Starting a Business

ส่องวิธีผลิตสินค้าโดนใจทั้งคนซื้อและคนทำ ได้กำไรเป็นความสุขแบบแบรนด์ Kurukynki

Text : วิมาลี วิวัฒนกุลพาณิชย์





     เชื่อว่าในเส้นทางการทำงาน หลายคนไม่ต้องการหยุดแค่การเป็นมนุษย์เงินเดือนและดิ้นรนจะเป็นผู้ประกอบการ บางคนเริ่มต้นโดยการใช้ฝีมือด้านศิลปะรังสรรค์งานออกขายเป็นรายได้เสริม หากโชคดีแบรนด์ที่ปั้นเองไปได้สวยก็ลาออกจากงานมาทำเต็มตัว แต่กระนั้นการแนะนำผลิตภัณฑ์เข้าสู่ตลาดไม่ใช่เรื่องง่าย ที่ยากกว่าคือสินค้านั้นโดนใจผู้บริโภคแค่ไหน หลายคนจึงต้องลองผิดลองถูกจนกว่าจะค้นพบสินค้าที่กลายมาเป็นตัวเด่นและทำเงิน


     วันนี้ Young Money Maker จะพาไปรู้จักกราฟิกดีไซเนอร์ชาวมาเลเซียคนหนึ่งที่เริ่มต้นจากการทำโปสต์การ์ด และเครื่องรางจากดินปั้นขาย แต่ไฉนจึงลงเอยด้วย “ตรายาง” ที่กำลังเป็นที่นิยม เปย์ ยิง โกะห์ (Pey Ying Goh) หรือคิน โกะห์คือกราฟิกดีไซเนอร์คนนั้น เธอเล่าว่าก่อนหน้านั้นทำงานประจำ และมีอาชีพเสริมผลิตสินค้าจำหน่ายภายใต้แบรนด์ Kurukynki ที่เธอปลุกปั้นขึ้นในปี 2557 สินค้าช่วงแรกๆ ประกอบด้วย โปสต์การ์ด กรอบรูป พวงกุญแจ และงานที่ทำจากดินปั้นโดยจำหน่ายทางออนไลน์






     คินชอบวาดรูป เป็นงานอดิเรกที่สร้างความเพลิดเพลินให้กับเธอ กระทั่งวันหนึ่งพบว่ารูปที่วาดไว้มีเยอะมาก เธอจึงเกิดความคิดนำมาทำเป็นตรายาง และแล้ว ปี 2560 เธอก็มีสินค้าเพิ่มขึ้นมาเป็นตรายางทำมือ วางขายร่วมกับสินค้าเดิมที่มีอยู่ ผลปรากฏว่าลูกค้าชื่นชอบ ตรายางขายดีมาก ผลิตออกมาเท่าไรก็ขายหมด เป็นอะไรที่ไม่คาดคิดมาก่อน


     คินเริ่มจับตาดูกระแสตลาดพบว่าความต้องการตรายางลวดลายต่างๆ ในกลุ่มผู้บริโภคเพิ่มมากขึ้นทุกขณะ เธอจึงหันมาโฟกัสที่ตรายางให้เป็นสินค้าหลัก ด้วยเชื่อมั่นในสัญชาตญาณ เธอตัดสินใจลาออกจากงานประจำเพื่อเป็นผู้ประกอบการเต็มตัวท่ามกลางความวิตกกังวลของคนในครอบครัว แต่โชคดีที่คินยังได้รับการสนับสนุนและได้รับกำลังใจจากครอบครัวและเพื่อนรอบกาย





     คินมองว่าเหตุที่ตรายางได้รับความนิยมเนื่องจากยังมีผู้บริโภคกลุ่มหนึ่งที่ชมชอบการเขียนจดหมาย และพิถีพิถันกับการห่อของขวัญหรือพัสดุ รายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ อย่างการเพิ่มตราประทับลวดลายสวยๆ ลงไปทำให้สิ่งของหรือจดหมายนั้นมีความพิเศษ สร้างความประทับใจให้ผู้รับได้


     ตอนที่คินตัดสินใจหันมาผลิตตรายางเป็นเรื่องเป็นราว เธอมีข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนี้น้อยมากเพราะธุรกิจตรายางไม่ใช่ธุรกิจใหญ่ในมาเลเซีย เธอต้องหาข้อมูลเองทุกอย่าง ตั้งแต่ชนิดของไม้ที่ใช้ทำ แหล่งซื้อวัตถุดิบ เช่น ยาง และบรรจุภัณฑ์กระดาษ ต้องใช้เวลาศึกษากว่าจะลงตัว ตรายางแต่ละชิ้นที่ผลิตแม้คินจะไม่ได้ทำเองทั้งหมด แต่เธอก็มีส่วนอย่างมาก ตั้งแต่การออกแบบลวดลาย การขัดผิวไม้ให้เรียบด้วยกระดาษทราย การติดตรายางลงบนด้ามไม้ ไปจนถึงการบรรจุหีบห่อและจัดส่งให้ลูกค้า  





     ตรายางที่คินผลิตออกมามีหลายราคา เริ่มต้นที่ 18 ริงกิต (135 บาท) ไปจนถึง 90 ริงกิตหรือ 600 กว่าบาทก็มี ขึ้นอยู่กับชนิดของตรายาง และการจำหน่ายว่าแยกชิ้นหรือเป็นเซต ส่วนอายุการใช้งานของตรายางก็ขึ้นอยู่กับการดูแลรักษา คินแนะนำว่าให้ใช้กระดาษเปียกทำความสะอาดตรายางทุกครั้งหลังใช้งานเสร็จเพื่อป้องกันไม่ให้หมึกตกค้างอยู่บนยางจะถนอมอายุการใช้งานของตรายาง


     สินค้าตรายางของคินไม่ได้จำหน่ายแค่ในมาเลเซีย แต่ยังขายในประเทศอื่นด้วย โดยเธอเคยจัดส่งให้ลูกค้าในจีน ไต้หวัน ฮ่องกง นิวยอร์ก เนเธอร์แลนด์ เยอรมนี และฟิลิปปินส์มาแล้ว ลูกค้าบางคนก็สั่งตรายางจากเธอไปขายต่อ อย่างไรก็ตาม แม้จะมีลูกค้าจากต่างประเทศบ้างประปรายแต่การขยายการเติบโตในตลาดนอกประเทศนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย แม้คินจะได้ลงทุนสร้างเว็บไซต์ขึ้นมาเพื่อนำเสนอสินค้าภายใต้แบรนด์ Kurukynki ทั้งหมด แต่ต้องเผชิญปัญหาเรื่องความล่าช้าในการจัดส่งจนทำให้ต้องปิดเว็บไซต์ชั่วคราว แล้วหันมาเน้นที่ตลาดในประเทศแทน





     บนเส้นทางของการเป็นเจ้าของกิจการแม้จะเป็นขนาดเล็กก็มีความเสี่ยงไม่แพ้กัน จะอย่างไรแล้ว คินคงต้องฝ่าฟันต่อไป และเธอคาดหวังว่าการใช้ตรายางประทับลงบนจดหมายหรือของขวัญเพื่อส่งมอบแก่กันจะช่วยสร้างความรู้สึกดีๆ แก่ผู้รับ และเธอยังหวังว่า ลูกค้าที่อุดหนุนตรายางจะสัมผัสได้ถึงความตั้งใจของเธอในการรังสรรค์ตรายางออกมาแต่ละชิ้น


     คินกล่าวว่าปัจจุบันเธอมีรายได้เพียงพอจะเลี้ยงตัวเองจากธุรกิจ Kurukynki แต่สิ่งที่มากกว่ากำไรคือการได้ทำในสิ่งที่รักซึ่งเธอมองว่าเป็นสิ่งสำคัญที่สุด การได้รู้ว่ามีลูกค้าจากมุมต่างๆ ของโลกกำลังใช้ตรายางของเธอ นั่นคืออะไรที่คุ้มค่าแล้ว
             
 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup