Starting a Business

รู้จัก Mercari ยูนิคอร์นสตาร์ทอัพรายแรกของญี่ปุ่นที่ล้มทั้ง Yahoo และ Rakuten ทำยอดขายวันละ 300 ล้านบาท

Text: Vim Viva





     เปิดบริการมาเกือบ 10 ปีแล้ว แต่ความนิยมใน “เมอร์คารี” (Mercari) แพลตฟอร์มตลาดสินค้ามือสองหรือ flea market ออนไลน์ของญี่ปุ่นก็ยังคงได้รับความนิยมอย่างสม่ำเสมอ และเป็นที่ชื่นชอบของนักช้อปมากมายโดยเฉพาะคนที่ชอบสินค้ามือสองเนื่องจากเมอร์คารีมีสินค้าให้เลือกมากถึง 1,500 ล้านรายการ และราคาถูกกว่าเมื่อเทียบกับแพลตฟอร์มอื่น ส่งผลให้เงินทุนสนับสนุนไหลเข้า ขึ้นแท่นเป็น Startup ที่มีมูลค่าเกิน 1,000 ล้านดอลลาร์รายแรกของญี่ปุ่น และเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เมื่อปี 2018 ที่ผ่านมา


     ผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของ Startup รายนี้คือชินทาโร่ ยามาดะ อดีตนักศึกษามหาวิทยาลัยวาเซดะ ในปี 2013 ยามาดะได้ชักชวนเพื่อร่วมสถาบันอีก 2 คนได้แก่ ทอมมี่ โทมิชิมะ และเรียว อิชิสึกะพัฒนาแอปพลิเคชันเมอร์คารี ซึ่งเป็นภาษาละตินหมายถึง “ตลาด” ให้เป็นแพลตฟอร์มซื้อขายสินค้ามือสอง ซึ่งหลังเปิดตัวได้เพียง 3 สัปดาห์ก็มีผู้ใช้งานมากกว่า 50,000 รายและมีสินค้าลงขายกว่า 10,000 รายการ   





     เมอร์คารีไม่ใช่ตลาดนัดสินค้ามือสองออนไลน์แห่งแรกของญี่ปุ่น ผู้บุกเบิกตลาดนี้เป็นเจ้าแรกคือ Yahoo! Auctions ซึ่งเปิดตัวตั้งแต่ปี 1999 ตามด้วย Rakuten Auction ที่ยามาดะได้ช่วยพัฒนาแพลตฟอร์มประมูลสินค้าช่วงเป็นนักศึกษาฝึกงานที่บริษัทราคุเท็น แต่การที่เมอร์คารีได้รับความนิยมจนสามารถยึดหัวหาดจากผู้ให้บริการเจ้าเดิมได้เป็นเพราะมีการพัฒนาให้สามารถใช้งานง่ายและมีความปลอดภัยสูง


     นอกจากนั้น การแจ้งเกิดของเมอร์คารีในยุคสมาร์ทโฟนครองเมือง ทำให้ผู้ขายสามารถลงขายสินค้าในเวลาไม่กี่นาที ขณะที่การซื้อขายผ่านแอปก็ง่ายและรวดเร็วขึ้น เมื่อเทียบกับการทำธุรกรรมผ่านคอมพิวเตอร์ เรียกได้ว่าใครมีสมาร์ทโฟนก็สามารถลงขายสินค้าได้ ด้วยวิธีการเช่นนี้จึงก่อให้เกิดวัฒนธรรมการเคลียร์บ้านในญี่ปุ่น จากเดิมที่หลายคนเข้าไม่ถึงช่องทางการขาย หรือไม่กล้าลงสินค้าราคาถูก เมื่อมีแอปที่อำนวยความสะดวก ชาวญี่ปุ่นจำนวนมากรวมถึงผู้สูงวัยก็นำของที่ไม่ต้องการแล้วมาลงขายในเมอร์คารีทำให้มีรายได้เข้ามาแม้ไม่มากมายก็ตาม






     ไม่เพียงเป็นแอปที่ใช้งานง่าย เมอร์คารียังจับจุดถูกเรื่องความกังวลเกี่ยวกับความปลอดภัยในการซื้อขายว่าจะไม่มีการฉ้อโกงเกิดขึ้น ซึ่งประเด็นนี้เป็นสาเหตุที่ทำให้คนญี่ปุ่นไม่ไว้ใจและไม่กล้าใช้แอปตลาดสินค้ามือสอง สิ่งที่เมอร์คารีทำคือการรับประกัน เมื่อลูกค้าสั่งซื้อสินค้าและชำระเงินแล้ว เมอร์คารีจะยังไม่โอนเงินให้คนขายจนกว่าคนซื้อจะได้รับสินค้าและพอใจในสินค้านั้น นอกจากนั้น ลูกค้าที่จับจ่ายผ่านเมอร์คารียังสามารถชำระค่าสินค้าได้หลากหลายช่องทาง และที่สำคัญ ลูกค้าที่ซื้อสินค้าในเมอร์คารีเลือกไม่เปิดเผยตัวตนได้หากต้องการรักษาความเป็นส่วนตัว


     ด้วยฟีเจอร์ต่าง ๆ ที่ออกแบบมาให้ตอบโจทย์ความต้องการของผู้ใช้ทำให้เมอร์คารีเติบโตเร็วมาก เพียงชั่วเวลาแค่ 1 ปีที่ให้บริการ จำนวนผู้ใช้งานก็ขยับเป็นมากกว่า 4.5 ล้านราย และมีสินค้าลงขายวันละนับแสนรายการ ส่วนยอดซื้อขายสินค้ามีมูลค่าเกิน 10 ล้านดอลลาร์หรือ 300 กว่าล้านบามต่อวันเลยทีเดียว





     ความสำเร็จของเมอร์คารีส่งผลให้นักลงทุนแห่ร่วมสนับสนุนทำให้มีเงินทุนต่อยอดขยายธุรกิจไปยังต่างประเทศ โดยปี 2014 เมอร์คารีเปิดตัวในตลาดสหรัฐฯ และในเดือนมีค. 2016 มูลค่าบริษัทก็ทะยานพุ่งเกิน 1,000 ล้านดอลลาร์ กลายเป็นเทคสตาร์ทอัพรายแรกของญี่ปุ่นที่ได้รับสถานะสตาร์ทอัพยูนิคอร์น สร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้ประกอบการรุ่นใหม่ในญี่ปุ่นอย่างมาก หลังจากนั้นอีกปีเดียว เมอร์คารีก็บุกตลาดยุโรปโดยเริ่มที่อังกฤษเป็นประเทศแรก กระทั่งปี 2018 ก็ประสบความสำเร็จในการเข้าตลาดหลักทรัพย์ญี่ปุ่น


     อย่างไรก็ตาม ความสำเร็จทั้งปวงมาพร้อมกับความท้ายทายและบางอย่างนั้นอาจส่งผลต่ออนาคตของบริษัทเลยก็ว่าได้ ข้อเสียอย่างหนึ่งของความสะดวกในการลงขายสินค้าอย่างง่ายดายคือทำให้ขาดการคัดกรองสินค้า นั่นหมายถึงมีสินค้าคุณภาพต่ำ สินค้าผิดกฏหมายเล็ดลอดไปอยู่บนแพลทฟอร์ม อย่างสินค้าหรูแบรนด์เนม หรือของสะสมประเภทเหรียญหรือธนบัตรเก่าที่คนขายนำมาลง คนซื้อต้องรับความเสี่ยงว่าอาจได้สินค้าปลอม นอกจากนั้น ยังมีคนลงขายบริการที่ไม่ควรมี เช่น บริการรับจ้างทำรายงาน หรือการบ้านส่งอาจารย์ เป็นต้น





     ถึงกระนั้น เมอร์คารีก็ยังไปได้ดีในตลาดญี่ปุ่น แต่ในตลาดสหรัฐฯ กลับขาดทุนตลอดมาแม้ว่ายามาดะเคยประกาศว่าเมอร์คารีไม่ได้มาเพื่อแข่งขันกับใครเพราะตั้งใจจะให้เป็นแพลตฟอร์มซื้อขายโดยตรงสินค้ามือสองทุกอย่างระหว่างคนซื้อกับคนขาย แต่ก็ไม่สามารถสู้กับเจ้าถิ่นอย่างอีเบย์ เครกลิสต์ และอเมซอน ส่วนที่อังกฤษ เมอร์คารีไม่ประสบความสำเร็จจนต้องถอนตัวออกมาหลังเข้าไปชิมลางตลาดได้ 2 ปี


     แม้จะสะดุดอยู่บ้าง แต่เมอร์คารีก็ยังเดินหน้าพัฒนาแพลตฟอร์มโดยเพิ่มบริการใหม่ ๆ อาทิ Instant Pay ที่เอื้อให้ผู้ขายได้รับเงินค่าสินค้าเร็วขึ้นในไม่กี่นาที หรือการเพิ่มระบบ Mercari Authenticate เพื่อคัดกรองความแท้ของกระเป๋าแบรนด์เนมที่ลงขายบนแพลตฟอร์ม และฟีเจอร์ Merpay ระบบการชำระเงินออนไลน์ที่พัฒนาโดยเมอร์คารี และมีผู้ใช้งานมากถึง 5 ล้านคน 





     นอกจากนั้น ช่วงก่อนการระบาดของไวรัสโควิด-19 เมอร์คารีได้เปิดหน้าร้านโดยใช้ชื่อ Mercari Station ที่ชินจุกุ และมูซาชิ-โคซูกิเพื่อให้คนขายนำสินค้ามาถ่ายรูปเพื่อลงขายในแพลทฟอร์ม หรือแวะนำสินค้าที่ขายได้มาห่อเพื่อส่งให้ลูกค้าผ่าน Mercari Post ตู้ไปรษณีย์ของเมอร์คารี ที่ Mercari Station ยังเป็นสถานที่ที่พนักงานจะคอยให้ข้อมูลและอธิบายเกี่ยวกับวิธีใช้งานแอปพลิเคชั่นสำหรับคนที่ไม่เคยใช้มาก่อน ซึ่งเมอร์คารีคาดหวังจะทำให้เข้าถึงผู้ใช้รายใหม่ที่ยังไม่เคยใช้เมอร์คารีอีกหลายสิบล้านคน


     ดูเหมือนว่าวิกฤติโควิด-19 จะส่งผลดีต่อเมอร์คารีเนื่องจากได้รับอานิสงค์จากธุรกิจออนไลน์ขยายตัวทำให้ไตรมาสที่ผ่านมา บริษัทสามารถทำกำไรได้ครั้งแรกหลังจากที่เข้าตลาดหลักทรัพย์ ความเคลื่อนไหวล่าสุดของเมอร์คารีคือการเป็นพันธมิตรกับอาลีบาบา กรุ๊ปเพื่อนำสินค้าไปลงขายใน “เถาเป่า” แพลทฟอร์มอี-คอมเมิร์ซขนาดใหญ่ของจีน และ Xianyu แพลตฟอร์มขายสินค้ามือสองชั้นนำที่มีผู้ใช้งานต่อเดือนมากกว่า 90 ล้านราย เป็นการสร้างโอกาสเติบโตทางธุรกิจอันสืบเนื่องจากเทรนด์โละของเก่าเพื่อเก็บบ้านให้เรียบร้อยของคนญี่ปุ่นนั่นเอง
 

ที่มา
https://asia.nikkei.com/Business/Technology/Secondhand-market-Mercari-links-with-Alibaba-to-sell-in-China
http://akihabaranews.com/mercari-japans-first-unicorn/


www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup