Starting a Business

เริ่มธุรกิจยังไงให้ต่างและโต ตำรารวดรัดฉบับ Little Red Oven พิซซาแป้งสดเตาถ่าน แค่ 1 ปีมี 45 สาขา

Text: Neung Cch.




     ความไม่แน่นอนคือความแน่นอน แม้จะทำงานประจำมีรายรับเข้าทุกเดือน แต่อะไรเกิดขึ้นได้เสมอบนโลกใบนี้ โดยเฉพาะในสภาวะเช่นปัจจุบันนี้ที่หลายๆ คนต้องกลายเป็นคนเตะฝุ่นเพราะผลกระทบจากโควิด เดี่ยว พยุงศักดิ์ ดำรงสกุล ก็เป็นหนึ่งในหลายๆ คนที่ได้รับผลกระทบนี้เช่นกัน เมื่อสายการบินที่ทำงานประจำอยู่ต้องปิดตัว


     แต่ลางร้ายที่พอจะเดาเหตุการณ์ได้ กอปรกับได้รับคำแนะนำของยอดชาย สุทธิธนกูล อดีต CEO ของสายการบินนกสกู๊ต ให้มองหาทางหนีทีไล่เตรียมหาอาชีพอื่นไว้รองรับ โดยที่อดีตผู้บริหารได้พุ่งเป้าไปที่ตลาดของกินมีพิซซาเมนูโปรดของแต่ละคนใช้เป็นสารตั้งต้นในการเริ่มธุรกิจ เมื่อตกลงปลงใจได้ข้อสรุป จึงเป็นที่มาของแบรนด์ Little Red Oven





     “ส่วนตัวผมเห็นด้วยนะกับการทำธุรกิจเกี่ยวกับของกินเพราะอย่างไรก็ขายได้ เพียงแต่ต้องทำให้ฉีกและแตกต่างจากคนอื่นๆ”
 

     ไม่รู้ก็ต้องเรียนรู้


     เมื่อตกลงใจจะมาเป็นเจ้าของธุรกิจพิซซา แต่ยังขาดความรู้ในสิ่งที่จะทำ พยุงศักดิ์ จึงเริ่มเสาะหาความรู้จากแหล่งต่างๆ จนได้พบกับครูสอนเป็นชาวอิตาเลียนที่มีฝีมือด้านพิซซาเตาถ่านขั้นเทพ และได้เรียนรู้ตั้งแต่เรื่องการเลือกวัตถุดิบไปจนถึงเทคนิคการหมักแป้ง การเลือกอุณหภูมิที่เหมาะสมในการอบพิซซา ฯลฯ


     “แรกๆ ทิ้งแป้งไปเป็นกระสอบ กว่าจะได้ Texture หรือได้อย่างที่ต้องการก็ใช้เวลาในการฝึกฝน”


     เมื่อทั้งความรู้และฝีมือเริ่มพร้อมว่าที่เถ้าแก่ใหม่จึงเปลี่ยนบ้านตัวเองให้เป็นสนามทดสอบโดยมีเพื่อนบ้านเปรียบเสมือนลูกค้า พร้อมเสิร์ฟพิซซาที่มาในคอนเซปต์ แป้งสดอบเตาถ่าน ซึ่งการใช้เตาถ่านนอกจากจะได้ความหอมแล้วพยุงศักดิ์บอกว่ายังช่วยให้พิซซาของเขามีความนุ่มไม่กระด้าง เพราะสามารถอบได้อุณหภูมิสูงถึง 300 องศา





     นอกจากนี้เขายังได้สร้างจุดขายเพิ่มเติมด้วยการทำฟิวชัน นำอาหารไทยมาทำเป็นหน้าพิซซา เช่น หน้าน้ำพริกอ่อง กะเพรา พะแนง ลาบ หรือหน้าปูใช้ปูทั้งตัวมาวางบนพิซซา


     “เคยศึกษามาว่าปกติคนไทยทานพิซซาเฉลี่ยเดือนละครั้งเพราะรู้สึกว่าเลี่ยน แต่ถ้าเรานำมาฟิวชันให้ถูกปาก ทำให้เขาทานได้บ่อยขึ้น จึงนำอาหารไทยที่หลายคนคุ้นเคยมาทำหน้าพิซซานอกจากทานได้บ่อยแล้วยังทำให้หลายคนรู้สึกอยากลองทาน”
 

     จากสนามทดลองสู่สนามค้า


     เมื่อหน้าตาชวนชิมหลายคนที่ได้ลิ้มลองไม่เพียงติดใจแต่ยังมีการแนะนำแบบปากต่อปาก เรียกความมั่นใจให้พยุงศักดิ์ว่าพิซซาของเขาพร้อมที่จะลงสู่เวทีสนามค้าและก็ได้รับการตอบรับอย่างดีจนคิดจะขยายธุรกิจ
 

     “ตอนเริ่มขายแฟรนไซส์ แบรนด์เรายังไม่เป็นที่รู้จักมากพอ ก็ลองหลายวิธีทั้งลด แลก แจก แถมทำถึงขั้นที่ว่าซื้อ 10 สาขาแรกแจกฟรี ให้นำไปทดลองขายถ้าไม่ดีก็เอาเตามาคืน ยังไม่มีใครเอาเตาไป ทำไปเรื่อยๆ วันหนึ่งมีร้านอาหารชื่อดังมาชิมพิซซาเราแล้วชอบนำไปเปิดขาย ก็เริ่มมีคนรู้จัก จากนั้นก็มีกลุ่มลูกค้ารีสอร์ต คาเฟ่”
 




     เป้าหมายชัดเจน


     พยุงศักดิ์บอกว่ากว่าจะผ่านช่วงเวลาทำให้คนเริ่มมั่นใจซื้อแฟรนไชส์ได้เรียกว่าหินพอสมควร แต่ที่เขาสามารถก้าวข้ามจุดนั้นมาได้เพราะการตั้งเป้าหมายใหญ่ไว้ชัดเจนตั้งแต่เริ่ม อีกส่วนหนึ่งคือโชคดีที่ได้รับการยอมรับจากร้านอาหารชั้นนำ โรงแรม รีสอร์ต คาเฟ่ต์ ซึ่งเป็นจุดที่ช่วยให้ทำงานง่ายขึ้น กอปรกับราคาค่าแฟรนไชส์อยู่ในเกณฑ์ที่จับต้องได้ ตัวสินค้าตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าที่ต้องการนำไปสร้างรายได้เพิ่มไม่ว่าจะเป็นที่บ้านหรือทำขายดิลิเวอรี ตอบโจทย์กับวิกฤตโควิด ลูกค้านั่งกินในร้านไม่ได้


     “การมีเป้าหมายที่แน่ชัดทำให้เวลาเจออุปสรรค เราจะปรับหาวิธีแก้ไขไปเรื่อยๆ ในทุกเรื่อง พยายามสร้างช่องทางการขายหลายๆ ทาง หลายๆ รูปแบบ ซึ่งพี่ยอดชายจะเปรียบเทียบเหมือน “กระปุกที่เราหว่านเมล็ดพันธุ์” เราพยายามหาลูกค้ากลุ่มใหม่ๆ เข้ามาเสริมจากกลู่มลูกค้าเดิม และพยายามไม่จมอยู่กับปัญหาที่ยังแก้ตอนนี้ไม่ได้ เลือกแก้เลือกทำในสิ่งที่ทำได้ก่อน จนในที่สุดเราก็ได้เจอกลุ่มเป้าหมายที่ใช่และกลยุทธ์ที่เหมาะสม





      “พิซซ่าเป็นธุรกิจทำเงินที่หลายคนมองไม่เห็น การรับรู้ของคนไทย ถ้าบอกว่าก๋วยเตี๋ยวทะเลชามละ 200 บาท คนจะบอกแพง ขณะที่บอกว่าพิซซาถาดละ 200 คนบอกถูก ทั้งๆ ที่ต้นทุนต่ำมาก พิซซาไม่ค่อยมีต้นทุนของเสียเหมือนอาหารไทยที่ต้องตุนของสด มาร์จิ้นของพิซซาอยู่ที่ 70%”


     จากวันที่ไม่รู้เรื่องการทำพิซซาสามารถฟันฝ่าจนมีถึง 45 สาขาภายใน 1 ปี ไม่ใช่แค่รายได้ที่เพิ่มเข้ามา แต่สิ่งที่พยุงศักดิ์ได้เพิ่มคือความสุข





    “เป็นกิจการเราเอง ใส่เต็ม 100 ก็ได้กลับมา 100 ไม่เหมือนกับการที่เป็นพนักงาน เงินเดือนขึ้นตากปลายปากกาคนที่ประเมินผลงาน”


     ดังนั้นใครที่อยากจะเริ่มต้นธุรกิจเขาแนะนำว่า ในทุกวิกฤติมีโอกาส ขอแค่หาช่องให้เจอ


     “ตอนเริ่มธุรกิจก็เหมือนกับเครื่องบิน ก่อนจะบินขึ้น ต้องใช้พลังงานมากกว่าจะเทคออฟได้ ขอให้อดทนจนถึงจุดที่เทคออฟได้ ทางไหนที่ไม่ใช่ก็อย่าฝืน หาทางใหม่ไปเรื่อยๆ จนเจอทางที่ใช่ครับ” พยุงศํกดิ์กล่าวทิ้งท้าย
 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup