Starting a Business

วิถีก้าวสู่นายจ้าง ส่องการสร้างตัวจากเงินหลักพันสู่นักธุรกิจป็อปคอร์น มี 9 นักลงทุนอยากเป็นพันธมิตร

Text: Vim Viva




     เมื่อ 3 ปีที่แล้ว แซค ฉั่ว (Zac Chua) เด็กหนุ่มชาวสิงคโปร์คนหนึ่งกำลังเรียนมหาวิทยาลัยในสาขาบริหารธุรกิจได้มีโอกาสฝึกงานที่วาณิชธนกิจแห่งหนึ่ง นั่นทำให้พบว่าเขาคงทำงานเป็นลูกจ้างไม่ได้ เมื่อเรียนจบ เขาก็เริ่มต้นธุรกิจด้วยความบังเอิญ โดยหลังจากที่ไปเดินเที่ยวชมงานอีเวนต์แห่งหนึ่งเพื่อยืนยันความคิดของตัวเองเขาก็เกิดไอเดียว่าทำไมป๊อปคอร์นที่จำหน่ายตามท้องตลาดจึงมีไม่กี่รสชาติให้เลือก ถ้าไม่เค็มก็หวาน มันน่าจะมีได้มากกว่านั้น
 

     ด้วยเหตุนี้ แซคจึงคิดผลิตป๊อปคอร์นที่มีหลากหลายรสชาติให้เลือก โดยซื้อโลโก้สำเร็จรูป จัดทำเว็บไซต์แบบหน้าเดียว พิมพ์นามบัตร และซื้อวัตถุดิบมาทำป๊อปคอร์นเพื่อเป็นสินค้าตัวอย่าง ทั้งหมดทั้งปวงลงทุนไปไม่ถึง 100 ดอลลาร์สิงคโปร์หรือประมาณ 2,300 บาท โดยป๊อปคอร์นที่นำไปแจกให้ชิมในงานอีเวนต์ใช้ชื่อแบรนด์ The Kettle Gourmet มีหลายรส อาทิ รสชานม รสเกลือคาราเมล รสหมูแผ่น รสเหล้าหวานเบย์ลีส์ และรสคุกกี้แอนด์ครีม





     ระหว่างที่แจกตัวอย่างป็อปคอร์น แซคจะเชิญชวนลูกค้าว่าหากถูกปาก สามารถสั่งซื้อแบบพรีออร์เดอร์ทางออนไลน์ได้ ปรากกฏว่าผลตอบรับค่อนข้างดี มีคนพรีออร์เดอร์เข้ามา เขานำเงินจากยอดขายพรีออร์เดอร์นั้นไปซื้อวัตถุดิบเพื่อผลิตส่งให้ลูกค้า ช่วง 6 เดือนแรก กำไรทุกบาททุกสตางค์เขานำไปต่อยอดธุรกิจ จนกระทั่งมั่นใจว่ามีเงินไหลเวียนเพียงพอ จึงขยับไปลงทุนเพิ่ม เช่น เช่าอสังหาริมทรัพย์ ซื้อเครื่องจักร และผลิตสินค้าตุนไว้ในคลัง


     แซคเล่าว่าการแจกสินค้าตัวอย่างในงานอีเวนต์เพียงเพื่อต้องการทดสอบว่าผู้บริโภคชอบรสชาติแบบไหน แต่กลับกลายเป็นว่ามีการบอกต่อเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ โดยเฉพาะป๊อปคอร์นรสหมูแผ่นที่ได้รับความนิยมอย่างมากช่วงเทศกาลตรุษจีน กลายเป็นกระแสที่ทำให้สื่อสนใจและติดต่อขอสัมภาษณ์ จนแซคได้รับฉายา “The Popcorn Guy”


     หลังจากนั้น แซคก็เดินหน้าลุยธุรกิจป๊อปคอร์น โดยติดต่อสถาบันอาหารเทมาเส็กโพลี่ให้ช่วยพัฒนารสชาติใหม่ ๆ และจ้างโรงงานผลิตอาหารของครอบครัวเพื่อนให้ผลิตให้ สิ่งที่สร้างความปลาบปลื้มให้กับแซคคือมีนักลงทุนถึง 9 รายต้องการเป็นพันธมิตร นั่นแสดงว่าธุรกิจของเขาได้รับการยอมรับว่ามีศักยภาพ






     จากธุรกิจเล็ก ๆ ที่ก่อตั้งเมื่อเดือนกรกฎาคม 2017 ปัจจุบัน The Kettle Gourmet ขยายตัวอย่างก้าวกระโดด การเติบโตของรายได้อยู่ที่ 200 เปอร์เซนต์ปีต่อปี จากที่ผลิตในครัวกลางที่สิงคโปร์ก็ไปเปิดโรงงานผลิตในมาเลเซีย และมีการพัฒนาป็อปคอร์นรสชาติใหม่ ๆ ออกมาเอาใจผู้บริโภค เช่น รสนิซิเลอมัก (ข้าวมันสไตล์มลายู) รสขนมปังเนยสังขยา รสไก่หยอง และรสปูผัดพริก ส่วนคนที่ชอบรสคลาสสิก อย่างเกลือคาราเมล และช็อคโกแลต ทาง The Kettle Gourmet ก็มีให้เลือกเช่นกัน


    นอกจากจำหน่ายผ่านเว็บไซต์บริษัทซึ่งเป็นช่องทางดั้งเดิม The Kettle Gourmet ยังเข้าถึงผู้บริโภคด้วยการวางขายตามร้านค้าปลีก และแพลตฟอร์มออนไลน์ อาทิ ช้อปปี้ เรดมาร์ท แกร็บฟู้ด และฟู้ดแพนด้า ล่าสุดได้ขายผ่านบริการดิลิเวอรีของแอร์เอเชียด้วย ไม่เพียงขายปลีก แต่ The Kettle Gourmet ยังเพิ่มโมเดลสมัครสมาชิกเพื่อจัดส่งป๊อปคอร์นให้ลูกค้าอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งโดยมากจะเป็นลูกค้าองค์กรที่สั่งป๊อปคอร์นไปไว้ที่ตู้เสบียงในครัวเพื่อบริการพนักงาน นอกจากนั้น ยังรับจัดชุดกิฟต์เซ็ตตกแต่งสวยงามเพื่อเป็นของฝากของกำนัลอีกด้วย




 


     ช่วงเกิดวิกฤติโควิด-19 และรัฐบาลประกาศล็อคดาวน์ The Kettle Gourmet ได้ปรับกลยุทธ์หันไปจับกลุ่มลูกค้าที่กักตัวอยู่กับบ้าน พร้อมกับทำการตลาดผ่านโซเชียลมีเดียถี่ ๆ ปั้นแคมเปญเพื่อสร้างภาพลักษณ์การเป็นขนมที่ควรมีติดบ้านระหว่าง work from home


     “เนื่องจากทีมทำงานเราเป็นคนหนุ่มสาวอายุเฉลี่ย 22 ปี ทุกคนล้วนเป็นมนุษย์โซเชียล พวกเขาเลยสนุกกับการคิดและทำคอนเทนต์น่าสนใจ” แซคให้สัมภาษณ์และเผยอีกว่าทีมของเขาฉวยจังหวะที่มีการล็อกดาวน์ทำการ “รีแบรนด์” สินค้าใหม่ ทั้งปรับเปลี่ยนแพ็กเกจจิ้งให้ไฉไลกว่าเดิม และสร้าง “snack monsters”  ให้เป็นแมสคอตของผลิตภัณฑ์ ผลลัพธ์ของการรีแบรนด์คือออกมาดีมาก เข้าถึงผู้บริโภคเป็นวงกว้าง และรายได้บริษัทเติบโตถึง 247 เปอร์เซนต์ในช่วงที่เกิดการระบาดของโรค


     แซคเชื่ออย่างแรงกล้าว่าธุรกิจจะรุ่งหรือร่วงอยู่ที่ “การฟังเสียงของลูกค้า” เพราะ 66 เปอร์เซนต์ของลูกค้าคาดหวังว่าแบรนด์ต้องเข้าใจความต้องการของผู้บริโภค และเพราะการรับฟังเสียงสะท้อนของลูกค้านี่เองที่ทำให้ The Kettle Gourmet สามารถแนะนำผลิตภัณฑ์ใหม่ออกมาได้ทันกระแส ทันความต้องการ นอกจากนั้น ยังมองหาพันธมิตรอยู่ตลอดเวลาเพื่อสร้างความตื่นเต้นให้ผู้บริโภค เช่น ขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างทำโปรเจ็คโปเกมอน


     นอกเหนือจากการฟังลูกค้า แซคกล่าวว่าต้องฟังความเห็นของพนักงานด้วย โดยบริษัทจะมีประชุมทุกวันศุกร์เพื่อระดมสมอง เสาะหาไอเดียใหม่ ๆ เพื่อพัฒนาธุรกิจ นี่จึงเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ธุรกิจ The Kettle Gourmet เติบโตเร็วมากในระยะเวลาเพียง 3 ปี แซคตั้งเป้าว่าเขาต้องการปั้น The Kettle Gourmet ให้เป็นกลุ่มบริษัทขนาดใหญ่โดยจะปั้นแบรนด์อาหารเพิ่มอีก 2 แบรนด์ใน 3-5 ปี และวางแผนจะขยายไปยังตลาดต่างประเทศ เช่น จีน ฮ่องกง อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์
 
ที่มา
https://vulcanpost.com/744856/kettle-gourmet-building-popcorn-empire-singapore/


www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup