Starting a Business

เลิกกับแฟนยังไงให้รวย Kedai Pernah Sayang ร้านที่ขายของจากคนเคยรัก มูฟออนแบบไม่เสียของ

Text: วิมาลี วิวัฒนกุลพาณิชย์





     เมื่อความสัมพันธ์ฉันท์คนรักจบสิ้นลงต้องแยกทางใครทางมัน เชื่อว่าหลายคนไม่อยากเก็บของขวัญหรือสิ่งของที่เคยมอบให้กันตอนน้ำต้มผักยังหวานให้แสลงใจ ส่วนใหญ่จึงลงเอยด้วยการบริจาค หรือโยนทิ้ง แทนที่จะทำเช่นนั้น ไม่ดีกว่าหรือหากจะแปรสิ่งของจากแฟนเก่าให้กลายเป็นเงิน โดยสามารถนำไปฝากขายที่ร้านออนไลน์ซึ่งเป็นร้านจำหน่ายสินค้าจากอดีตแฟนเท่านั้น





     ร้านแบบนี้ที่มาเลเซีย เจ้าของร้านคือ ฮาซิม อัซอามาน วิศวกรหนุ่มวัย 27 ปี เขาเล่าถึงที่มาของโมเดลธุรกิจว่าได้แรงบันดาลใจขณะชมภาพยนตร์อินโดนีเซียเรื่องหนึ่งทางเน็ตฟลิกซ์ เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับเจ้าของโรงรับจำนำที่รับซื้อและขายสิ่งของที่เป็นผลจากความสัมพันธ์อันแตกหัก ฮาซิมเลยได้ไอเดียและคิดว่าโมเดลธุรกิจแบบนี้ควรต้องมีในมาเลเซีย เดือนตุลาคม พ.ศ.2563 เขาเริ่มจากการเปิดบัญชีในอินสตาแกรมเพื่อเปิดเป็นร้านออนไลน์ชื่อ “Kedai Pernah Sayang” หรือร้านของคนเคยรัก





     สินค้าล็อตแรกเป็นสิ่งของที่น้องสาวของฮาซิมได้รับจากอดีตคนรัก มีมากมายหลายชิ้นด้วยกัน รวมถึงกล้องโพลารอยด์ คอมพิวเตอร์แล็บท็อป และแก้วกาแฟ ภายใน 1 สัปดาห์ เขาก็ขายได้ 4 ชิ้น แล้วจู่ๆ ร้านของฮาซิมก็กลายเป็นจุดสนใจเมื่อมีเน็ตไอดอลแชร์ร้านลงในทวิตเตอร์ ทำให้คนติดตามเยอะขึ้น และมีสินค้ามาฝากขายมากขึ้นเช่นกัน ร้าน Kedai Pernah Sayang แตกต่างจากร้านในภาพยนตร์กล่าวคือ ในขณะที่ร้านต้นแบบกว้านซื้อสินค้าจากแฟนเก่าแล้วนำมาขายต่อ แต่ฮาซิมใช้วิธีเปิดหน้าร้านให้ผู้คนมาฝากขายแล้วหักค่าคอมมิสชันเมื่อเจ้าของขายสินค้าได้


     นอกจากลงขายในไอจีซึ่งมีคนติดตามกว่า 23,000 บัญชี ฮาซิมยังเปิดเพจขยายช่องทางไปยังกลุ่มลูกค้าเฟซบุ๊ก ธุรกิจไปได้ดีทีเดียว ถือว่าลงตัวมากสำหรับมนุษย์เงินเดือนอย่างฮาซิม กลางวันทำงานประจำ เลิกงานทำอาชีพเสริม เริ่ม 6 โมงเย็นจนถึงตี 2 คือช่วงเวลาของการขายของและตอบแชตลูกค้า โดยเขาและอาเมล ผู้ช่วยของเขาจะให้รายละเอียดเกี่ยวกับที่มาที่ไปของสินค้าทุกชิ้น หากเข้าไปส่องในไอจี Kedai Pernah Sayang จะเห็นว่าสินค้าส่วนใหญ่เป็นของที่คนรักมักซื้อให้แก่กัน เช่น รองเท้า กระเป๋า นาฬิกา เครื่องประดับ น้ำหอม ทั้งนี้  72 เปอร์เซ็นต์ของลูกค้าเป็นผู้หญิงอายุระหว่าง 20-30 ปี





     ทุกครั้งที่ลงขายสินค้า ฮาซิมมักจะทำป้ายคาดแล้วลงข้อความที่เจ้าของอยากให้ลง หรือเหตุผลที่เลิกกัน เช่น “ขอบคุณที่นอกใจ” หรือ “ทำตัวราวกับพ่อ” เป็นต้น แม้ร้าน Kedai Pernah Sayang จะขายสินค้าเกือบทุกอย่างจากแฟนเก่า แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่ขายคือชุดชั้นในสตรีด้วยเหตุผลเรื่องสุขอนามัย


     ฮาซิมเผยว่าเมื่อลูกค้านำสินค้ามาลงขาย เขามักแนะนำให้ตั้งราคาไม่แพงเพื่อจะได้ขายออกง่ายๆ เพราะอย่างไรแล้วก็เป็นของที่ไม่ต้องการอยู่แล้ว ดีกว่าทิ้งเป็นขยะ นอกจากนั้น วิกฤตโควิด-19 ซึ่งกระทบต่อสภาวะเศรษฐกิจ การตั้งราคาแพงอาจทำให้สินค้าขายยาก ยกตัวอย่าง ซองใส่นามบัตรแบรนด์อีฟ แซงต์ โรลองต์ที่ราคาเต็ม 1,100 ริงกิต พอตั้งราคาที่ 150 ริงกิตก็มีคนซื้อทันที


      การเปิดร้านออนไลน์ และเป็นคนกลางในการขายสินค้าทำให้ฮาซิม และอาเมลต้องตรวจสอบสินค้าโดยพิจารณาจากภาพถ่ายที่ลูกค้าส่งมาให้ หากมาตรฐานผ่านจึงจะลงขายให้ เมื่อสินค้ามีคนซื้อ และโอนค่าสินค้าให้ฮาซิม เขาจะรอจนกว่าลูกค้าได้รับสินค้าเรียบร้อยก่อนจึงโอนเงินให้เจ้าของสินค้าโดยไม่ลืมหักค่าคอมมิสชัน แต่ถ้าผู้ซื้อไม่พอใจสินค้า ฮาซิมจะคืนเงินให้ลูกค้า และคืนสินค้าให้ผู้ขาย





     สิ่งที่ท้าทายในการทำธุรกิจนี้คือ การไม่สามารถแยกแยะว่าสินค้าไหนเป็นของที่แฟนเก่าซื้อให้ หรือเป็นของที่ซื้อเองแต่ต้องการกำจัด ดังนั้น จึงต้องใช้สัญชาตญาณในการคัดเลือก “บางครั้งลูกค้าที่ส่งภาพมาให้พิจารณาจะไม่พอใจที่เราไม่ลงขายสินค้าให้ ส่วนใหญ่เป็นเสื้อผ้าซึ่งแยกยากมากว่าซื้อเองหรือแฟนเก่าซื้อให้ บางคนอาจสร้างเรื่องขึ้นมาก็ได้ ซึ่งเราไม่มีทางรู้ เว้นเสียแต่จะเป็นชุดหมั้น ชุดแต่งงาน” ฮาซิมกล่าว


     เจ้าของร้าน Kedai Pernah Sayang เล่าอีกว่า มีเคสที่เขาจำไม่ลืมคือ ชายคนหนึ่งฝากขายชุดแต่งงานผู้ชายหลังงานแต่งถูกยกเลิกกะทันหัน เนื่องจากพ่อแม่ว่าที่เจ้าสาวเปลี่ยนใจนาทีสุดท้ายไม่ยกลูกสาวให้ ชายคนดังกล่าวได้แนบการ์ดเชิญงานสมรสให้ดูเป็นหลักฐานด้วย ในการคัดสินค้าลงขาย ฮาซิมจะต้องพูดคุยถึงความเป็นมากับเจ้าของสินค้า ซึ่งโดยมากจะพรั่งพรูความเจ็บปวดให้เขาได้รับรู้ การเปิดแพลตฟอร์มออนไลน์จึงไม่ใช่เพื่อขายของจากแฟนเก่าอย่างเดียวแต่เป็นการสร้างสังคมที่ให้กำลังใจผู้ที่ผิดหวังจากความรักให้สามารถก้าวผ่านความเจ็บปวดและเดินหน้าต่อไปได้ 


     หลังจากที่ร้าน Kedai Pernah Sayang ได้รับการตอบรับดี ฮาซิมขยายธุรกิจโดยการเพิ่มอีก 3 แพลตฟอร์ม ได้แก่ Pasar Pernah Sayang ที่จำหน่ายสินค้าจากแฟนเก่าเหมือนกันแต่เพิ่มรายละเอียดเกี่ยวกับที่มาของสินค้า และเหตุผลที่ขาย Karya Pernah Sayang เป็นตลาดนัดสำหรับศิลปินท้องถิ่นได้นำเสนอสินค้าที่เป็นงานศิลปะฝีมือตัวเอง และ Bauex ที่จำหน่ายสินค้าทั่วไป ล่าสุดฮาซิมกำลังอยู่ระหว่างการดำเนินการเพื่อเปิดคาเฟ่ที่จำหน่ายเครื่องดื่มและสินค้าจากแฟนเก่า ใช้เวลาไม่ถึงครึ่งปีแต่ต่อยอดไปได้ขนาดนี้ ถือว่าธุรกิจโตเร็วไม่ใช่เล่น แต่จะยั่งยืนแค่ไหน คงต้องรอลุ้นกันอีกที
 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup