ดันไปเจอคนคนหนึ่งที่คุยแล้วรู้สึกถูกคอกัน เขาเป็นคนจากประเทศลิทัวเนีย ถามเขาว่า เราอยากทำประมาณนี้ สนใจมาทำด้วยกันไหม? พอตกลงกันได้ ก็เริ่มทำเลย Felted Soap ของคนอื่นมักจะไม่มีลายตัวการ์ตูนหรือลายอะไร จะเป็นแค่รูปทรงทั่วไปและเน้นสีสันสดใส ส่วนเราทำให้แตกต่างออกไปด้วยการทำลวดลาย เช่น ดอกไม้ นางเงือกและสัตว์ อย่างเซตล่าสุดออกแบบมาให้เป็นตัวรูปร่างของสัตว์น้อยน่ารักเลย”


     การจับมือทำงานร่วมกับคนแปลกหน้าอาจฟังดูเป็นเรื่องที่ทำให้ตัดสินใจได้ยาก ยิ่งคนที่อยู่คนละประเทศด้วยแล้ว แต่ณฐภัทรไม่ลังเลที่จะร่วมมือกับอีกฝ่ายเลย เธอบอกว่า “การร่วมงานกับคนต่างประเทศ สิ่งสำคัญคือการเคารพกัน การเชื่อใจซึ่งกันและกัน คนที่ทำงานคราฟต์เขาใช้เวลาเยอะ และเราก็ไม่ได้จ่ายเงินก่อน แต่มันเป็นการใช้เวลาทั้งหมดไปด้วยกัน ความเสี่ยงของงานนี้ค่อนข้างน้อย เพราะว่าต้นทุนไม่ได้สูงมาก ไม่ได้ผลิตสินค้าที่มันมีขนาดใหญ่ มันเป็นความเสี่ยงที่เรารับได้ เราทั้งคู่เหมือนกับต่างคนต่างชอบในสิ่งที่ทำเหมือนกัน เหมือนกับการเจอใครคนหนึ่งที่ถูกชะตา และนั่นทำให้เราเริ่มเชื่อใจกัน”




     อีกหนึ่งเหตุผลที่ทำให้ร่วมมือกับคนต่างประเทศเพราะใยขนสัตว์ ถ้าจะผลิตจากไทยมีต้นทุนที่ค่อนข้างสูง ต้องนำเข้าแล้วก็ทำเอง เมื่อเทียบกับฐานผลิตจากต่างประเทศที่ของพวกนี้หาง่ายอยู่แล้วทำให้ลดต้นทุนผลิตลงได้เยอะ การทำ Felted Soap ใช้เวลาทำต่อก้อนนานพอสมควร เริ่มจากเอาสบู่กับตัวขนแกะมาถูให้มันหุ้มและรอให้แห้ง ด้วยวิธีการ Wet Felting เป็นวิธีการทำแบบสมัยก่อน พอแห้งจึงค่อยเอามาปักลายด้วยตัว Felt เช่นเดียวกัน ใช้เวลาทำประมาณ 3-4 วัน แต่อาจจะนานกว่านั้นเพราะใช้สบู่แฮนด์เมดต้องรอให้สบู่แข็งตัว 2-3 สัปดาห์


     แน่นอนว่าตัวณฐภัทรเองไม่สามารถที่จะประดิษฐ์สิ่งนี้ขึ้นมาได้ด้วยตัวเอง แต่เธอมีภาพอยู่ในหัวที่พอจะถ่ายทอดออกมา หน้าที่ของเธอเลยกลายเป็นคนออกแบบลายบนเส้นใยและการตลาด ส่วนฝั่งพาร์ตเนอร์ชาวลิทัวเนียจะเป็นผู้ประดิษฐ์สินค้าอย่างเดียว เธอพูดคุยกับพาร์ตเนอร์ด้วยการคุยโทรศัพท์เป็นหลัก วิดีโอคอลบ้างบางครั้งแล้วก็ส่งข้อความ โดยหลังจากที่พาร์ตเนอร์ทำเสร็จก็จะส่งรูปมาให้ตรวจเช็กให้เรียบร้อยก่อนจะจัดส่งมาที่ไทย ซึ่งล็อตหนึ่งทำได้ 15 ชิ้น เดือนหนึ่งเลยได้ 30 ชิ้น ข้อดีของการขายของชิ้นนี้คือเป็นสินค้าชิ้นเล็ก น้ำหนักค่อนข้างเบา ค่าส่งจากที่ลิทัวเนียจึงไม่ได้สูง
มากนัก   





     “ธุรกิจขนาดเล็ก ถ้ามีต้นทุนพอสมควร ไม่ได้ลำบากอะไรที่ทุนนี้มันจะหายไป มองว่าให้เริ่มลงมือทำเลยถ้าไม่ได้เดือดร้อนอะไร หลายคนกลัวว่าจะไม่ประสบความสำเร็จกลัวความเสี่ยงมากมาย ทั้งที่จริงๆ แล้วการไม่ประสบความสำเร็จเป็นหนึ่งในขั้นตอนของความสำเร็จอย่างหนึ่ง มันคือโอกาสในการสร้างสิ่งใหม่ๆ ถึงจะไม่ใช่สิ่งใหม่สำหรับมนุษยชาติแต่เป็นสิ่งใหม่สำหรับตัวเราเอง” ณฐภัทรได้กล่าวปิดท้ายสำหรับคำแนะนำในการเริ่มต้นทำธุรกิจ


IG : safetyfelt


www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup