Starting a Business

5 บทเรียนมนุษย์ออฟฟิศ ทิ้งงานประจำมาทำร้านอาหาร สร้างงานสร้างเงินรวยดัวยลำแข้งตัวเอง

Text : vim viva




     อาหาร นอกจากเป็นปัจจัยสี่ที่จำเป็นสำหรับมนุษย์แล้วยังมีบทบาทสำคัญในวัฒนธรรมของแต่ละท้องถิ่น แม้แต่เกาะเล็ก ๆ อย่างสิงคโปร์ก็มีอาหารให้เลือกมากมายจนได้ชื่อว่าเป็นสวรรค์แห่งการกิน ตั้งแต่ในศูนย์อาหารไปจนถึงร้านคาเฟ่ และร้านอาหารดาวมิชลิน
 

     ถึงแม้การทำงานหรือดำเนินธุรกิจในอุตสาหกรรมอาหารจะเป็นงานที่หนักและต้องทุ่มเท แต่คนจำนวนมากก็ยังอยากเข้ามาชิมลาง หลายคนยอมละทิ้งงานประจำระดับสูงที่มั่นคงเพื่อมาจับธุรกิจอาหาร บางคนล้มเหลว แต่มีไม่น้อยที่ประสบความสำเร็จสามารถสร้างแบรนด์จนเป็นที่รู้จัก
 

     วันนี้มีตัวอย่าง ผู้ประกอบการสิงคโปร์ที่อยู่ในวัยมิลเลนเนี่ยล 5 รายผู้ตัดสินใจออกจากพื้นที่ปลอดภัยหรือ comfort zone โดยการเปลี่ยนอาชีพซึ่งมีทั้งทนายความ ไฟแนนซ์ ธนาคาร ผู้จัดการ แต่กลับไปได้สวยกับร้านอาหารที่พวกเขาปลุกปั้น ร้านที่ว่าประกอบด้วย
 




     Li Na Fishball Noodle

     ร้านก๋วยเตี๋ยวลูกชิ้นปลาที่ดังเพราะโซเชียลแม้จะเปิดบริการได้ไม่ถึง 2 ปี เจ้าของร้านเป็นสามีภรรยาชื่อจีวัน อนันธาน กับเมย์ ลีน่า กฤษนัน โดยฝ่ายชายนั้นเคยทำงานไฟแนนซ์มาก่อน ส่วนภรรยาอยู่ในสายงานการตลาดดิจิทัล หลังทำงานกินเงินเดือนมา 8 ปี ทั้งคู่ก็ลาออกมาเปิดร้านก๋วยเตี๋ยวลูกชิ้นปลาในศูนย์อาหารเมื่อเดือนกันยายน 2019 อุปสรรคที่เผชิญคือลูกค้าไม่เชื่อใจในรสมือของพวกเขา และตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับความสามารถในการทำอาหาร


     อย่างไรก็ตาม สองเดือนหลังเปิดร้าน เมย์จึงงัดกลยุทธ์การตลาดออกมาใช้ โดยการลงคลิปจีวันปรุงก๋วยเตี๋ยวลูกชิ้นปลาลงในเฟซบุ๊ก และกลายเป็นไวรัลในทันทีอาจเป็นเพราะโดยปกติอาหารประเภทนี้มักผูกขาดโดยคนขายที่มีเชื้อสายจีน แต่จีวันซึ่งมีเชื้อสายอินเดียมาทำอาชีพนี้ จึงเป็นเรื่องที่ดูแปลก และความไม่ปกตินี้เองที่ดึงดูดให้สื่อต่าง ๆ มาสัมภาษณ์ ทำให้ร้านได้รับการประชาสัมพันธ์ และลูกค้าก็หลั่งไหลมาใช้บริการ ทำให้เจ้าของร้านเข้าสู่จุดคุ้มทุนภายในไม่กี่เดือน 
 




     Kopifellas

     ร้านกาแฟของเทอร์รี่ นีโอ บัณฑิตหนุ่มสาขาบริหารธุรกิจจากมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ ผู้เคยทำงานในตำแหน่งเทรดเดอร์ของซิตี้แบงค์ หลังจากที่เป็นมนุษย์เงินเดือนมาสักพัก เขาก็พบว่าโลกของการทำงานในองค์กรนั้นน่าเบื่อ กอปรกับความสนใจในเรื่องของกาแฟและความปรารถนาจะปลุกวิถีชีวิตแบบดั้งเดิมของชาวสิงคโปร์ เทอร์รี่ตัดสินใจลาออกเพื่อมาเริ่มต้นทำร้านกาแฟโบราณ ร้านเล็ก ๆ

     โดยในปี 2017 ร้าน Kopifellas สาขาแรกเปิดบริการที่ Timber+ ศูนย์อาหารอันทันสมัยและประสบความสำเร็จอย่างงดงาม นำไปสู่การขยายอีก 2 สาขาที่ศูนย์อาหารแห่งอื่น เมื่อปลุกปั้นแบรนด์ Kopifellas จนเป็นที่รู้จักและธุรกิจเริ่มอยู่ตัว เทอร์รี่และหุ้นส่วนก็เปิดตัว FellasCube คอฟฟี่ช้อปสไตล์โบราณที่กลางวันให้บริการอาหารและกาแฟ แต่กลางคืนเปลี่ยนเป็นบาร์ทันสมัยเป็นสถานที่กินดื่มแบบชิค ๆ
 




     Hakka Hamcha & Yong Tou Fu

     หกปีกับการทำงานในตำแหน่งผู้จัดการของบริษัทข้ามชาติแห่งหนึ่งในสิงคโปร์เพียงพอแล้วที่จะทำให้มิเชล ยี เวิร์กกิ้งวูแมนวัย 36 ปีหันหลังเดินออกจากงานที่มั่นคงเพื่อไปตามหาความฝันในการดำเนินอาชีพอิสระ อลัน ก็อก สามีของมิเชลผู้เป็นวิศวกรกินเงินเดือนก็ลาออกเช่นกันเพื่อมาร่วมสร้างฝันกับภรรยา ทั้งคู่รวบรวมเงินเก็บและลงทุนเปิดร้านเล็ก ๆ ในศูนย์อาหารไชน่าทาวน์ คอมเพล็กซ์เมื่อปี 2018

     ร้านของพวกเขาบริการอาหารจีนแคะ เมนูเด็ดของร้านคือ Thunder Tea Rice หรือข้าวหน้าผักเสิร์ฟพร้อมซุปใบชา แน่นอนว่า จากที่เคยนั่งเก้าอี้บริหารในบริษัท เมื่อมาจับงานร้านอาหารและต้องทำเองทุกอย่าง แถมยังไม่เคยมีประสบการณ์ในการทำธุรกิจ พวกเขาจึงเผชิญกับความยากลำบากในช่วงแรก แต่ก็ค่อย ๆ เรียนรู้ไปจนเข้าที่เข้าทาง กระทั่งได้รับรางวัล Promising New Hawker Award –ร้านแผงลอยดีเด่นจากสถาบันพัฒนาผู้ประกอบการการค้ายุคใหม่ หรือ NEA (New Economy Academy) ของสิงคโปร์ พร้อม ๆ กับชื่อเสียงที่ตามมาและเป็นที่รู้จักมากขึ้น
 
 

 

     Awfully Chocolate

     หากเอ่ยชื่อนี้ขึ้นมา คนสิงคโปร์จะนึกถึงเค้กช้อคโกแลตพรีเมียมที่หวานมันเข้มข้นด้วยช้อคโกแลตคุณภาพดี ธุรกิจนี้เริ่มต้นเมื่อปี 1998 โดย ลิน ลี อดีตทนายความสาวผู้มีความฝันอยากทำเค้กช้อคโกแลตดี ๆ หลังจากที่เสาะแสวงหาขนมชนิดนี้แล้วไม่เจอแบบที่ถูกปากถูกใจ ลินตัดสินใจลาออกจากงาน จากอาชีพทนายเพื่อมาเปิดร้านเค้ก

     ปัจจุบัน ร้าน Awfully Chocolate ของเธอขยาย 14 สาขาทั่วเกาะสิงคโปร์ ทั้งยังแตกออกไปอีกแบรนด์ คือ Sinpopo ซึ่งจำหน่ายเค้กชนิดอื่น ๆ ที่เป็นเค้กพรีเมียม ทั้งนี้ Awfully Chocolate 14 สาขาในสิงคโปร์เป็นร้านที่ลินเป็นเจ้าของทั้งหมด แต่เมื่อตัดสินใจขยายธุรกิจไปยังต่างประเทศ ลินก็ดำเนินการรูปแบบการขายแฟรนไชส์ ปี 2007 Awfully Chocolate ก็ได้ฤกษ์โกอินเตอร์ไปยังฮ่องกงและจีน  และได้รับการตอบรับดีจนขณะนี้มีบริการในเมืองต่าง ๆ รวมถึง เซี่ยงไฮ้ ปักกิ่ง กวางโจว หังโจว อู่ฮั่น หนานทง และอีกหลายเมือง
 


 

      545 Whampoa Prawn Noodles

     ร้านก๋วยเตี๋ยวกุ้งเจ้าดังของสิงคโปร์ที่เปิดบริการมานานแล้ว และปัจจุบันบริหารโดยรุ่ยฟัง ทายาทรุ่นที่ 3 วัย 33 ปีผู้จบการศึกษาด้านไฟแนนซ์ และทำงานกับบริษัทข้ามชาติมานานหลายปี แต่สุดท้ายก็ลาออกเพื่อมารับช่วงธุรกิจร้านก๋วยเตี๋ยวกุ้งจากบิดา

     รุ่ยฟังเล่าว่าย้อนกลับไปเมื่อทศวรรษ 1950 คุณปู่ของเธอเปิดร้านก๋วยเตี๋ยวกุ้งบนถนน Whampoa นั่นจึงเป็นที่มาของชื่อร้าน แม้ภายหลังจะย้ายเข้ามาขายในศูนย์อาหารแล้วก็ตาม จากยุคคุณปู่ มาถึงยุคคุณพ่อ และยุคปัจจุบันที่รุ่ยฟังเข้ามาดูแล แม้จะไม่ได้บุกเบิกเอง แต่การเข้ามารับช่วงต่อก็ไม่ใช่เรื่องง่าย รุ่ยฟังต้องตื่นตั้งแต่ตี 2 ครึ่งเพื่อมาเตรียมของและเปิดร้านในเวลา 6.30 น. ที่ทำทุกอย่างเองเพื่อให้มั่นใจว่าสูตรลับประจำตระกูลที่ส่งต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่นนั้นจะคงได้มาตรฐานและไม่สร้างความผิดหวังให้ลูกค้านั่นเอง
 

     ผู้ประกอบการทั้ง 5 รายเป็นตัวอย่างให้เห็นว่าการอยู่ในพื้นที่ปลอดภัยกับงานประจำ 9 โมงเช้าถึง 5 โมงเย็นอาจจะไม่ใช่เป็นสิ่งที่ดีที่สุดเสมอไป และการที่พวกเขายอมเสี่ยงออกมาทำธุรกิจเกี่ยวกับอาหารซึ่งเป็นธุรกิจที่มีการแข่งขันสูงก็อาจเป็นก้าวย่างสำคัญที่นำไปสู่ความสำเร็จอย่างคาดไม่ถึง

 
อ้างอิง
https://vulcanpost.com/724338/singaporeans-quit-high-flying-careers-to-run-fb-biz/


www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup