Starting a Business

โควิดมากี่รอบก็รอด ส่องไอเดียเทรนเนอร์หนุ่ม กู้วิกฤตยิมปิด สู่นักสตรีมเมอร์เพิ่มรายได้ให้ตัวเอง

Text: Neung Cch.





     ไม่มีอาชีพใดที่จะมั่นคงในยุคโควิด แม้จะเคยมีรายได้เข้ากระเป๋าถึงเดือนละ 6 หลัก จากการทำงานถึงสองตำแหน่งควบคู่กันไปทั้งเป็นผู้จัดการฟิตเนสและเทรนเนอร์ แต่ก็ยังได้รับผลกระทบไปเต็มๆ เมื่อโควิดมาเยือน


     ทั้งลูกค้าและรายได้เริ่มหายไป จะมีก็แต่เวลาและความเสี่ยงที่เพิ่มเข้ามา วรฉัตร ทับซ้าย (ปอ) เริ่มมองหาอาชีพใหม่เพื่อให้ตัวเองมีรายได้เข้ามา แทนที่จะปล่อยเวลาที่ว่างอยู่นั้นหมดไปกับการเล่นเกม เขาจึงคิดว่าน่าจะเอาตรงนี้มาทำเป็นอาชีพเสริมได้ เพราะขณะนั้น เกมออกกำลังกาย ริงฟิต แอดเวนเจอร์ (Ring Fit Adventure) เป็นเกมหนึ่งที่ได้รับความนิยมในบ้านเรา เพราะคนเริ่มหาแพสชัน การออกกำลังกายใหม่ๆ ที่ไม่น่าเบื่อ





     “เห็นคนทำสตรีมเมอร์กันมาก เราก็มองว่าเป็นโอกาสขนาดเรายังดูเลย บวกกับเราเองก็ชอบเล่นเกมมาแต่เด็ก ตัดสินใจลงทุนซื้ออุปกรณ์ กล้อง ไมโครโฟน ไฟ และเกม ริงฟิต แอดเวนเจอร์ ประมาณ 8 พันบาท ซึ่งตอนนั้นราคาแพงเพราะของหายากแต่เราก็ดื้อยังซื้อมาอยากจะลองทำ ตอนแรกคิดจะทำยูทูปแต่คนทำเยอะแล้ว หันมาทำสตรีมเมอร์คนยังทำน้อยอยู่”
 

     หลังจากได้อุปกรณ์ครบ สตรีมเมอร์มือใหม่เปิดเพจ ปอวอตีมมิ่ง ด้วยเหตุผลที่ว่าการมองเห็นของเพจกว้างกว่าเฟซบุ๊กส่วนตัว และเฟซบุ๊กเองได้ทำแพลตฟอร์มสำหรับ ครีเอเตอร์เกมมิ่งไว้เพื่อสนับสนุนคนกลุ่มนี้ให้มีรายได้ แต่ผ่านไปเกือบปี สตรีมเมอร์ปอยังไม่มีรายได้เข้ากระเป๋าแม้แต่บาทเดียว


     “ผมเริ่มจากไม่รู้อะไรเลยวันแรกมีคนดู 70 คน วันต่อมาเหลือ 30 คน บางวันก็พุ่งไป 300 กว่าคน มันก็ขึ้นๆ ลงยังจับจุดไม่ได้ แต่ผมก็ยังทำ 8 เดือนแรก ยังไม่ได้เงินสักบาท แต่ก็ไม่ท้อ ลองผิดลองถูกทำไปเรื่อยๆ”
 




     ไม่รู้ก็ต้องถาม


     แม้เวลาผ่านไปเกือบปีปอก็ยังจับจุดไม่ได้แต่เขาก็ไม่ได้ลดละและเพิ่มความพยายามทำทุกวิถีทางทั้งอินบ๊อกซ์ไปถามหลายๆ คนที่ประสบความสำเร็จ ซึ่งก็มีทั้งคนที่คนตอบและไม่ตอบ เพราะเขาเชื่อว่าอย่างน้อยก็สร้างโอกาสให้ตัวเองได้ลอง

     “ตอนนั้นเหมือนหาทางไม่เจอ พยายามลองถามหลายๆ คนที่รู้เขาจะตอบไม่ตอบอีกเรื่องหนึ่ง แต่ถ้าไม่ถามก็เท่ากับปิดโอกาสตัวเอง"
 
 
     แล้วความพยายามไม่ได้ทำให้ปอผิดหวัง กระทั่งวันหนึ่งเขาโชคดีไปเจอนักสตรีมเมอร์มีชื่อเสียงช่วยให้คำแนะนำ เขาเองก็นำคำแนะนำไปคิด ปรับวิธีการให้เป็นของตัวเอง หลังจากนั้นลองอีกรอบ ประจวบเหมาะกับเกิดการล็อกดาวน์รอบที่สอง ปอจึงทุ่มเทเวลาให้กับการสตรีมเมอร์มากขึ้น โดยทำวันๆ ละ 3 ชั่วโมงกราฟก็เริ่มดีขึ้นเรื่อยๆ





     “เหมือนเราสร้างคาแรกเตอร์ให้คนรู้จัก เพราะตอนแรกพยายามทำให้เหมือนคนอื่น ทำให้เหมือนคนที่ประสบความสำเร็จแล้ว หลังๆ เริ่มพลิกแพลงเป็นตัวของตัวเอง จากที่เคยเน้นแต่วิชาการก็หันมาพูดคุยให้สนุกขึ้น ให้ความสำคัญกับคนดูทุกคน มีการเรียกชื่อคนที่เข้ามาดูสร้างความเป็นกันเองเหมือนให้เขามีส่วนร่วมด้วย และพยายามทำประจำ ผลตอบรับดีขึ้นทุกวัน จากคนดูหลักหน่วยค่อยๆ ขยับเป็นหลักพัน เป็นหลักหมื่น กราฟโตขึ้นทุกวัน”
 

     สำเร็จได้ เป้าหมายต้องชัดเจน


     อีกหนึ่งเหตุผลที่ทำให้ปอกลายมาเป็นนักสตรีมเมอร์ได้สำเร็จ นอกจากการกล้าถามแล้ว ต้องบอกว่าหนุ่มคนนี้ยังเป็นคนที่มีเป้าหมายชัดเจนตั้งแต่เด็ก ตอนอายุ 15 ปีที่เขาอยากได้เครื่องเกมแบบพกพา PSP ที่ราคาประมาณ 7-8 พันบาทแต่ก็เป็นราคาที่ค่อนข้างสูงสำหรับครอบครัวของเขา ปอจึงตัดสินใจไปทำงานเป็นเด็กเสิร์ฟในช่วงปิดเทอมจนสามารถเก็บเงินไปซื้อเกมได้ด้วยตัวเอง





     “ผมเริ่มวาง mindset ตั้งแต่ตอนเด็กว่าโตขึ้นมาอายุ 23 จะเป็นผู้จัดการ พอเรียนจบมหาวิทยาลัย ก็ลองค้นหาในกูเกิ้ลว่าทำงานอะไรที่รายได้เยอะซึ่งประมาณ 7 ปีแล้วตอนนั้นคำตอบคือ อาชีพพนักงานขายราย ผมเป็นคนชอบออกกำลังกายจึงไปสมัครงานเป็นพนักงานขายที่ฟิตเนส ขยับเป็นเทรนเนอร์ เป็น supervisor ต่อมาก็ได้เป็นผู้จัดการฟิตเนส ตอนนี้มีฟิตเนสของตัวเองทำร่วมกับหุ้นส่วน”


     “ผมว่าทุกวงการ ทุกสายอาชีพยาก อยู่ที่การเปิดใจเรียนรู้พยายามตั้งเป้าหมายไว้สูงๆ เหมือนผมถ้าเดือนแรกผมเลิกทำมาทำสตรีมเมอร์มันก็จบ วันนี้คงไม่มีปอสตีมมิ่ง”
 

     และในวันนี้ที่โควิดรอบ 3 กลับมาระบาดอีกครั้ง หนุ่มปอก็อาจต้องกลายเป็นคนว่างงานหากเขาไม่เปิดใจเรียนรู้การทำอาชีพใหม่ๆ ไว้


www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup